กะหลันตันเมืองสางา
เมืองเทพาแลตาหนี
หนอกจิกจะหนะนี
เมืองตรังเมืองทาทอง
มาเนืองนองทังไชยยา
ภัดท่ลุงมุงมาหา
ภึงบุนยาเทาสืบไปย
บุนยาเทาสันทัด
เปนกะสัดมาแตไหรย
อยู่ดีบ่มีภัย
ภระภูวไนยไจยสัดทา
ร่บือเลื่องฦายด
ใดปรากดทุกทิดสา
ตั้งทาดพระสาสดา
เป็นโอลาเลิดฦาไกรย
.
กลันตันเมืองพังงา
อีกเทพาและตานี
หนองจิกจะนะ(กระ)บี่
สงขลาดีแต่ก่อนมา
เมืองตรังเมืองท่าทอง
มาเนืองนองทั้งไชยา
พัทลุงมุ่งมาหา
พึ่งบุญญาท้าวสืบไป
บุญญาท้าวสันทัด
เป็นกษัตริย์มาแต่ไหร
อยู่ดีบ่มีภัย
พระภูวนัยใจศรัทธา
ระบือเลื่องลือยศ
ไปปรากฏทุกทิศา
ตั้งธาตุพระศาสดา
เป็นโอฬาเลิศฦาไกร
พระนิพพานโสตรสำคัญอย่างไร ?
หากจะถามว่าคนนครสมัยโบราณ รู้เรื่องตำนานพระบรมธาตุเมืองนครจากอะไร หากใช้ความนิยมของนักวิชาการสมัยใหม่ก็มักจะมุ่งความสนใจไปที่ตำนานพระบรมธาตุ และตำนานเมืองนครศรีธรรมราชฉบับร้อยแก้ว เพราะเนื้อหาสั้น กระชับ และเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่ามาก ทว่าตำนานฉบับร้อยแก้วนี้มีความขาดห้วงของเรื่องราวอยู่มาก เนื้อความหลาย ๆ ตอนในส่วนที่เป็นปรัมปรานั้นไม่ค่อยปะติดปะต่อกันราวกับมีลักษณะที่จะตัดทอนประเด็นที่ผู้แต่งตำนานร้อยแก้วเห็นว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลออกไป หากจะทำความเข้าใจความคิดอ่าน และปรัมปราคติที่คนปักษ์ใต้มีต่อพระธาตุเมืองนครอย่างถ่องแท้แล้วตำนานฉบับร้อยแก้วนั้นยังไม่ค่อยตอบโจทย์นัก ทั้งหลาย ๆ เรื่องที่บอกเล่ากันก็ไม่ปรากฏอยู่ในตำนานสำนวนเหล่านี้
แต่ทว่ารายละเอียดส่วนที่เป็นปรัมปราคติทั้งหลายกลับปรากฏรวมอยู่ในพระนิพพานโสตรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเงินตรานโม เรื่องภาพยนตร์ เรื่องกาทั้ง ๔ เรื่อง พลิติพลิมุ่ยเอาอัฐิบุตรปั้นรูปพระทรงม้า เรื่องการฝังซ่อนสมบัติของผู้ที่มาไม่ทันการสร้างพระธาตุ ราวกับว่าความเชื่อ ความคิดอ่านทั้งหมดที่แวดล้อมพระบรมธาตุนั้นถูกบรรจุอยู่ในพระนิพพานโสตร หรือในทางกลับกันอาจเป็นพระนิพพานโสตรนี้เองที่เป็นต้นเค้าของปรัมปราคติ และความเชื่อทั้งหลายที่บอกกล่าวเล่าสู่กันในชาวนครมาแต่โบราณ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการสืบทอดเรื่องราวในสมัยโบราณที่มีลักษณะเป็นมุขปาฐะผ่านวาระสำคัญต่าง ๆ หรือผ่านวัฒนธรรมการสวดด้านที่สูญหายไปจากเมืองนคร และเพิ่งเริ่มฟื้นฟูกันใหม่ไม่นานมานี้
การบอกเล่าด้วยกลอนนั้นรื่นหู จดจำได้ง่าย ทั้งอาจตัดลดตกแทรกประเด็นปลีกย่อยเข้าไประหว่างโครงเรื่องหลักเพื่อความบันเทิงในแต่ละวาระ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็นโดยกวีผู้เป็นนายของภาษา ในประเด็นนี้ประกอบกับการพบฉบับคัดลอกของพระนิพพานโสตรกระจายอยู่เป็นจำนวนมากก็เป็นหลักฐานอันมั่นเหมาะอันหนึ่ง ที่ยืนยันความนิยม และอิทธิพลของพระนิพพานโสตรที่มีต่อสังคมปักษ์ใต้สมัยโบราณซึ่งเสื่อมคลายลง และไม่คุ้นเคยกันแล้วในปัจจุบัน แต่หากท่านผู้อ่านที่พอคุ้นเคยกับปรัมปราคติเกี่ยวกับพระบรมธาตุอยู่บ้าง หากได้มีโอกาสอ่านพระนิพพานโสตรท่านก็อาจพบกับหลาย ๆ เรื่องที่เคยผ่านการรับรู้ พบคำตอบของตำนานอันไม่รู้ที่มา ราวกับว่าบรรพชนของเรากำลังกระซิบอยู่ข้างหูจากอดีตอันแสนไกล
ข้อมูลจากคัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระบรมธาตุเมืองนครและนานาของดีที่วัดวังตะวันตก กลางเมืองนคร หนังสือที่ระลึกการทอดกฐินวัดวังตะวันตก เมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ.๒๕๖๑
เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://web.facebook.com/media/set/?set=a.10210054240151262&type=3