“เสดสา” ภาวะแสนลำบากยากแค้นในภาษาไทยถิ่นใต้

    ในขณะนี้ประชาชนคนไทยต่างประสบพบเจอกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ส่งผลให้มีความเดือดร้อนลำบากยากเข็นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ปกติถูกสั่งปิดบ้างทำให้ขาดรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว หรือจะเรียกได้ว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด – 19 ส่งผลให้เกิดยุคแห่งความอดอยากโดยทั่วกันไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ศักดินา แม้แต่พันเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังออกพระโอษฐ์เองว่า “#แม้แต่ตัวท่านหญิงก็ยังลำบาก
    ภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำไทยถิ่นใต้อยู่คำนึงนั่นคือคำว่า “#เสดสา” คำนี้ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่า (ก.) ลำบาก ตกยาก เวทนา เช่น อยู่อย่างเสดสา หมายถึง อยู่อย่างลำบาก; #เสกสา (น.ธ.) [๑] ก็ว่าเป็นที่น่าสังเกตว่าพจนานุกรมฉบับนี้ระบุตัวอักษรย่อว่า (น.ธ.) หมายถึงเป็นคำที่ใช้อยู่ในจังหวัดนราธิวาส อย่างไรก็ดีบ้านของผู้เขียนซึ่งอยู่ในจังหวัดสงขลาก็ใช้คำนี้เช่นกัน เมื่อลองสืบค้นแหล่งข้อมูลต่าง ๆ พบว่า ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัสตูล ก็มีการใช้เช่นเดียวกัน
    ในหนังสือ คำคอน-คนคอนของผู้ช่วยศาสตราจารย์ จักรรัช ธีระกุล ให้ความหมายคำนี้ไว้ว่า เสดสา – ลำบาก ขัดสน แร้นแค้น เช่น ปีน้ำท่วมใหญ่พวกบ้านเราอยู่กันเสดสาแรง [๒] และในหนังสือคนคอนแหลงใต้ถวายองค์ราชัน ให้ความหมายไว้ว่า เสดสา ลำบากยากเข็นบางคนมีชีวิตเสดสามาก หมายถึงคนที่มีชีวิตลำบากหาเช้ากินค่ำ [๓] ยังพบว่าในหนังสือศัพท์สตูลแต่แรก ได้ให้ความหมายไว้ว่า #เสดซ่า (ว.) ลำบาก,ทุกข์ทรมาณ [๔]
    ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อธิบายว่า เสดสา เป็นคำที่ใช้กันมากในภาคใต้ แปลว่า ลำบาก เวทนา เช่นพูดว่า เสดสาเวทนา ใกล้กับคำมลายูว่า #Seksa หรือ Siksa พจนานุกรมมลายูอ้างว่าเป็นคำจากภาษาสันสกฤต ก็คือคำว่า ศิกฺษา ซึ่งแปลว่า เล่าเรียน ความทุกข์ ทรมาน ทางที่ เอ เป็น อี และ ก สะกดเป็น ด สะกดนั้นก็มีทางเป็นได้ (ดูเรื่องการกลายเสียงสระพยัญชนะที่กล่าวมาแล้ว) ตัวอย่าง เพิ่มเติมเช่น ตัวตืก ภาคเหนือ ภาษาใต้เป็น ตัวตืด [๕]
    ทั้งนี้ผู้เขียนได้สอบถามกัลยาณมิตถึงคำว่าลำบากในภาษามลายูกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มเติมว่าพบว่า ในภาษามลายูเคดะห์ที่ยังมีการใช้กันอยู่ที่บ้านตีนดอน (เหนือ) ต.โพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยชาวเคดะห์พลัดถิ่นจะใช้คำว่า #ซูซะ (ให้ข้อมูลโดยคุณจุรินทร์ มะหมัด) ส่วนคุณอามีน ตาเย๊ะ ชาวมลายูปตานีให้ข้อมูลว่าที่บ้านโต๊ะเดง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาสใช้คำว่า #ซูเซาะ และคุณธีรนิน ตุกังงันชาวมลายูมุสลิมที่สตูลซึ่งสามารถใช้ทั้งภาษาไทย และมลายูได้อย่างคล่องแคล่วให้ข้อมูลว่า ที่อำเภอละงูผู้ที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้จะใช้คำ เสดสา
    เส้นทางของคำว่า “เสดสา” นี้อาจจะมาจาก สันสกฤต >>> มลายู >>> ไทยถิ่นใต้ หรือ สันสกฤต >>> ไทยถิ่นใต้โดยตรงยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด ในภาษาไทยถิ่นอื่น ๆ ของไทยมีการใช้คำทำนอง เสดสา ด้วยหรือไม่หากมีใช้รบกวนให้ข้อมูลแก่ผู้เขียนด้วยครับ [๖]
เสดสา ในวรรณคดี เพลงกล่อมเด็ก แทงศัสตรา ของชาว (นคร) ปักษ์ใต้
    วรรณคดีเรื่องพระสุธน จากหนังสือบุดที่พบในนครศรีธรรมราช กล่าวว่า
    “พลัดพรากจากเมือง ตกไร้ได้เคือง เดินทางกลางป่า
รำพึงความเก่า #เราได้เสดสา ท่าเจ้ามาไว้ที่สาไหล” [๗]
    หรือจากเพลงกล่อมเด็กว่าด้วยเรื่องนางมโนราห์ กล่าวว่า
    “นางโนราเหอ…………นางโนรา
พระศรีสุธนตามา……..ถึงเมืองไกรลาศ
ท่านใช้ให้ขุดบ่อ……….ท่านใช้ให้หลอปราสาท
#เสดสา_ทายาด……….หวางอิ้ได้ครองนวลน้อง” [๘]
    ฮาเฮ้อเหอ…………..ทำบุญเหอ
ทำบุญวันสารท……ยกหมฺรับดับถาด
ไปวัดไปวา…………พองลาหนมแห้ง
ตุกแตงตุกตา………ไปวัดไปวา
#สาเสดเวทนา……เปรตเหอ [๙]
    ตำราแทงศาสตรา / แทงศัสตรา เป็นตำราทำนายโชคชะตาที่พบว่าในเอกสารโบราณของชาวปักษ์ใต้พบได้เยอะมากมีลักษณะเป็นภาพวาด มีข้อความอธิบายคำทำนาย โดยแทงศัตรานั้นเมื่อจะมีการทำนายผู้ทำนายจะต้องนำขนเม่น แทงเข้าไปในตัวเล่ม แทงได้หน้าไหนผู้เป็นเจ้าของตำราก็จะอ่านคำทำนายให้ฟัง จากหนังสือบุดตำราแทงศาสตราที่พบที่ ตำบลท่าวัง เมืองนครศรีธรรมราช มีคำทำนายหน้าหนึ่งระบุว่า
    “..แทงต้องกระไทชายผูกเรือไว้กับหญ้า
ลมพัดมาเรือลอยไป #ผู้นั้นไซร้ได้ความเสดสา
ปีนี้หนาอย่าไว้ใจเพื่อฝูงไซร้คิดหึงสา
อย่าช่วยข้าใช้การงาน พระเคราะห์ร้ายทั้งเจ้านายจะสำทับ
ถ้าไข้ทายว่าเป็นเหตุเพราะของกิน
ถ้าเป็นความแพ้เสียทรัพย์สิน
คนไปไกลยังไม่มา แทงสักทีก่อนเถิด…”
   ”สังคมมันติงต๊อง เราก็เลยเสดสา #ถ้ารัฐบาลติงต๊อง_ประชาชนก็เศษสา_อาโย๊ะ
    ตอนหนึ่งของเพลง เศษสาอาโย๊ะ ที่จ๊อบ บรรจบ ศิลปินชาวใต้ขับขานเอาไว้สิบกว่าปีก่อน ถ้อยคำที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญานดั่งบทกวีนี้ยังสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างแจ่มชัด
    จากข้อมูลที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงบริบทการใช้คำว่า เสดสา เพื่อแสดงถึงความลำบากยากแค้น เป็นความลำบากมากยิ่งกว่าความลำบากปกติ คำนี้ปัจจุบันยังคงถูกใช้ในบริบทเดียวกัน และสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ คำว่า เสดสา คงเป็นคำหนึ่งที่เก็บสภาวะของสังคมยุคโควิดได้อย่างครบถ้วนความทุกข์ยากแสนเข็นเป็นของที่ต้องประสบพบเจอทุกหย่อมหญ้าไม่ละเว้นชนชั้น สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็หวังว่าประชาชนคนไทยไม่ว่าชนชั้นศักดินาใดที่ประสบกับความลำบากอยู่ จะผ่านพ้นมันไปได้ในเร็ววัน

เพื่ออรรถรสแนะนำอ่านอีกครั้งพร้อมเปิดเพลง เศษสาอาโย๊ะ โดย จ๊อบ บรรจบ https://www.youtube.com/watch?v=zFogBJvtBJY

—————————–
อ้างอิง
—————————–
.
[๑] : สถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(๒๕๓๐).พจนานุรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕.(พิมพ์ครั้งที่๓).กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊พจำกัด
[๒] : จักรรัช ธีระกุล(๒๕๕๕).คำคอน-คนคอน.(พิมพ์ครั้งที่๒).กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทม์ พริ้นติ้ง
[๓] : มูลนิธิส่งเสริมเศรษฐกิจชนบทและพัฒนาสิ่งแวดล้อม(๒๕๔๔).หนังสือคนคอนแหลงใต้ถวายองคาชัน.(พิมพ์ครั้งที่๑).กรุงเทพ : บริษัท จีบีพี เซ็นเตอร์ จำกัด
[๔] : สุริยา (ซาการียา) ปันจอร์.(๒๕๖๓).ศัพท์สตูลแต่แรก.(พิมพ์ครั้งที่๑).สตูล : เอสพีการพิมพ์
[๕] : สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูบย์(๒๕๑๒).คติชาวบ้านปักษ์ใต้(พิมพ์ครั้ง๑).กรุงเทพ : ก้าวหน้าการพิมพ์
[๖] : เอกลักษณ์ รัตนโชติ .สืบค้นออนไลน์ : shorturl.asia/4KrQb
[๗] : อ้างแล้วใน ๕
[๘] : อ้างแล้วใน ๕
[๙] : เพลงกล่อมเด็กของชาวนครให้ข้อมูลโดยคุณ นายญัตติพงษ์ คงหนูครับ นักศึกษาราชภัทรนครศรีธรรมราชผู้สนใจและรวบรวมเพลงกล่อมเด็กของชาวนคร

เผยแพร่ครั้งเเรกใน – https://web.facebook.com/Arch.kidyang/photos/a.1113454018696140/5982237808484379/

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น