– ปฐมเหตุ –
เหตุการณ์ทุบป้ายหลุมศพโบราณ หรือที่เรียกด้วยคำของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาว่า ไม้เเลสัน หรือหัวเเม่สัน หรือตาหนา ซึ่งเกิดขึ้นภายในบริเวณ “สุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์” [1] และต่อมาชิ้นส่วนที่แตกหักของ ไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันชิ้นนี้ได้ถูกนำไปเก็บรักษาโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ 11 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 เดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2564 นั้น [2] ส่วนในทางคดียังคงอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะสืบหาความจริงมาบอกกล่าวให้กับสังคมต่อไป
ชิ้นส่วนของตาหนาที่ถูกทุบแตกหัก ถูกรวบรวมและประกอบขึ้นใหม่อย่างลำลองโดยนักโบราณคดี
หลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายนี้ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้พบ และรายงานเรื่องนี้ต่อสาธารณะมาโดยตลอดได้พยายามนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันชิ้นนี้ผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว เพื่อกระตุ้นสังคมให้รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้า และตั้งประเด็นคำถามเพื่อระดมผู้รู้ให้อ่านจารึกที่ปรากฏอยู่
ไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันชิ้นนี้ทำขึ้นจากหินดินดาน หินตะกอนประเภทหนึ่งซึ่งมีแหล่งใกล้ที่สุดอยู่ที่หัวเขาแดงห่างออกไปจากตัวสุสานประมาณกิโลเมตรเศษ [3] เนื้อหินออกแดง มีการสลักรูปทรงอย่างประณีตมาก ข้อความจารึกก็ถูกสลักด้วยลายมือประณีต และอาจถือว่าเป็นไม้เเลสันหรือหัวแม่สันที่ปรากฏจารึกข้อความยาวที่สุดในบรรดาไม้เเลสันยุคโบราณในกุโบร์สุลต่านสุลัยมานแห่งนี้ ไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันชิ้นนี้ขนาดสูงประมาณ 65 ซม. กว้างประมาณ 40 ซม ที่ตัวหินในระดับเดียวกับจารึกปรากฏการสลักเป็นลายม้วน ที่รู้จักในศัพท์ศิลปไทยว่าตัวเหงา (แต่เป็นองค์ประกอบที่ปรากฏทั่วไปในศิลปะมลายูเช่นกัน) ที่ขอบทั้งสองข้างของจารึก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าตัวตาหนาส่วนที่หักหายไปก่อนหน้า น่าจะมีการสลักลวดลายต่อเนื่องขึ้นไปอีก [4]
ไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันก่อนถูกทำลาย บันทึกภาพไว้โดยผู้เขียนในปี พ.ศ. 2563 กับแบบสันนิษฐานส่วนที่หักหายไป
เกี่ยวกับจารึกที่สลักอยู่บนไม้เเลสันหรือหัวเเม่สัน
จารึกตำแหน่งที่ 1 บันทึกภาพโดยผู้เขียนในปี พ.ศ. 2563
ตำแหน่งที่ 1 จารึกหลักประจำไม้เเลสัน
พบบริเวณด้านบนสุด จารึกเขียนด้วยอักษรอาหรับ ภาษาอาหรับ เหลืออยู่ 3 บรรทัด สันนิษฐานว่านำมาจาก หะดิษเลขที่ 1617 รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ เป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ ในวัฒนธรรมมุสลิมจะอ่านบทนี้ในขณะที่กำลังนำศพลงหลุม [5]
…ชำรุด…
(بسم الله وعلي )ملة رسو ل (الله)
صلى الله عليه وسلم
…ชำรุด…
(บิสมิ้ลลาฮิ) ว่าอ้าลามิ้ลล่าตี้ ร่อซูลิ้ล (ลาฮฺ)
ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม
…ชำรุด…
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และบนศาสนาของท่านรอสูลุลลอฮฺ
ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม [6]
หรือบรรทัดสุดท้ายจะแปลเป็นไทยว่า ขอให้อัลลอฮ์โปรดอำนวยความจำเริญ และศานติแด่ท่าน (ศาสนทูต) ก็ได้ แต่ปกติจะอ่านโดยทับศัพท์ไปเลย
ตำแหน่งที่ 2 มีลักษณะเป็นรอยจารจาง ๆ ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอักษรอาหรับ หรืออักษรยาวี (อักษรยาวีจะมีพยัญชนะเฉพาะบางตัวที่ไม่ปรากฏในอักษรอาหรับ กรณีที่พบพยัญชนะน้อยตัวในข้อความทำให้เป็นการยากที่จะแยกแยะชนิดของอักษร)
จารึกตำแหน่งที่ 2
ผู้เขียนถอดอักษรได้ว่า “…کا ر ح کال…” ข้อความนี้อาเนาะ ปันตัย สันนิษฐานว่าน่าจะคือภาษามลายู แปลงอักษรต้นฉบับเป็นอักษรรูมีได้ว่า “Ke arah kala” – ไปสู่กาละ [7] แต่ได้ให้ความเห็นว่าการเขียนคำ arah ตามอักษรยาวีที่ถูกต้องจะต้องเขียนว่า
”… اره…”
แต่ทั้งนี้ Abu Gibrel Jacob ได้เสนอว่าอาจเป็นการถอดเสียงคำว่า “ข้าราชการ” ในภาษาไทยออกเป็นสำเนียงมลายู [8]
ตำแหน่งที่ 3 มีลักษณะเป็นรอยจารจาง ๆ ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอักษรอาหรับ หรืออักษรยาวี
จารึกตำแหน่งที่ 3
ผู้เขียนถอดคำจากรูปอักษรได้ว่า “อีน”
ตำแหน่งที่ 4 จารึกอักษร “ชวา”
จารึกตำแหน่งที่ 4 จากชิ้นส่วนตาหนาที่แตกหัก
คุณปัญญา พูนศิลป์เป็นผู้พบรอยจารึกจาง ๆ บนชิ้นส่วนที่แตกหักจากไม้เเลสันหรือหัวเเม่สัน [9] ได้ชี้ชวนให้ผู้เขียนดู ในตอนแรกสันนิษฐานกันว่าอาจเป็นอักษรขอม อย่างไรก็ตามหากเป็นอักษรขอมจะไม่อาจอ่านเป็นคำได้ ผู้เขียนจึงได้ตั้งคำถามถึงจารึกส่วนที่ไม่สามารถระบุชนิดอักษรได้นี้ในเฟสบุ๊ค และได้เเชร์ไปสอบถามในหลายกลุ่ม [10] ได้ข้อสรุปว่าจารึกนี้จารด้วยอักษรชวา อาจนับเป็นการปรากฏของอักษรชวาที่เก่าสุดที่พบในลุ่มทะเลสาบตอนนี้ และอาจสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสงขลา กับชวา ตามที่เชื่อกันว่าสุลต่านสุลัยมาน อพยพมาจากเมืองสาไลซึ่งอยู่บนเกาะชวา การได้มาซึ่งข้อสรุปมีหลักฐานประกอบดังนี้
1. อาจารย์ นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ประจำหลักหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ได้กรุณานำภาพถ่ายจารึกดังกล่าวประสานไปสอบถาม สมาชิกสมาคมศึกษาเอกสารโบราณ นูซันตาราแห่งอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลว่าเป็น อักขระชวา (aksara Jawa) [11] สันนิษฐานว่าจารเป็นคำว่า “ngalamat” ซึ่งพบบ่อยในหนังสือฮีกายัตโบราณของชวา คำ “ngalamat” ในภาษาชวาโบราณแปลว่า “tandha bakal ananing lêlakon” แปลเป็นภาษาอินโดเนเซียปัจจุบันว่า “tanda akan datangnya sebuah kejadian” หมายถึง “สัญญาณที่จะมีสิ่งเกิดขึ้นในอนาคต…” [12] Abu Gibrel Jacob ชาวมาเลเซียในรัฐกลันตันซึ่งสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี และมีความรู้ด้านภาษามลายูเป็นอย่างดี ตั้งข้อสังเกตต่อมาว่า “ngalamat” น่าจะมาจากคำ “alamat” ได้หรือไม่ เนื่องจากอาลามัต “alamat” นอกจากจะแปลว่าสัญญาณแล้ว ยังใช้ในความหมายว่า “Tanda” – “ตันดา” แปลว่า “เครื่องหมาย(บนหลุมศพ)” ได้อีกด้วย [13] คำ “Tanda” นี้ปัจจุบันคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาจะใช้เในความหมายของเครื่องหมายที่ปักบนหลุมศพโดยออกเสียงว่า “ตาหนา” [14]
2. จากการแชร์ไปสอบถามในกลุ่ม “เอกสารโบราณ ANCIENT DOCUMENT” [15] ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Khun Hutangkura (ดร.ตรงใจ หุตางกูร) ได้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นอักษรชวาโบราณ [16] โดยอักษรสองตัวสุดท้าย คือ “ม” และ “ต” หากสันนิษฐานโดยรวมอาจเขียนว่า “เ-ญ-ม-ต-||” – “(เญ-มัต?)…” [17]
จากข้อมูลข้างต้น ไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันโบราณ ที่ถูกทุบภายในสุสานสุลต่านสุไลมานชิ้นนี้เท่าที่มีหลักฐานจากภาพถ่ายที่ได้ถ่ายไว้ ตัวจารึกที่ปรากฏอยู่นั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ตำแหน่ง
ตำแหน่งที่ 1 คือข้อความภาษาอาหรับ อักษรอาหรับเป็น หะดิษเลขที่ 1617 รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ เป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ ในวัฒนธรรมมุสลิมจะอ่านบทนี้ในขณะที่กำลังนำศพลงหลุม
ตำแหน่งที่ 2 สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าคือภาษามลายู อักษรยาวี
ตำแหน่งที่ 3 ไม่สามารถระบุได้เพราะมีลักษณ์เป็น ตัวอักษร ไม่มีรูปประโยค ตำแหน่ง
ตำแหน่งที่ 4 คือตัวอักษรชวา ภาษาชวา
ทั้งนี้ข้อความภาษาชวา อักษรชวาที่สามารถอ่านได้ว่า “ngalamat” นั้นคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาแขกลุ่มทะเลสาบยังคงมีการใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันโดยออกเสียงว่า “อาลามัต” มีความหมายว่า ที่อยู่ , นิมิต , ลางบอกเหตุ , สัญญาณ , เครื่องหมาย , แผ่นป้าย [18] ตัวอย่างการใช้งานเช่น “อาลามัต กียามัต” มีความหมายว่า สัญญานที่จะเกิดเหตุการณ์วันสิ้นโลก
ชิ้นส่วนจารึกที่ถูกทุบทำลาย ถ่ายขณะเจ้าหน้าที่เตรียมนำเข้าเก็บรักษาที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา
อดีตย่อมส่งผลถึงปัจจุบัน
“อยูมาเลาไสย ตาตุพ่ร่ะหุมมาเเต #เมืองสาไลย แลมาขอพระราชทาร” [19]
ตำนานเมืองพัทลุงที่เขียนอยู่หน้าปลายของแผนที่โบราณสมัยอยุธยาซึ่งแสดงภูมิประเทศตั้งแต่ย่านเขาพระบาท อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อยลงมาจนถึงปากทะเลสาบสงขลาที่แหลมสนอ่อนปัจจุบันนี้ ได้กล่าวถึงการมาของ “ตาตุพ่ร่ะหุม” จากเมืองสาไลย ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอยู่ที่ใด พงศาวดารเมืองพัทลุง ของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารโบราณหลายฉบับ รวมทั้งข้อมูลจากแผนที่ข้างต้น ขยายความประเด็นนี้ให้ยืดยาวออกไปอีกความว่า
“ต่อมาตาตุมะระหุ่ม เป็นแขกนับถือศาสนาอิสลามมาแต่เมืองสาไลย มาขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุง ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่หัวเขาแดงปากน้ำ เมื่อถึงอนิจกรรมแล้ว ฝั่งศพไว้ที่หัวเขาแดงปากน้ำเมืองพัทลุง…” [20]
และระบุถึงศพมะระหุ่มที่มีสถานภาพเป็น เทพารักษ์ ยังได้ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ [21] (ประมาณพ.ศ. 2465 – ผู้เขียน) งานนิพนธ์ของหลวงศรีวรวัตรเป็นงานชิ้นแรกที่ให้ความเข้าใจเยื่อมโยงว่าสุสานมรหุ่มที่ปากน้ำเมืองสงขลาเป็นสุสานของ ตาตุ (ดาโต๊ะ) พ่ร่ะหุ่ม ผู้ที่ปรากฏในเอกสารโบราณ และจะถูกใช้ทั่วไปโดยนักวิชาการท้องถิ่น
ภาพป้อมเมืองสงขลาที่ปรากฏในแผนที่โบราณ
อย่างไรก็ตามต่อมาการเชื่อมโยงความเรื่องนี้เป็นที่กังขาโดยนักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องเมืองสงขลาอย่างน้อย ๒ คน ด้วยหลักฐานชุดใหม่คือบันทึก และจดหมายของชาวตะวันตกที่เขียนขึ้นร่วมสมัยกับการสถาปนาเมืองสงขลา เรื่อยมาจนกระทั่งเมืองถูกทำลายโดยกองทัพอยุธยา และความพยายามร่วมระหว่างราชสำนักอยุธยากับชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มที่จะพัฒนาเมืองที่ถูกทำลายแห่งนี้ให้เทียบเท่าปัตตาเวีย ศูนย์กลางการค้าและอำนาจของฮอลันดาในชวา [22]
แผนที่เมืองสงขลาและบริบท สำรวจโดยวิศวกรฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในโครงการพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองท่านานาชาติ
วิทยานิพนธ์ของยงยุทธ ชูแว่น ในปี พ.ศ.2529 (พัฒนาการของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 17 ถึง ปลายคริสตศตวรรษที่ 18) ตั้งคำถามถึงการด่วนสรุปเอาหลุมฝังศพมะระหุ่ม มาเป็นหลุมฝังศพของตาตุพ่ร่ะหุ่ม ด้วยเหตุว่าคำ มะระหุ่ม นั้นมีความหมายถึงบุคคลสำคัญที่ไม่ได้เป็นชื่อเจาะจงว่าเป็นใคร สุสานมรหุ่มนั้นอาจเป็นของเจ้าเมืองสงขลามุสลิมคนใดคนหนึ่งจริง แต่คงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะสรุปว่าเป็นของ ตาตุพ่ร่ะหุ่ม [23]
ให้หลังจากที่วิทยานิพนธ์ของยงยุทธ ชูแว่น ได้รับการอนุมัติเป็นเวลา 2 เดือน วารสารปาริชาติของมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ตีพิมพ์บทความ ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาของสงบ ส่งเมือง โดยเรียบเรียงประวัติของเมืองสงขลาที่เชิงเขาแดงผ่านเอกสารตะวันตกหลายชิ้น การลำดับและนำเสนอหลักฐานนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกับงานของยงยุทธ ชูแว่น คือค่อย ๆ ลำดับการปรากฏชื่อ “โมกุล” เจ้าเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2151 ในเอกสารของพวกดัตช์และปรากฏชื่อ “ดาโต๊ะ โมกอล” ในเอกสารของอังกฤษที่ปัตตานีในปี 2162 [24] แม้งานของสงบ ส่งเมืองจะไม่ได้วิพากษ์ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่าง ตาตุพ่ร่ะหุ่ม – สุสานมรหุ่ม ในงานของหลวงศรีวรวัตร ทั้งอภิปรายว่าที่มาของเมืองสงขลาที่เชิงเขาแดงนี้ไม่ปรากฏในเอกสารทั้งไทยและแขกเลย [25] แต่ในเชิงอรรถที่ 3 ของหน้าที่ 11 ในบทความได้ปรากฏการอ้างอิงหนังสือ “ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยาภาค ๑” [26] ซึ่งบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เป็นการปริวรรตเนื้อความตำนานเมืองพัทลุงในหน้าปลายของแผนที่โบราณซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงไว้ข้างต้น [27] จึงทำให้เห็นแนวโน้มว่าสงบ ส่งเมือง น่าที่จะตั้งใจเลือกไม่ใช้เนื้อหาในเอกสารตำนานดังกล่าว [28] และเลือกใช้บันทึกชาวต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า แนวโน้มการเรียบเรียงประวัติศาสตร์เมืองสงขลาบนฐานของเอกสารตะวันตกนี้จะกลายเป็นหลักสำคัญในงานวิชาการสมัยต่อมา
ส่วนที่ยังเหลืออยู่ของกำแพงและป้อมเมืองสงขลา
ในปี 2530 สุภัทร สุคนธาภิรมณ์ ณ พัทลุง ตีพิมพ์หนังสือ “ประวัติศาสตร์ตระกูลสุลต่าน สุลัยมาน” งานชิ้นนี้ได้ขยายความประวัติของผู้สถาปนาเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงออกไปอย่างยืดยาวยิ่งกว่าที่เคยมีผู้ใดเขียนมา ไม่ปรากฏชัดว่า สุภัทร เรียบเรียงข้อมูลแต่ละส่วนขึ้นมาจากเอกสารใด หลายส่วนอธิบายว่าเป็นคำบอกเล่าสืบกันมาในตระกูล สุภัทรบรรยายว่า ดาโต๊ะ โมกอล เจ้าเมืองสาเลห์ (สาไลย – ผู้เขียน) บนเกาะชวา ได้พาวงศ์ตระกูล และไพร่พล หนีตายออกมาจากการล้อมทำลายของข้าศึก ขณะผู้ลี้ภัยนั้นนับได้หลายลำสำเภา ผ่านหลายทิวาราตรีกว่าจะมาขึ้นฝั่งที่สทิงพระ [29] เท่าที่ผู้เขียนสำรวจได้ งานของสุภัทร น่าจะเป็นงานเขียนชิ้นแรกเท่าที่ผู้เขียนสืบค้นได้ที่อธิบายว่าเมืองสาไลยตั้งอยู่ที่ใด
บทความ “ประวัติสกุลมุสลิมสายสุนนี และ ความสัมพันธ์กับราชินิกุลในรัชกาลที่ ๓” ที่สุภัทร สุคนธาภิรมณ์ ณ พัทลุง เขียนร่วมกับเกษม ท้วมประถม และประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในปีเดียวกันได้ช่วยกระชับความเข้าใจเรื่องเมืองสาไลย (ซึ่งครั้งนี้บทความเรียก “สุลัย”) ขึ้นไปอีกว่า ตั้งอยู่ใกล้ “โยกยาการตา” [30] โดยอ้างถึงข้อมูลที่เล่าสืบมาในตระกูลเช่นกัน งานทั้ง 2 ชิ้นนี้ดูประหนึ่งเป็นการสนทนาต่อแนวทางการเรียบเรียงประวัติศาสตร์เมืองสงขลาที่เน้นเอกสารตะวันตกเพียงอย่างเดียว ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราวกึ่งตำนาน กึ่งประวัติศาสตร์ มีการให้เลขศักราชที่สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางชิ้น และเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์เข้าไป ด้วยลักษณะการบรรยายที่ละเอียดละออสำนวนภาษาจับใจ ประกอบกับการอ้างถึงคำอธิบายที่สืบทอดมาในตระกูลทำให้งานของ สุภัทร ดูจะเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดีการที่ตัวงานให้รายละเอียดอย่างครบถ้วนโดยไม่ปรากฏเชิงอรรถ และเอกสารอ้างอิงที่จะตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราวได้ ทำให้งานของ สุภัทร อาจต้องถูกตั้งคำถามและตรวจสอบอย่างเข้มข้นก่อนที่นักวิชาการจะหยิบใช้ ทั้งนี้ผู้เขียนยังไม่สามารถค้นคว้าเอกสารได้มากพอที่จะทำความเข้าใจการปะทะสังสรรค์กันของงานประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับเมืองสงขลายุคหัวเขาแดงซึ่งคงมีอยู่หลายกลุ่มจึงทำให้อาจยังมองเรื่องนี้ได้ไม่ลุ่มลึกนึก
อย่างไรก็ตามโดยกระบวนการที่ยังไม่แจ่มชัด ประวัติศาสตร์ในแนวทางของ สุภัทร และสายสกุลพัทลุงนั้นส่งอิทธิพลไม่น้อยต่อวงวิชาการในที่สุด งานเขียนที่เผยแพร่ในนามกรมศิลปากร อาทิหนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดวังเจ้าเมืองพัทลุง 2536 ซึ่งเรียบเรียงโดยนักวิชาการท้องถิ่น นักวิชาการกรมศิลปากร ร่วมกับตระกูล ณ พัทลุง ได้อ้างงานของ สุภัทร ในการอธิบายที่มาของสุลต่านสุลัยมาว่ามาจากเมืองสาเลห์ ในอินโดนีเซีย [31] ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตระกูล ณ พัทลุงเองมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ แต่ในเวลาต่อมาเราจะค่อย ๆ เห็นบทบาทของตระกูล ณ พัทลุงที่เข้ามาสนับสนุนการดูแลโบราณวัตถุสถานที่เกี่ยวพันกับตระกูล ที่สุสานของสุลต่านสุลัยมาน ปรากฏสาธารณูปโภค และป้ายข้อมูลที่จัดทำโดยนายไสว ณ พัทลุง ซึ่งบางป้ายขัดต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น เช่นป้ายที่ไสว ณ พัทลุงระบุว่าเป็นหลุมศพของนางสุหรี ได้นั้นถูกบันทึกโดยเจ้าฟ้าภานุรังษีในหนังสือชีวิวัฒน์เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2427 ว่าเป็นหลุมศพของทหารคนสนิทของสุลต่าน
ป้อมหมายเลข 8 ที่รักษาปากทะเลสาบสงขลา
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าการอ้างถึงคำบอกเล่าในตระกูล (ซึ่งผ่านเวลามากว่า 300 ปี) ในงานของสุภัทร สุคนธาภิรมณ์ ณ พัทลุง นั้นอาจทำได้ยากในเชิงวิชาการเพราะขาดหลักฐานสอบเทียบ อย่างไรก็ตามความรับรู้ที่ว่า เมืองสาไลย์ – สาเลห์ – สุลัย นั้นอยู่บนเกาะชวา, อินโดนีเซีย จากงานของสุภัทรนี้ได้แพร่หลายไปในความรับรู้ของคนไม่น้อย และในเมื่อเอกสารตะวันตกไม่อาจให้ข้อมูลเรื่องนี้ ปัจจุบันเราจึงยังคงอยู่บนแพร่งของความสับสนว่าผู้สถาปนาเมืองสงขลามาจากที่ใดแน่ และมีพื้นภูมิเป็นอย่างไร
เงื่อนเค้าความสัมพันธ์ระหว่างคนลุ่มทะเลสาบกับชวา
พักเรื่องความสับสน และความยากเย็นในการพิสูจน์ข้อมูลของสุภัทร สุคนธาภิรมณ์ ณ พัทลุง เอาไว้ก่อนเพื่อกลับสู่ประเด็นหลักเรื่องอักษรชวาที่พบในจารึก หากการช่วยกันตรวจสอบที่ผู้เขียนได้แสดงไว้ข้างต้นแล้วไม่คลาดเคลื่อนนัก จารึกนั้นเป็นอักษรชวาจริงการที่ปรากฏอักขระไม่กี่ตัวเขียนเป็นคำคำเดียวจะมีนัยยะน่าสนใจอย่างไร ?
ในวัฒนธรรมคนเเขกลุ่มทะเลสาบสงขลามีสิ่งหนึ่งที่มีคุณลักษณะเหมือนกับวัฒนธรรมชวา แต่ไม่ปรากฏคุณลักษณะเช่นนี้เลยในวัฒนธรรมคนแขก – มลายูกลุ่มอื่น ๆ (ปัตตานี , สตูล , ไทรบุรี ฯ) นั้นก็คือคำว่า “วะ” ที่ใช้เรียกเครือญาติ คำนี้อาจออกเสียงต่างกันไปบ้างในเเต่ละพื้นที #วะ #วา #หวา #เวาะ #หวะ
คำว่า “วะ” นี้คือคำภาษาชวา ในงานศึกษาของผู้เขียนเรื่องคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตีพิมพ์อยู่ในวารสารเมืองโบราณฉบับ “สงขลาหัวเขาแดงเมืองสุลต่านสุไลมาน” ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2561 [32] ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ละเอียดประมาณหนึ่ง หลังจากนั้นได้ทำการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมพอจะสรุปได้ดังนี้
“wak” ในบริบทการใช้แบบชวาใช้เรียกทั้งพี่สาวพี่ชายของพ่อแม่ ในกลันตัน-ตานี [33] ออกเสียง “เวาะ” ใช้เรียกเฉพาะลูกคนโตของปู่ย่าตายายเท่านั้นต่างกับคนแขกลุ่มทะเลสาบวงขลาที่คำว่า “วะ” ถูกใช้กว้างขวางกว่า [34]
วิธีเรียกเครือญาติของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1 เรียกโดยยึดพ่อแม่ของตนเป็นหลัก
วิธีนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากกว่ารูปแบบที่ 2 คือเรียกทั้งพี่สาวพี่ชายของพ่อแม่ว่า “วะ” , “วา” , “หวา” , “เวาะ” (ตามแต่สำเนียง) ตัวอย่างการใช้ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่นหมู่บ้านแถบชายฝั่งทะเล มีการใช้ทั้ง วะ และวา หากเรียก วะ จะไม่ตามด้วยชื่อ แต่หากใช้ วา จะต่อด้วยชื่อของเจ้าตัว ส่วนหมู่บ้านแถบเชิงเขาบรรทัด จะใช้ว่า หวา ส่วนเวาะ นั้นพบว่าใช้กันที่บ้านบ่อโตระ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเพราะมีบรรพชนมาจากกลันตัน
รูปแบบที่ ๒ เรียกโดยยึดตามลำดับการเกิด
คือ “วะ” จะใช้เรียกเฉพาะลูกคนโตของปู่ย่าตายายเท่านั้น ส่วนลูกคนที่ 2 จะใช้คำว่า งะ และคนที่ถัดๆมา จะใช้ว่า เต๊ะ , ดา , จิ , ตำ , นะ (อาจใช้ไม่เรียงตามนี้แล้วแต่พื้นที่) (สู ,จู, ซู เรียกลูกคนสุดท้องของปู่ย่าตายาย) การเรียกคำเรียกแบบที่ 2 นี้จะพบในพื้นที่แถบติดต่อกับสตูล และในเขต 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ซึ่งเป็นพื้นที่ไกลจากลุ่มทะเลสาบออกไปแล้ว และพบในพื้นที่ที่มีการผสมผสานของคนมุสลิมจากหลาย ๆ กลุ่มอยู่รวมกัน
จากการศึกษาของผู้เขียนมีข้อสรุปว่าคนลุ่มทะเลสาบส่วนใหญ่มีการใช้คำว่า “วะ” แบบเดียวกับชวา คือใช้เรียกพี่ทั้งหญิงชายของของพ่อแม่ของตน (มีความหมายตามการเรียกของคนไทยคือ ป้ากับลุงนั้นเอง) และพบว่าคนนายู กลันตัน-ตานี มีการรับคำว่า “วะ” มาใช้ด้วยเช่นกันแต่อออกเสียงเป็น “เวาะ” และมีการปรับเปลี่ยนระบบการเรียกที่ต่างออกไปจากการเรียกแบบคนชวา คือเจาะจงเฉพาะลูกคนคนโตของปู่ย่าตายายเท่านั้น
ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2486 แสดงให้เห็นแนวเขตรูปสี่เหลีี่ยมคางหมูของเมืองไชยาที่บ้านสงขลา (ได้รับความอนุเคราะห์จากพันเอก รศ. สุรัตน์ เลิศล้ำ)
ดังที่ทราบกันว่าหลังอยุธยาพิชิตเมืองสงขลาได้ในปี พ.ศ. 2223 [35] ชาวเมืองสงขลาถูกเทครัวกระจัดกระจายไปหลายแห่ง ทั้งนี้ชาวสงขลากลุ่มใหญ่ ได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปยังอ่าวบ้านดอน และได้ตั้งชุมชนถาวรขึ้นที่บ้านสงขลา เมืองไชยา [36] สายสกุลเจ้าเมืองสงขลาจากหัวเขาแดงได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาต่อมาจนสิ้นสมัยธนบุรี [37] เพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าการใช้ “วะ” นั้นเป็นลักษณะเฉพาะของชาวสงขลา (ซึ่งได้รับอิทธิพลต่อมาจากชวา) และการใช้ “วะ” ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้นชุมชนชาวสงขลาพลัดถิ่นที่ไชยาก็น่าที่จะต้องมีระบบคำเรียกเครือญาติสอดคล้องกับคนลุ่มทะเลสาบสงขลา (ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า นอกจากชาวสงขลากลุ่มใหญ่จะถูกกวาดต้อนออกไปจากพื้นที่ ก็ยังมีชุมชนชาวสงขลาดั้งเดิมได้อาศัยสืบมาในพื้นที่รอบทะเลสาบ [38])
ผู้เขียนได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่บ้านสงขลา อำเภอไชยา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 และต่อมาได้มีโอกาสสัมภาษณ์อดีตข้าราชการครู โรงเรียนวัดโพธิ์ธาราม คือคุณครูสะอาด ร่าหม่าน ปัจจุบันท่านอายุ 72 ปีเป็นคนบ้านสงขลาโดยกำเนิด ปัจจุบันได้ไปอยู่ที่บ้านของภรรยาที่พุมเรียง
ผู้เขียนขณะไปเก็บข้อมูลที่บ้านสงขลา
คุณครูสะอาดเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพุมเรียงมีความรอบรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีของมุสลิมบ้านสงขลาและพุมเรียงเป็นอย่างดี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากว่าคนมุสลิมที่บ้านสงขลา หมู่ 2 ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีธานี ซึ่งแบ่งละแวกบ้านออกเป็น 3 บ้านย่อย คือบ้านสงขลา บ้านสงขลากลาง บ้านโต๊ะเจ้า มีการใช้คำเรียกเครือญาติ และจารีตการใช้เหมือนกันกับคนแขกในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นการเรียกที่สอดคล้องกับทางชวาดังได้เกริ่นแล้วข้างต้น
ในกรณีของการใช้คำว่า “วะ” นั้นชาวบ้านสงขลาจะยึดพ่อแม่ของตนเป็นหลัก ทั้งพี่ชายและพี่สาวของพ่อแม่จะถูกเรียกว่า “วะ” [39]
“วะ” ที่คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา (รวมทั้งคนสงขลาพลัดถิ่น) ใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน และตระหนักดีว่ามีการใช้ไม่เหมือนกับคนมลายูกลุ่มอื่น ๆ นั้น ได้สะท้อนสายสัมพันธ์บางประการที่ยังไม่อาจระบุเจาะจงว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงมีวิธีการใช้เหมือนกับชาวชวา [40] สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่คนแขกอาจจะสงสัยว่า คำเพียงคำเดียวที่ใช้ต่างกันนี้จะมีนัยยะสำคัญอะไรเพียงนั้นหรือ ผู้เขียนทราบดีว่าเป็นการยากมากที่จะอธิบายต่อคนต่างวัฒนธรรมให้ตระหนักถึงนัยยะที่เข้มข้นของวิธีเรียกเครือญาติของวัฒนธรรมมลายู – ชวา การเรียกที่แตกต่างกัน บริบทที่ถูกใช้ต่าง ๆ กันไป สำหรับในวัฒนธรรมมลายู – ชวาแล้วอาจใช้เป็นสื่อสะท้อนถึงความเป็นอื่น และสามารถบอกได้ทันทีว่าคนที่เรียกเครือญาติในรูปแบบต่างกันไปนั้นเป็นคนพวกไหน น่าจะมาจากแถวไหน เรื่องนี้คนไทยอาจจะไม่คุ้นชินเข้าไปใหญ่ หากเป็นคนเชื้อสายจีนอาจจะตระหนักได้ง่ายกว่า
สองฝั่งคลองอู่ตะเภาเต็มไปด้วยเรือประมงพื้นบ้านของคนแขกปลายน้ำ ที่หากินในทะเลสาบสงขลา
บรรพชนของคนลุ่มทะเลสาบมาจากชวา จึงทำให้เรามีวิธีเรียกเครือญาติที่สัมพันธ์กับชวา แต่แตกต่างกับคนแขกมลายูกลุ่มอื่น ๆ ? ในระหว่างที่เรายังไม่อาจสรุปว่าคำอธิบายของตระกูล ณ พัทลุง ว่าเมืองสาไลยนั้นอยู่บนเกาะชวาสามารถเชื่อถือได้หรือไม่ และอยู่ตำแหน่งใดแน่ อย่างไรก็ตามการปรากฏข้อความอักษรชวา ภาษาชวาสั้น ๆ ว่าอาลามัต (เครื่องหมาย,นิมิต) ที่สลักอยู่บนไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันซึ่งถูกทุบทำลาย ประกอบกับวัฒนธรรมการเรียกเครือญาติที่สัมพันธ์กับชวา และแตกต่างกับคนแขกกลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจน สองสิ่งนี้ชวนให้เรามองข้ามปัญหาที่ยังไม่ยุติของประวัติศาสตร์บอกเล่า ไปสู่การแสวงหาเบาะแสอื่น ๆ ที่อาจจะช่วยให้เข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาได้มากขึ้น
หรือการทุบทำลายอาลามัต (เครื่องหมาย) คืออาลามัต (สัญญาณ) ?
เมืองสงขลานี้มีนักวิชาการทั้งในเเละนอกพื้นที่ต่างลงมาศึกษาหาข้อมูล มีชมรม ภาคี ต่าง ๆ ที่ค่อยพัฒนาเมือง มีสถานศึกษามหาลัยทั้งของรัฐเเละเอกชนถึง 5 แห่ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ การทุบทำลายไม้เเลสันหรือหัวเเม่สันในกุโบร์ของสุลต่านสุลัยมานนี้แม้เรายังไม่รู้ชัดว่าเป็นไม้เเลสันหรือหัวเเม่สัน (อาลามัต) ของใคร แต่ด้วยความสำคัญของพื้นที่ ความสำคัญของจารึก ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนี้ย่อมเกี่ยวพันเป็นเนื้อเดียวกับประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา จะเป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งดูแลเรื่องนี้จะเริ่มส่งเสียง และแสดงออกถึงความห่วงใยในความเป็นไปของเหตุการณ์ และร่วมกันหามาตรการที่จะพิทักษ์รักษามรดกของชาวสงขลา ชาวลุ่มทะเลสาบ ชาวคาบสมุทรไทย-มาเลย์กันอย่างจริงจัง
สงขลาปัจจุบันอยู่ในช่วงของการผลักดันเป็นเมืองมรดกโลก แม้เราจะทราบกันดีว่าเดิมผู้ผลักดันต้องการขึ้นทะเบียนเพียงแค่ส่วนของเมืองเก่าซึ่งสร้างในสมัยเจ้าเมืองจีน แต่เมื่อได้ตกลงร่วมกันว่าจะขยายขอบเขตมายังฟากสิงหนคร และกรอบเวลาของประวัติศาสตร์ย้อนลึกมาถึงยุคเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง การทุบทำลายสิ่งของใด ๆ ในกุโบร์ซึ่งฝังร่างของเจ้าผู้ครองเมือง (อาจเรียกได้ว่าสุสานหลวง) ย่อมแสดงให้เห็นว่ามาตรการในการสงวนรักษา และดูแลสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อาจไม่ดีพอ และอาจกระทบต่อแผนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย
หรือเหตุการณ์นี้จะเป็นอาลามัต (สัญญาณ) เตือนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงผลของการปล่อยปละละเลยมรดกทางวัฒนธรรม และจะต้องเร่งแก้ไขให้ทันการณ์ ก่อนที่จะกลายเป็น อาลามัต (สัญญาณ) ของจุดจบที่เราไม่เหลือมรดกอะไรให้ทำความเข้าใจอดีตอีกต่อไป
ดัดแปลงจากภาพ View of Batavia โดย Hendrick Jacobsz หากเมืองสงขลาได้ถูกพัฒนาเป็นเมืองตามแผนของสยาม – ฝรั่งเศสอาจมีรูปเช่นนี้