(๑) ทนทกุมาร – เหมชาลา ทันตกุมาร – เหมมาลา ออริจินอลของชื่อทั้งสองปรากฏในทาฐาธาตุวงส์ (ตำนานพระเขี้ยวแก้วลังกา) คือเจ้าชายทันตกุมาร โอรสของกษัตริย์เมืองอุชเชนี และนางเหมมาลา ธิดาของพระเจ้าคุหสิวะ แห่งเมืองทันตปุร (ตำนานพระบรมธาตุนครจะเรียกว่า ท้าวสีหราช) เจ้าชายทันตกุมารเสด็จมานมัสการพระทันตธาตุแล้วได้อภิเษกกับนางเหมมาลา
ตำนานพระบรมธาตุนครฉบับร้อยกรอง หรือที่เรียกกันว่าพระนิพพานโสตร ซึ่งเป็นตำนานพระบรมธาตุเวอร์ชันที่แพร่หลายที่สุด และมีฉบับคัดลอกเกือบร้อยฉบับเหลืออยู่ทั่วภาคใต้ในปัจจุบัน ให้รายละเอียดต่างออกไป
โดยให้ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน ให้นางเหมมาลา ซึ่งตำนานพระบรมธาตุที่พบในเมืองนครจะเรียกว่าเหมชาลา (ยกเว้นตำนานพระบรมธาตุฉบับร้อยแก้วอักษรไทยย่อเชื่อกันว่าเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น เขียนเป็นเหมมาลา แต่มีรอยคนเอาหมึกมาแต้มแก้ตัว ม ในมาลา ให้เป็นตัว ช ชาลา อยู่หลายจุดในเล่ม แสดงว่าการรับรู้เรื่องชื่อเหมมาลา-เหมชาลา อาจมีความเปลี่ยนแปลงในช่วงรอยต่อระหว่างอยุธยาตอนปลาย-ธนบุรี-รัชกาลที่ ๑ เพราะพระนิพพานโสตรสมัยรัชกาลที่ ๑ ใช้ชื่อว่า เหมชาลา โดยตลอดเล่มแล้ว) ตำนานของวัดจะทิ้งพระสำนวนเก่าจะเรียกเหมมาลาตรงกับลังกา มีศักดิ์เป็นพี่
ส่วนพระทนทกุมาร มีศักดิ์เป็นน้อง และจะกล่าวถึงบทบาทของพระนางเหมชาลามากกว่าบทบาทของพระทนทกุมาร ขณะที่ตำนานพระเขี้ยวแก้วลังกาจะสลับกัน นี่อาจสะท้อนถึงไอเดียการนับถือสตรีซึ่งอบอวลอยู่ในเอกสารตำนานทั้งหลายในภาคใต้อยู่ทั่วไป
อย่างไรก็ตามตำนานพระบรมธาตุฉบับร้อยแก้วนั้นจะให้รายละเอียดต่างไปจากฉบับร้อยกรองหรือพระนิพพานโสตร คือระบุว่านางเหมชาลา เป็นธิดาเพียงองค์เดียวของพระเจ้ากรุงทันตปุระ โดยไม่ได้บอกว่าพระทนทกุมารมีศักดิ์เป็นอะไรมาจากไหน ซึ่งอาจจะรักษาเค้าของตำนานทางลังกาได้ดีกว่า คือไม่ได้ระบุว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกันชัดเจนเหมือนกับฉบับร้อยกรอง
ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าทั้งสองพระองค์จะอภิเษกกันไหม เล่าแต่ว่าสุดท้ายได้กลับไปปกครองทันตปุรอย่างเป็นสุขภายใต้ความคุ้มครองจากกษัตริย์ลังกาหลังนำพระบรมธาตุไปยังลังกาสำเร็จ ตำนานพระเขี้ยวแก้วลังกา กับตำนานพระบรมธาตุ เล่าตรงกันว่ามีศึกมาชิงพระทันตธาตุ กษัตริย์ทันตปุร จึงให้ทั้งสองพระองค์อัญเชิญพระทันตธาตุไปยังลังกา โดยพระนางเหมมาลา/ชาลา นำผอบพระทันตธาตุซ่อนไว้ในมุ่นเกศา ตำนานพระเขี้ยวแก้วระบุว่า เจ้าชายทันตกุมาร พระนางเหมมาลานำพระทันตธาตุไปขึ้นเรือที่ท่าเมืองตามรลิปติ ผ่านเหตุการณ์ในทะเลแล้วถึงเกาะลังกา
ตำนานพระบรมธาตุนคร จะขยายความเหตุการณ์ตอนนี้ว่า เมื่อทั้งสองพระองค์ออกจากเมืองทันตปุร โดยสารเรือพ่อค้าไประหว่างทางเกิดพายุเรือล่มจึงมาขึ้นฝั่งที่คาบสมุทรภาคใต้ และได้เรือจากพ่อค้าที่จะไปยังลังกาบริเวณหาดทรายแก้ว ผมเดา ๆ เอาว่า ผู้แต่งตำนานพระบรมธาตุ คงจับเอาชื่อเมืองตามรลิปติ อันเป็นเมืองท่าใหญ่ในอ่าวเบงกอล มาเทียบกับเมืองตามพรลิงค์ที่ตั้งอยู่บนสันทรายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู ด้วยเหตุนี้ก็สามารถดึงให้การเดินทางของพระทันตธาตุที่จะไปยังลังกาจากท่าเรือเมืองตามรลิปติ มาเกี่ยวข้องกับเมืองตามพรลิงค์ที่หาดทรายแก้ว ซึ่งจะกลายเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในยุคต่อมาได้ แม้ว่าที่จริงแล้วในทางภูมิศาสตร์และเส้นทางการเดินเรือนั้นจะไม่สามารถเป็นไปได้จริงตามตำนานก็ตาม
อย่างไรก็ตามชื่อ ตามพรลิงค์ ที่ปรากฏในจารึกวัดเวียง จารึกตันชอร์ จดหมายเหตุของเจาจูกัว และอื่น ๆ นั้นไม่เคยปรากฏในบุด หรือเอกสารตำนานของเมืองนครฉบับใดเลย น่าแปลกเหมือนกันที่ชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาจนต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างน้อยได้ถูกลืมเลือนไปจนหมดสิ้น
น่าแปลกอีกเหมือนกันที่ยังไม่มีรายงานการพบใบลานคัมภีร์ทาฐาธาตุวงส์ – ตำนานพระเขี้ยวแก้วลังกา ตามวัดในนครเลย แม้ว่าคัมภีร์นี้จะมีบทบาทต่อการแต่งตำนานพระบรมธาตุเมืองนครอย่างมาก เท่าที่พยายามค้นใบลานของวัดจัน วัดวังตก วัดบูรณาราม หอสมุดแห่งชาตินคร และสถาบันทักษิณคดี ซึ่งต่างเป็นแหล่งรวบรวมใบลานก็ยังไม่พบ ขณะที่ในล้านนาและทางอีสานยังพบทั้งฉบับบาลี และฉบับบาลีแปลสำนวนพื้นเมืองอยู่ทั่วไป
รวม ๆ ไว้เป็นคลังข้อมูล เดี๋ยวค่อยรวมศรีธรรมาโศก จันทรภานุ ชื่อเมืองนคร กับอื่น ๆ อักขระวิธีจะผิดจะถูก ต่างกับฉบับลังกา หรือฉบับอื่น ๆ ยังไง อย่างน้อยได้เห็นลายมือบรรพชนก็เป็นการตั้งต้นที่ดี
เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid08G6Kbs5ti7GWRYZnDcrNgNoqdzJu6ofLVMUhaZHrqABA3ePevfqyERnqZV3TYh8cl&id=100081258420936