เจดีย์พระสามจอม-วิหารสามจอม เป็นหนึ่งในชุดอาคารผนวกเจดีย์ที่เก่าแก่ ลักษณะคือมีเจดีย์สูงราว 15 เมตรเศษองค์หนึ่งที่ฐานเจดีย์ด้านทิศตะวันออกมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูป แล้วสร้างหลังคาคลุมตั้งแต่ปากคูหานั้นยื่นยาวออกมาทางทิศตะวันออกอีก 3 ห้องเป็นวิหารขนาดย่อม ๆ
เจดีย์พระสามจอม-วิหารสามจอมปรากฏในตำนานพระธาตุว่านายสามจอม นายสามราชหงษ์ เจ้าพนักงานดูแลสารบาญชีที่กัลปนาและข้าพระกัลปนาของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา(อโยธยา) ได้สร้างขึ้นเมื่อกษัตริย์อยุธยาส่งให้มาช่วยดูแลความเรียบร้อยของการปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุ และการกำหนดที่กัลปนาให้แก่พระบรมธาตุและคณะสงฆ์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ ๆ (อาจก่อนหรือหลังนิดหน่อยเพราะศักราชในตำนานวางไว้ที่พ.ศ.๑๘๐๐ แต่ก็มีตัวเลขที่ต่างกันออกไปในบางเวอร์ชั่น)
นายสามจอม ไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นราชทินนามเป็นชื่อตำแหน่งที่ปรากฏในเอกสารกัลปนาของเมืองนครหลายฉบับ ยังถูกอ้างถึงมาจนถึงยุคการปักปันเขตปกครองสงฆ์ที่เขาพระบาท (เชียรใหญ่) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ว่าพื้นที่ตรงนั้นตกลงจะขึ้นกับนครหรือขึ้นกับสทิงพระ สุดท้ายไปขึ้นกับสทิงพระ เราจึงเห็นว่าแผนที่กัลปนาวัดพะโคะซึ่งที่จริงคือแผนที่แสดงเขตปกครองสงฆ์สทิงพระ ว่าแผนที่นั้นเริ่มต้นแผนที่บริเวณเขาพระบาท ที่ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเชียรใหญ่
ชาวนครเรียกเจดีย์-วิหารที่นายสามจอม นายสามราชหงษ์สร้างนี้ว่าเจดีย์(พระ)สามจอม วิหารสามจอมเรื่อยมา กระทั่งเมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตให้ย้ายรูปพระทรงเครื่องที่เชื่อกันว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกสร้างไว้ต่างองค์ ประดิษฐานอยู่ข้างเหนือศีรษะพระศรีธรรมราชมุนีบรรทมในโพธิมณเฑียร มาไว้ในวิหารสามจอม
ยุคถัดมาเลยนิยมเรียกชื่อวิหารนั้นว่าวิหารพระศรีธรรมาโศก แต่ชื่อสามจอมก็ยังติดมาด้วย เพราะเรียกมานานช้ากาเล เจดีย์พระสามจอมถูกรื้อทำใหม่เกือบทั้งหมดในปลายรัชกาลที่ ๕ การที่ทำใหม่นี้ได้ทำบันขึ้นไปบนลานรอบเจดีย์ได้ด้วย ได้แปลงครุฑของเดิมที่ดูโบราณและใกล้กับครุฑในวิหารพระม้ามากให้เป็นครุฑอกผายไหล่ผึ่งอย่างที่เห็น แล้วตัววิหารมาทำใหม่เมื่อต้นรัชกาลที่ ๙ นี้เปลี่ยนจากโครงเครื่องประดุไม้มาเป็น คสล.
ในภาพถ่ายเก่าซึ่งน่าจะถ่ายเมื่อ 2442 ได้เห็นรายละเอียดของเจดีย์พระสามจอมของเก่าก่อนจะถูกรื้อทำใหม่ที่ยอดหักหายไปครึ่งหนึ่ง ตัวยอดนั้นเป็นยอดลูบเกลี้ยงแบบบริวารพระธาตุทั้งหมด แล้วได้เห็นบัลลังก์ของเก่า ซึ่งปัจจุบันประดับกระจกมีคนแซวว่าเหมือนวัดสวนดอก
บัลลังก์เจดีย์พระสามจอมเดิมนี้เป็นบัลลังก์ที่มีอิทธิพลของบัลลังก์เจดีย์แบบลังกา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตกทอดมาจากบัลลังก์ของเจดีย์รุ่นพรีมีทีฟมาก ๆ คือมีการแบ่งช่องบัลลังก์ด้วยแนวเส้นตั้ง แล้วถมที่ว่างระหว่างแนวเส้นตั้งนั้นด้วยแนวเส้นนอน ซึ่งบัลลังก์รูปแบบนี้เจดีย์ลังกาเก็บมาจากบัลลังก์ของสถูปรุ่นโบราณที่ทำเป็นรั้วไม้ล้อมรอบบัลลังก์จริง ๆ ที่วางอยู่บนเนินสถูปอีกที และยังมีวงกลมซึ่งแทนดวงอาทิตย์ประดับอยู่กลางบัลลังก์ด้วยอันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในบัลลังก์ของสถูปลังกาอยู่เสมอ
แต่จากภาพถ่ายเก่าบัลลังก์ของเจดีย์พระสามจอมก็ยังยกเก็จแบบบัลลังก์พระธาตุด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างองค์ประกอบจากยุคก่อนปทุมวงศ์ กับองค์ประกอบของสถูปลังกาที่น่าจะยึดรูปแบบของสถูปสมัยโปโลนารุวะเป็นหลัก
. คิดอย่างเลา ๆ แบบจับมาชนกัน ก่อนที่บัลลังก์ของพระบรมธาตุจะประดับด้วยจานกระเบื้องซึ่งเป็นของในยุคปราสาททองลงมา บัลลังก์ของพระธาตุบริเวณที่จะถูกฉาบปูนเพื่อประดับจานนั้น คงตีเส้นแนวนอนแบบที่เห็นในภาพถ่ายเก่าของบัลลังก์พระสามจอม และในสถูปลังกาเช่นกัน เมื่อจะประดับจานซึ่งเป็นเทรนด์ที่นิยมไปทั่วมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่ครึ่งหลังจองพศว ๒๒ เป็นต้นมา ทำให้ช่างฉาบปูนปิดซี่แนวนอนซึ่งอาจไม่เป็นที่เข้าใจอีกต่อไปแล้วในยุคนั้นว่าหมายถึงอะไร เพื่อสุนทรียะแบบใหม่ที่ทั้งท้องทะเลกำลังฮิตกันก็ได้ (ก็ได้ไว้ก่อนกันหราด แต่คิดว่าใช่นะ)
ส่วนวงกลมที่แทนดวงอาทิตย์ที่กลางบัลลังก์พระบรมธาตุนั้นยังปรากฏชัดอยู่จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๖ เห็นการประดับจานใบเล็กรอบในเหมือนรังษีพระอาทิตย์ด้วย ซึ่งจะถูกลดทอนไปในการปฎิสังขรณ์สมัยถัด ๆ มา จนกลายเป็นวงกลมว่าง ๆ กลางบัลลังก์ที่ใครหลายคนตีความว่าเป็นสัญญะของสุญญตา เดิมคงเคยมีเอลเมนต์ลังกา ๆ ในเขตพระบรมธาตุมากกว่านี้ที่ค่อย ๆ จางไป
เผยแพร่ครั้งเเรกใน - https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02tmi6FWN91HJhHGSi5S311gbCS5bChC2WFrtcPH1fHKJraRiJKjK1FV5WnJ1ss7sJl&id=100081258420936