การทำกัดหรืออวน : เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ชุมพลชายทะเล ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา

ปะแก่ฉาด (นาชฉาด หลีกันชะ) กำลังนั่งผูกกัด ผู้สูงอายุที่สุดของหมู่บ้านซึ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำกัดให้กับผู้เขียน

            ช่วงปลายปีคือฤดูมรสุมของภาคใต้ มีฝนตกมากและอาจมีพายุด้วย ชาวประมงริมฝั่งทะเลอ่าวไทยนำเรือขึ้นคาน หยุดจับสัตว์น้ำใช้ชีวิตบนฝั่งอยู่กับบ้านเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่เดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติ ช่วงเวลานี้คือฤดูกาลเตรียมความพร้อม เช่น ซ่อมแซมเรือ เตรียมเครื่องมือประมงไว้ใช้เมื่อฤดูมรสุมผ่านพ้นไป จะเริ่มออกทะเลอีกครั้งในช่วงเดือนสามหรือเดือนสี่ตามปฏิทินจันทรคติ เมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ผู้เขียนมีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านมุสลิมที่หาอยู่หากินกับอาชีพประมงพื้นบ้าน ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่ (แหลงใต้) ที่บ้านชุมพลชายทะเล[1] อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  หมู่บ้านที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับผู้คนที่นี่เป็นอย่างดี

     ก้าวแรกที่เข้าไปในหมู่บ้านพบว่าเรือท้ายตัดที่ใช้ทำประมงพื้นบ้านของที่นี่ จอดเรียงรายบนหาดทรายหน้าหมู่บ้าน คลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่งลูกแล้วลูกเล่า มีลมพัดแรงมาก ภาพที่พบเห็นอยู่ตรงหน้าคือพวกผู้ชายช่วยกันซ่อมแซมเรือ ผู้หญิงวัยกลางคน ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง นั่งเตรียมเครื่องมือที่เรียกว่า “กัด” หรือ “อวน” เครื่องมือหลักที่ใช้ทำประมงของคนที่นี่ คำว่า “กัด” กร่อนจากคำมลายูกลางคือ “ปูกัต” (Pukat) ภาษามลายูถิ่นปัตตานีเรียกว่า “ปูกะ” ในขณะที่คำว่า “อวน” คือภาษาไทย(?) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า

    “…อวน เป็นคำนาม. ชื่อเครื่องจับปลามีหลายชนิดถักเป็นตาข่ายผืนยาวใช้ล้อมจับปลาลูกคำของ “อวน” คือ   อวนรุน  อวนลอย  อวนลาก…”   

    มุสลิมชุมพลชายทะเลใช้คำเรียกทั้งสองคำผู้เขียนมองว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนการเป็นลูกผสมทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะมีบรรพบุรุษที่เป็นมุสลิมในวัฒนธรรมมลายูลุ่มเลสาบ (มลายูซิงฆูรา) แต่งงานกับคนไทยปักษ์ใต้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในหมู่บ้านผู้เขียนที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หมู่บ้านมุสลิมขนาดใหญ่ที่ไม่มีประวัติการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านใช้คำเรียกว่า “กัด” เพียงอย่างเดียว

    กัดที่มุสลิมชุมพลชายทะเลใช้มีหลายชนิด เช่น “กัดกุ้ง” หรือ “อวนกุ้ง” ใช้จับกุ้งเป็นหลัก “กัดหมึก” ใช้จับหมึกเป็นหลัก หรือ “กัดปลา” ใช้จับปลาเป็นหลักมีชื่อเรียกเฉพาะตามชนิดปลาที่ใช้จับ เช่น กัดใช้จับปลาหลังเขียวเรียกว่า “กัดปลาหลังเขียว”  กัดใช้จับปลากุเหราเรียกว่า “กัดปลากุเหรา” เป็นต้นกัดจับกุ้งกับกัดจับหมึกนั้นตาข่ายของกัดจะมีสามชั้น ส่วนกัดปลาจะมีหนึ่งชั้นเป็นหลัก กัดแต่ละชนิดกว่าจะนำมาใช้จับสัตว์ได้นั้นมีวิธีการทำหลายขั้นตอน ต้องอาศัยคนหลายคนในการทำกว่าจะได้กัดออกมาหนึ่งหัว (ผืน?) จากการสำรวจข้อมูลภาคสนามพบว่าขั้นตอนการทำกัดในอดีตนั้นมีขั้นตอนมากกว่าปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สามารถผลิตกัดเป็นตาข่ายสำเร็จรูปได้ ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวรายละเอียดต่อไป

วะฉ๊ะ นางอาอีฉ๊ะ วงษ์อุทัย กำลังนั่งเข้ากัดที่หน้าบ้านโดยมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า ชุน ใส่เส้นเอ็นไว้ สอดแผ่นไม้เข้าไปในตากัดแล้วใช้ชุนผูกตากัดไปจนสุดความยาวของกัดทำแบบนี้สามชั้น

การทำ “กัด” หรือ “อวน” อดีตกับปัจจุบัน

            ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ข้อมูล “ปะแก่ฉาด” (นายฉาด หลีกันชะ) ผู้สูงอายุที่สุดของหมู่บ้านในวัย ๘๑ ปี ขณะที่กำลังนั่ง “ผูกกัด” หนึ่งในหลายขั้นตอนของการทำกัด อยู่ที่ศาลาใต้ต้นไม้หลังบ้านที่อยู่อาศัย ให้ข้อมูลสรุปได้ว่า

    สมัยก่อนการทำกัดหรืออวนมีขั้นตอนและวิธีการทำที่ต่างจากยุคนี้อยู่บ้าง สมัยก่อนจะใช้ด้ายดิบ เดินทางไปซื้อที่ร้านคนจีนในบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ศูนย์กลางเศษฐกิจของเมืองสงขลา โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ชุน” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ “ผูก” ตาข่ายกัดขึ้นมา เป็นคำเรียกท้องถิ่น หมายถึง “ถัก” ในภาษาไทยกลางนั่นเอง เริ่มจากนำด้ายดิบใส่ไว้ในชุนแล้วผูกเป็นตาข่ายให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ

“ชุน” อุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีในการทำกัด สีแดงคือเส้นเอ็นมุสลิมชุมพลชายทะเลยังเรียกติดปากว่าด้าย ตามวัสดุดั้งเดิมที่ใช้ด้ายดิบ

มีขั้นการทำดังนี้

    ๑. “ผูกกัด” คือการใช้ดายดิบที่ใส่ไว้ในชุนมาถักให้เป็นตาข่าย

    ๒. “ย้อมกัด” นำกัดที่ผูกได้เป็นผืนแล้วย้อมด้วยพืช ปะแก่ชาดเล่าว่าต้องใช้พืชหลายชนิดแต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะแก่จำได้สองชนิดคือ “เปลือกเสม็ด” กับ “ต้นโกงกาง” พืชเหล่านี้สามารถหาได้ในป่าใกล้หมู่บ้าน บางครั้งมีคนจากหมู่บ้านอื่นใส่กระสอบนำมาขาย วิธีการย้อมคือนำพืชทั้งหมดมาต้ม แล้วนำกัดลงไปย้อม เหตุผลที่ต้องย้อมเพราะด้ายดิบนั้นเมื่อใช้ในน้ำทะเลจะผุเร็ว การย้อมด้วยพืชทำให้เส้นของกัดมีความเหนียวและคงทนมากยิ่งขึ้นยืดอายุการใช้งาน และถ้านำด้ายดิบ “ผูกเป็นแห” ที่ชุมพลชายทะเลไม่ใช้ต้นพืชในการย้อมแต่จะใช้ไข่ขาวของไข่เป็ดแทน การใช้ไข่ขาวย้อมแหที่ผูกจากด้ายดิบนี้เองไข่แดง อันเป็นของเหลือใช้มุสลิมบ้านชุมพลชายทะเลจะนำมาทำไข่เป็ดดองคู่หรือไข่ครอบเหมือนกับชุมชนมุสลิมอื่น ๆ รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา[๒]

    “…ด้ายดิบใส่ในชุน ผูกเป็นแหเริ่มจากแคบไปกว้าง แล้วเอาไข่เป็ดมาแยกไข่ขาวไข่แดง ไข่ขาวเอาย้อมแห ไข่แดงแช่น้ำเกลือไว้ ตอนเด็ก ๆ เห็นมะเอาไข่แดงที่แช่น้ำเกลือใส่กลับไปในเปลือกไข่สองหนวย(ลูก – ผู้เขียน) ให้แฝบ (แฝด – ผู้เขียน) เปลือกอีกอันทำเป็นฝาปิดแล้วนึ่ง…” ปะแก่ฉาดบอกเล่าจากความทรงจำในวัยเด็กที่เห็นแม่ของท่านนำไข่แดงของเหลือใช้จากกระบวนการย้อมแหมารังสรรค์เป็นของหรอยที่พบได้รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในปัจจุบัน

    ๓. “เข้าชั้น” คือการนำตาข่ายกัดที่ผ่านขั้นตอนที่หนึ่งกับที่สอง มาซ้อนกันให้เป็นสามชั้น กัดชั้นบนกับชั้นล่างมีขนาดตาที่ใหญ่ เรียกว่า “ตาทัง” ตรงกลางมีขนาดเล็กกว่ามากขั้นตอนนี้ทำให้ได้ตากัดทั้งด้านบนและด้านล่างฝั่งละหนึ่งตาต่อกันเป็นแนวยาวตลอดความยาวของกัด (ถ้าเป็นกัดชั้นเดียวไม่ต้องเข้าชั้นทำขั้นตอนที่สี่ได้เลยเรียกว่า ผูกกัด)

   ๔.“ผูกกัด” การนำตาข่ายกัดมาเพิ่มตาอีกสามตาต่อกันสามชั้นทั้งด้านบนและด้านล่างโดยใช้ชุนในการถักเป็นตาและมีแผ่นไม้สอดไว้ข้างในตากัด เป็นตัวช่วยเพื่อให้การผูกตากัดมีความยาวเท่ากันในแต่ละตาขั้นตอนนี้ทำให้ได้ตากัดทั้งด้านบนและด้านล่างฝั่งละสามตาต่อกันเป็นแนวยาวตลอดความยาวของกัด

   ๕. “มาดกัด”  เป็นขั้นตอนสุดท้ายคือนำเชือกร้อยเข้าไปในตาขาย แล้วนำทุ่นมาผูกข้างบนกัดเรียกว่า “เข้าทุ่น” ส่วนข้างล่างผูกด้วยตะกั่วเรียกว่า “เข้าหิน” ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานกว่าขั้นตอนอื่น ๆ ที่กล่าวมา  

    ข้อมูลข้างต้นคือขั้นตอนการทำกัดแบบดั้งเดิมที่ต้องมีสี่หรือห้าขั้นตอน ต่อมาประมาณสักห้าสิบปีที่แล้ว เทคโนโลยีทันสมัยใหม่ขึ้นสามารถผลิตเส้นตาข่ายกัดสำเร็จรูปออกมาได้ ชาวประมงจึงไม่จำเป็นต้องถักกัดจากด้ายดิบอีกต่อไปและที่สำคัญไม่ต้องย้อมด้วยเพราะเส้นเอ็นสมัยใหม่มีความคงทน การทำกัดของยุคปัจจุบันคือเหลือแค่สามหรือสองขั้นตอน คือ ๑.“เข้าชั้น” (ในกรณีกัดสามชั้น กัดชั้นเดียวไม่ต้องทำ) ๒.“ผูกกัด” และ ๓.“มาดกัด” แม้ว่าเหลือเพียงสามขั้นตอนสำหรับที่บ้านชุมพลชายทะเลในแต่ละขั้นตอนยังต้องใช้คนถึงสามกลุ่มในการทำเพราะคนที่สามารถทำได้ทั้งสามขั้นตอนนั้นเหลือน้อยแล้ว บางคนทำได้แค่ขั้นตอนการผูกกัดกับมาดกัด และบางคนก็ทำได้แค่การผูกกัดเพียงอย่างเดียว แม้แต่ปะแก่ฉาดเองก็ไม่สามารถเข้าชั้นกัดได้ และจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามุสลิมชุมพลชายทะเลไม่มีใครเข้ากัดได้ ทำได้แค่ผูกกัดกับมาดกัดเท่านั้น  ขั้นตอนนี้จึงต้องอาศัยคนอีกกลุ่มที่อยู่ถัดขึ้นไปบริเวณบ้านชุมพลระวาง ซึ่งจะขอกล่าวรายละเอียดต่อไป

น้าสาว (นางปรีดา สุวรรณรัตน์) กำลังมาดกัด

องค์ความรู้การเข้าชั้นกัด

                ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากัดจับปูกับกัดจับหมึกนั้นเป็นกัดที่มีสามชั้น ปัจจุบันการทำกัดทั้งสองนี้ขั้นตอนแรกเริ่มจากการเข้าชั้นก่อน มุสลิมบ้านชุมพลชายทะเลมีความรู้เฉพาะการ ผูกกัดกับมาดกัดเท่านั้น และที่สำคัญมีเพียงกลุ่มคนที่มีอายุห้าสิบปีขึ้นไปที่สามารถทำได้ ในขณะที่การเข้ากัดที่เป็นขั้นตอนแรกนั้นกลับไม่มีใครสามารถทำได้แล้ว ต้องอาศัยกลุ่มคนไทยที่บ้านชุมพลระวาง ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจข้อมูลภาคสนามโดยมี “วะรอหมีด” (นายรอหมีด วงษ์อุทัย) อายุ ๕๖ นำผู้เขียนไปที่บ้านของ “น้านุ้ย” (นายจรัญ สุวรรณรัตน์) อายุ ๕๗ ปีกับ “น้าสาว” (นางปรีดา สุวรรณรัตน์) อายุ ๕๕ ปี สองสามีภรรยา ซึ่งลูกของวะรอหมีดกับน้าทั้งสองเป็นเกลอกันจึงมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี เพราะการเป็นเกลอจะนับญาติกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสองครอบครัว  

    เมื่อไปถึงผู้เขียนได้พบกับน้าสาวซึ่งกำลัง “มาดกัด” อยู่บนศาลาหลังใหญ่ที่เต็มไปด้วยกัดหรืออวนหลายชนิด จากการสัมภาษณ์ข้อมูลสรุปได้ว่า หลายปีก่อนตอนนั้นเริ่มเป็นสาวมีมุสลิมบ้านบ่อตรุ[๓] ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มาสอนความรู้เกี่ยวกับการทำกัดให้ สอนตั้งแต่ การเข้ากัด ผูกกัดและมาดกัด ความรู้เหล่านี้ไม่ใช่ความรู้ที่มีมาแต่เดิม และน้าสาวได้สอนให้กับพี่สาวและน้องสาวด้วย ปัจจุบันทั้งหมู่บ้านจึงมีแค่สามคนนี้ที่สามารถ “เข้ากัด” ได้  

    กัดที่เห็นอยู่เต็มศาลานี้เจ้าของคือคนที่เปิดร้านจำหน่ายกัดนำมาจ้างให้เข้ากัด ผูกกัดและมาดกัดให้เมื่อได้มาแล้วกัดสามชั้นนั้นตนกับพี่สาวและน้องสาวจะเข้ากัดก่อนเป็นอันดับแรก กัดหนึ่งผืนหรือที่เรียกว่า “หัว” ได้หัวละ ๔๐ บาท เข้ากัดเสร็จกระจายไปให้คนในหมู่บ้านทำขั้นตอนต่อไปคือผูกกัดให้ราคาหัวละ ๓๐ บาท โดยน้านุ้ยจะนำไปแจกไว้ให้ตามบ้านมีประมาณ ๒๐ กว่าหลังที่รับผูกกัด เมื่อชาวบ้านผูกกัดเสร็จแล้วน้านุ้ยจะไปรับกลับมา รอเจ้าของมารับไปจำหน่ายต่อไป บางส่วนจะมาดให้ด้วยได้เงินค่าจ้าง ๓๕๐ บาทต่อหัว

คุณน้าสุภาพร สุระคำแหง กำลังเข้าชั้นกัด  

    ตอนแรกก็รู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็นการเข้ากัด แต่สักพักน้านุ้ยก็มาตามว่าให้ไปดูการเข้ากัดที่บ้านน้องสาว ผู้เขียนจึงตามไปดูได้พบกับ นางสุภาพร สุระคำแหง อายุ ๔๙ ปี กำลังนั่ง เข้ากัดอยู่บนแค่ไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปประมาณหนึ่งร้อยเมตร จากการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ของผู้เขียน สรุปได้ว่า การเข้ากัดนั้น มีตาข่ายกัดอยู่สามชิ้น ตากัดขนาดใหญ่มีสองชิ้น ตาขนาดเล็กมีหนึ่งชิ้น นำเชื่อกร้อยตาข่ายกัดทั้งสามแยกกัน แล้วนำตาข่ายกัดตาใหญ่ผูกไว้กับตะปูที่ตอกไว้บนอิฐมีสองตัวซ้ายขวา และตรงกลางระหว่างตะปูมีไม้ปักไว้จากพื้นดินขึ้นมาใช้ผูกตาข่ายกัดขนาดเล็กไว้ ได้ตาข่ายกัดทั้งสามตั้งขนานกัน

    เริ่มเข้าชั้นด้วยการใช้ชุนผูกที่จุดเริ่มต้นของตาข่ายกัดขนาดเล็กให้ได้ห้าตา(ช่อง) แล้วใช้ชุนเกี่ยวกัดตาใหญ่ทางซ้ายไว้ข้างล่างกัดตาเล็ก แล้วเกี่ยวกัดตาใหญ่ทางขวาไว้ข้างบนกัดตาเล็ก ผูกให้ติดกัน หลังจากนั้นทำตากัดที่ตาข่ายกัดตาเล็กเพิ่มอีกห้าตาแล้วยิบกัดตาใหญ่ทางซ้ายไว้ข้างล่างหยิบกัดตาใหญ่ทางขวาไว้ข้างบนแล้วผูก ทำแบบนี้ไปจนหมด เมื่อเสร็จแล้วอีกฝั่งของกัดก็ทำแบบนี้เช่นกัน จะได้กัดที่มีตาเพิ่มมาฝั่งละหนึ่งตาแล้วส่งต่อให้ผูกกัดเพิ่มตาฝั่งละสามตาต่อไป

การเข้าชั้นกัดจะได้ตากัดเพิ่มมาหนึ่งตา ตามขนาดความยาวของกัด จะสังเกตว่าเส้นเอ็นที่ใช้ถักนั้นใช้สีเเดงเพื่อให้แตกต่างจากตากัดที่มีสีขาว

สรุป

    จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอนี้จะพบว่าขั้นตอนการทำกัดหรืออวนนั้น ในอดีตกับปัจจุบันมีขั้นตอนการทำที่แตกต่างกัน​ กล่าวคือ ตามองค์ความรู้เดิมที่ปะแก่ฉาดบอกเล่านั้น มีอยู่ห้าขั้นตอนคือ ๑.ผูกกัด (ถักเป็นตาข่าย) ๒.ย้อมกัด ๓.เข้ากัด(ใช้สำหรับกัดสามชั้น) ๔.ผูกกัด ๕.มาดกัด ต่อมาประมาณ50ปีก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง การทำกัดมีขั้นตอนลดลงเนื่องจากมีการใช้วัสดุสมัยใหม่ผลิตขึ้นใช้ทดแทนด้ายดิบที่ใช้มาแต่เดิม ทำให้ไม่ต้อง ผูกกัด(ถักตาขายกัด)กับย้อมกัดในขั้นตอนที่ ๑ และขั้นตอนที่ ๒​ อีกต่อไป ส่วน การเข้ากัด ผูกกัดและการมาด ทุกท่านที่สัมภาษณ์ให้ข้อมูลว่ายังต้องใช้คนทำ​ เนื่องจากยังไม่มีเครื่องมือสมัยใหม่มาช่วยทำได้ ดังนั้นแรงงานคนจึงยังมีส่วนสำคัญในการทำกัดหรืออวนใช้อยู่

    ทั้งนี้พบว่าคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านไม่ค่อยมีใครสนใจจะสืบทอดความรู้การทำกัดกันเท่าใดนัก อย่างในกรณีของบ้านวะฉ๊ะที่เล่าว่า “…ลูก ๆ ไม่มีใครมาสนใจดู ตอนวะฉ๊ะเด็ก ๆ เราเห็นมะทำเราก็มาสนใจดูสนใจทำจึงทำเป็น ตอนนี้ลูกวะไม่มีใครทำเป็น​ทั้ง ผูกกัดและมาดกัด การเข้าชั้นนั้นไม่ต้องแหลงถึงว่าเด็กรุ่นใหม่จะทำเป็น วะเองก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน…” อาจจะกล่าวได้ว่าภูมิปัญญาการว่าด้วยเรื่องการทำกัดในวิถีประมงพื้นบ้านแห่งนี้อาจจะเป็นหนึ่งในอีกลมหายใจที่รอคอยการสืบทอดไม่ให้เลือนหาย…


ทางขวาคือ น้านุ้ย (นายจรัญ สุวรรณรัตน์) ซ้ายคือ วะรอหมีด (นายรอหมีด วงษ์อุทัย)

เชิงอรรถ

[๑]บ้านชุมพลชายทะเลเป็นหมู่บ้านย่อยของบ้านชุมพล หมู่๑ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา สำหรับบ้านชุมพลนั้นมีละแวกบ้านแบ่งเป็นสองส่วนโดยมีคลองกั้นตรงกลาง ริมทะเลเรียกว่า ชุมพลชายทะเล ถัดจากคลองขึ้นมาเรียกว่า ชุมพลระวาง อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง นูหรีเรือ : ทำบุญเรือคนแขกเลนอก-เลใน https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/259586

[๒] : ไข่เป็ดดองคู่หรือไข่ครอบ อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “ไข่ดอง” ชื่ออันไม่เป็นที่รู้จักของ “ไข่ครอบ” https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/kaidong

[๓] : มุสลิมบ้านบ่อตรุ เป็นมุสลิมที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวมลายูกลันตัน ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย แม้ว่าจะไม่พูดภาษามลายูกลันตันเหมือนบรรพบุรุษแล้วแต่มีวัฒนธรรมหลายประการที่ยังใช้แบบมลายูกลันตันเช่น ระบบคำเรียกเครือญาติ อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง ร่องรอยมลายูกลันตันนอกแผ่นดินกลันตัน กรณีศึกษามุสลิมบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/267306

ขอขอบคุณ

นายฉาด หลีกันชะ , นายรอหมีด วงษ์อุทัย , นายจรัญ สุวรรณรัตน์ , นางปรีดา สุวรรณรัตน์ , นางอาอีฉ๊ะ วงษ์อุทัย,นางสุภาพร สุระคำแหง

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น