นางเลือดขาว : พัทลุง

    “…แลประทุมเกษรเทวดาชื่อนางนาฎเทวี นางเลือดขาว ก่อพระเจ้าองคืใหญ่ไว้เป็นรูปพระงามเสมือนดังรูปนางช่างประดิษฐานไว้ให้ท้าวพระยาแลมนุษย์ได้ไหว้…”
    สารบาญชีเดิมของวัดพระงามสทังใหญ่ในพระเพลาวัดบางแก้ว ที่ออกพระศรีภูริประยาธิราชฯ อ่านถวายในท้องพระโรงพระที่นั่งบรรยงรัตนาสน์ บรรยายสภาพของวัดสทังใหญ่ วัดเขียนบางแก้วเดิม ก่อนจะถูกทำลายในศึกโจรสลัด
    ในวิหาร 7 ห้องของวัดพระงามสทังใหญ่ มีรูปพระเจ้าองค์ใหญ่เป็นประธาน สูง 8 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว พระพุทธรูปประธานนี้พระนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างโดยให้มีพระพักตร์งามเหมือนหน้าพระนางเอง แล้วให้ นางศรีดอกไม้ และนางศรีบุตรี เป็นเจ้าพนักงานรักษาวิหาร
.    ตามพระเพลานี้ว่า กษัตริย์อยุธยาครั้งโบราณได้กัลปนาข้าพระให้แก่วัดพระงามสทังใหญ่นี้ 24 หัวงาน แล้วให้สืบตระกูลลงไปทางฝ่ายแม่เช่นเดียวกับตระกูลข้าพระวัดอื่น ๆ ในลุ่มทะเลสาบสงขลา
    กษัตริย์อยุธยาผู้สดับความในสารบาญชีเดิมซึ่งเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าคือกษัตริย์พระองค์ใดในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา ได้ให้ชำระข้าพระกัลปนาทั้งหลายที่กระจัดกระจายหลังศึกโจรสลัดให้เป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่
    เป็นการยากที่เราจะจินตนาการถึงพระพุทธรูปสูง 4 เมตรเศษ ซึ่งมีใบหน้างดงามเหมือนนางเลือดขาว ความงามนี้ได้อันตรธานไปแล้วพร้อม ๆ กับบทบาทของวัดสทังใหญ่ที่ค่อย ๆ ลดลง และวัดเขียนซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักได้ทรงความสำคัญขึ้นแทนที่
    ในช่วงใกล้ออกพรรษาเมื่อบรรดาวัดทั้งหลายในภาคใต้กำลังตระเตรียมความพร้อมรับการลากพระที่จะมาถึง คำถามของคนจากพื้นที่อื่น ๆ และความสงสัยในหมู่คนใต้เองถึงขนบธรรมเนียมที่โดยเฉพาะพื้นที่นครศรีธรรมราช และลุ่มทะเลสาบ ขนานนามพระลากให้เป็นหญิง ปรนนิบัติพระลากอย่างสตรีสูงศักดิ์ ตั้งแต่การนุ่งห่ม การเจิมโอษฐ์ด้วยชาด พระลากบางองค์กำหนดจารีตไว้ให้เฉพาะแต่ผู้หญิงดูแลหยิบจับก่อนจะเชิญขึ้นพนมพระ
    ผมคิดว่าเรายังไม่ใกล้คำตอบที่เป็นมติชัดเจนถึงบ่อเกิดแห่งขนบธรรมเนียมอันน่าพิศวงสำหรับคนต่างถิ่นเช่นนี้ ขณะที่คนใต้เรายังคงสืบทอดวิถีปฎิบัติอย่างที่ทำสืบมาในท่ามกลางคำอธิบายที่หลากหลายนี้อย่างเคร่งครัด
    อย่างน้อยพระเพลาวัดบางแก้ว ได้ให้ข้อมูลลายลักษณ์จากสมัยอยุธยาที่สำคัญอันหนึ่งคือ การสร้างพระพุทธรูปให้มีพระพักตร์ตามผู้สร้างที่เป็นหญิงนั้นมีจริง (จะจริงในทางปฎิบัติ หรือจริงในทางคติชน อย่างน้อยก็ถูกบันทึกไว้เป็นเอกสารที่กษัตริย์อยุธยาประทับรับรอง) บทบาทของผู้หญิงกับการบริบาลพระศาสนาในลุ่มทะเลสาบสงขลาก็ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนผ่าน ตำแหน่งของผู้หญิงที่รักษาวิหาร และการให้สายสกุลที่ดูแลนากัลปนาสืบทอดไปทางฝ่ายหญิง
    เอกสารเมืองนครไม่มีอะไรที่ชัดเจนเท่าเอกสารที่มาจากลุ่มทะเลสาบสงขลา เท่าที่พบคือพระห้อง (ระเบียงคด) ล้อมพระบรมธาตุจำนวน 3 ห้องจากทั้งหมด เป็นหน้าที่ของสตรีมีตำแหน่งว่า แม่เจ้าเรือนหลวง คอยอภิบาลรักษา เคียงคู่กับพระห้องอื่น ๆ ที่หน้าที่ตกแก่พระเถระทรงสมณศักดิ์ และขุนนางบุรุษ
    เรารู้ว่าตำนานพระบรมธาตุเมืองนครครึ่งแรกนั้นได้หยิบยืมทาฐาธาตุวังสะมาใช้เพื่ออธิบายความศักดิ์สิทธิ์ของหาดทรายแก้วว่าได้เป็นที่เคยประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ตำนานพระเขี้ยวแก้วลังกานั้นมักจะออกนามพระทนธกุมารก่อนเสมอ ๆ แม้ว่าตำนานฝ่ายลังกา และตำนานพระธาตุนคร จะให้รายละเอียดตรงกันว่าขณะหลบหนีจากบ้านเกิดที่ถูกรุกราน พระนางเหมชาลาได้ซ่อนพระทันตธาตุไว้ในมวยผม และพระทนธกุมารเป็นผู้ฝังพระทันตธาตุนั้นลงบนหาดทราย (แต่ตำนานลังกา กับตำนานของนคร กล่าวถึงหาดทรายคนละที่) ตำนานพระธาตุนครให้น้ำหนักกับบทบาทของพระนางเหมชาลามากกว่ามาก ทั้งนิยมออกนามพระนางเหมชาลาก่อนพระทนธกุมารเสมอ ๆ
    โดยใช้หลักฐานเชิงตำนานที่น้อยกว่านี้ แต่เสริมด้วยหลักฐานจากมิติอื่น ๆ เคยมีผู้เสนอมาแล้วว่า พระลากที่เป็นหญิงนั้นสะท้อนแนวคิดหญิงเป็นใหญ่ และการที่หญิงไม่สามารถบวชได้นั้น สังคมได้หาทางออกด้วยการที่หญิงสร้างพระพุทธรูป และอุปถัมภ์พระศาสนาแทน (พูดถึงเรื่องนี้ คัมภีร์พระมาลัยที่เป็นสมุดภาพขนาดใหญ่ ใช้ทุนทรัพย์ในการสร้างมากเท่าที่ผมเคยพบ ก็มักจะเจอว่าผู้ (ออกเงิน) สร้างนั้นเป็นแม่ชี) ผมคิดว่ามันก็เป็นคำตอบที่เข้าทีทีเดียวเมื่อมองจากตำแหน่งแห่งที่ที่ห่างไกล
    อย่างไรก็ตาม การอุปถัมภ์พุทธศาสนาของสตรีก็มีมาแล้วในวัฒนธรรมอื่น ๆ ในพุกาม มเหสีของกษัตริย์ผู้สร้างหอพระไตรปิฎกมักจะเป็นผู้อุปถัมภ์การจดจารพระไตรปิฎกที่จะนำเข้าประดิษฐานไว้ ในวัฒนธรรมสุโขทัยจารึกหลายหลักกล่าวถึงศรีธรรมราชมาตาผู้มีบทบาทในการสร้างวัด และพระพุทธรูป ขณะที่ในปีพ.ศ. 1922 ป้านางคำเยียหลังปรึกษากับพระสังฆราชได้สร้างวิหารเอาไว้ในอรัญญิกเมืองสุโขทัยที่พื้นที่หลายส่วนตอนนั้นเริ่มชำรุดปรักหักพัง ยังมีสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนักอยุธยาจำนวนไม่น้อยที่หันหน้าเข้าสู่พระศาสนาโดยโกนศีรษะเป็นรูปชีในบั้นปลาย ขณะที่ในครั้งกรุงเทพฯ พระอารามเช่นวัดเทพธิดารามก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ให้เจ้านายสตรี ในวัฒนธรรมการอุปถัมภ์พระศาสนาโดยมีสตรีเข้ามาเกี่ยวข้องดังกล่าว ก็ไม่ได้ปรากฏการสร้างพระพุทธรูปแล้วสมมติเป็นสตรีอย่างแพร่หลายเช่นที่เกิดขึ้นในภาคใต้นี้
    หากยืนอยู่ในศูนย์กลางของวัฒนธรรมพระลากสตรีทั้งหลาย คำตอบเรื่องสตรีเป็นใหญ่ หรือทางออกในการเข้าถึงพระศาสนาของสตรีเพียงเท่านั้นน่าพอใจแล้วหรือ ? เรายังไม่เห็นชีวิตชีวา เงื่อนไขจำเพาะ และกรณีศึกษาที่มากพอต่อประเด็นนี้เท่าไหร่นอกจากทฤษฎีกว้าง ๆ ผมหวังว่าวันหนึ่งจะมีคนใต้ที่เกิด และเติบโตท่ามกลางสิ่งเหล่านี้จะลุกขึ้นมาเขียนงานดี ๆ ที่อุดมไปด้วยชีวิตชีวาสักทีหนึ่ง

เผยแพร่ครั้งเเรกใน - https://www.facebook.com/photo/?fbid=10214355110590335&set=basw.Abr03Ztegc99RHursaoxkFyOeEiqaBW9CeS6eY-5DAA7HFXZZ3EKWTkk4fhAi3pFhZe-mI5kdQE3R4Rih328nGUdXDrP9gyL57E2aacTo6bvnt73TZ9-WLv_VPf3wU51AALPlvtgKwMKmtm0Tj0k96SP&opaqueCursor=Abr2Z7oEhT0Nfh7koLG9quBirsiL-4OP5v4HPhvoWsuUohgZ0zPhdwe9-13KYbX9ZxqJxS9zMvWHoX6sP1MlRYg7sZ7EZ4ObO0Q6Rx2Ef639zFH_OZPvXNoSoIN1r_dChEpvTcG4ZkGBHCEsJGe2jFzCVHrSbmiwfn4eGaA2BC2IyuZgFa8k086i2obViKcMvy-L1L2QF9nvi1RVGi9Dc2ouLcgTvDCnRr3_J93-XCTZAy2_UqFU36oPK3B0qmBJgMzw-RkuU5Rs-dzZLN-5IlzyZQp_mgga0XCufjdxT-pxtHhdHL7HfdlrkwCiDFd3Zunh1FvaaTiP4X6dc4Smajd3IxK72_NvHguoQe3-2a9efoMCcCJXs_8PAYmds4K0vL3xKn23x-jBMa_X_GrzWiY1c0XMtWn5ZPjEvPrn24YW0EdGioL1X-QdYFxs9Z13Aifk6CQUeIgM15vbL5xx9PUBj038fna65BHwUbMdNUBku9FopWfG8kV2_V_b7bbz-kLPGsmEvRZH41qdFSGU02Nn1iO0rcQNHO_wpoxBGW3RD0uG4xjdF3TCbI8zo592R8bZlnENbaXcYrnigkfwCQ6fDa3oDPYECTebKnqS6_QIDlflZFjc2ddYWuE9REwJXg6LPfft5Gr3Rdx7JOBUdPd9kiPOT9hvKkRQk00LxyhYKwqj8rJFylWeziLZ_-B5YHEd4Iq0p0ZFCml1oe3-BGtehnl2FUeAbXoPaVOzfphIAWhzGPqwPzkMJ5W_857fKeEkI2mpgJaY12nS1wmddsgE4tJJ0NDRswciPBuyqzLbMQtTgnUJXkjbIwGQral-1Ev309yJ5-iOq7f6mGZgFraN

ใส่ความเห็น