บ้านบน ย่านชุมชนคนแขก (มุสลิม) ในตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นหมู่บ้านคนแขกที่อยู่ในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา (บ่อยาง) ซึ่งย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนสมัยรัชกาลที่ ๓
สำหรับผู้เขียนทุกครั้งที่ได้ไปเมืองสงขลาจะต้องไปที่บริเวณบ้านบนเพราะมี อาหาร ขนมโบราณให้เลือกรับประทานเช่น ข้าวมันแกงไก่ ขนมบอก ขนมบูตู อีกทั้งบ้านบนยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดอุสาสนอิสลาม หรือมัสยิดบ้านบน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยก่ออิฐถือปูนอย่างสวยงาม
ซุ้มประตูทางเข้ามัสยิดระบุตัวเลขปี พ.ศ.๒๓๙๐ เป็นปีสร้างมัสยิด เพียง ๕ ปีหลังจากที่มีการฝังเสาหลักเมือง เพราะเสาหลักเมืองสงขลา (บ่อยาง) ฝังเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ มีข้อความระบุในพงศาดารเมืองสงขลาดังนี้
“ …..ณ ปีขาลจัตวาศก ( จุลศักราช ๑๒๐๔ ) โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดแจงฝังหลักเมืองสงขลา โปรดพระราชทานเทียนไชยพฤกษ์กับเครื่องไทยทาน…..” [๑]
เมื่อเข้าไปภายในมัสยิดเราจะพบว่ามี โคมไฟ (ตะเกียง?) เครื่องสังเค็ด/พระราชทานในงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ ร.ศ.๑๒๙ ปีพ.ศ. ๒๔๕๓ โคมนี้นับว่าเป็นชิ้นที่พบไกลที่สุดจากพระนคร คือ ณ สุเหร่าบ้านบนเมืองสงขลา[๒] มีการเขียน “คอต” ตัวอักษรอาหรับประดิษฐ์ (อายะจากอัลกุรอ่าน) ไว้โดยรอบตอนบนของผนังภายในมัสยิด และที่ซุ้มเมี๊ยะรอบ
จากข้อมูลข้างต้นที่ได้นำเสนอจะเห็นได้ว่ามัสยิดหลังนี้มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา และราชสำนักส่วนกลางอย่างมีนัยยะสำคัญจึงเป็นหนึ่งในมัสยิดที่น่าจะค้นคว้าในรายละเอียดว่าในเหตุการณ์สำคัญของเมืองสงขลาครั้งอดีตจะมีเรื่องราวของมัสยิดบ้านบนถูกกล่าวถึงไว้อีกหรือไม เป็นคำถามที่ผู้เขียนมักถามตนเองเสมอเมื่อมายังมัสยิดแห่งนี้
ซุ้มหน้าต่างดั้งเดิมของมัสยิดบ้านบนในยุคแรก ๆ ก่อนจะมีการต่อเติมระเบียง และกั้นห้องรอบ ๆ ตัวมัสยิด
จากคำถามที่มีต่อตนเองนำมาสู่การหาคำตอบ ผู้เขียนได้สืบค้นเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับเมืองสงขลาจนพบข้อมูลเหตุการณ์คราวที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เสด็จมา ขณะนั้นเจ้าเมืองสงขลาคือ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลามาประมาณปีเศษ [๓] พระองค์ได้เสด็จมายังมัสยิดบ้านบน ดังข้อความว่า
“…แล้วเสด็จมาถึงหน้าวัดมัชฌิมาวาศ ทรงทอดพระเนตรดูพระอุโบสถแล้วตรัสว่าช่อฟ้าดูไม่ได้ให้ช่างกรุงมาแก้เสียใหม่ #ถึงโรงสุเหร่าตรัสถามว่านี่โรงอะไร กราบทูลว่า #กฎีมลายู แล้วเสด็จเลี้ยวตรงทางตลาดใหญ่…”[๔]
แผนที่เมืองเก่าสงขลา (บ่อยาง) เขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มี #ก์ดียเเขก” หมายถึงมัสยิดอุสาสนอิสลาม (มัสยิดบ้านบน) นั้นเองซึ่งตั้งอยู่ตามตำแหน่งเดิมในปัจจุบันใกล้กับประตูเมือง
แผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง เอกสารโบราณจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เนื่องจากเอกสารฉบับนี้ไม่ปรากฏปีศักราชที่เขียน แต่ปรากฏข้อความท้ายเอกสารว่าเขียนในวันพฤหัสบดีเดือนสิบเอ็ด ขึ้นสองค่ำ ปีกุนเอกศก คำนวณสอบเทียบศักราชแล้ว ปีกุนเอกศกที่น่าจะเป็นไปที่สุด คือปีกุนเอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ พุทธศักราช ๒๓๘๒ โดยวันขึ้นสองค่ำเดือนสิบเอ็ด ตรงกับวันพฤหัสบดีจริงและเป็นวันที่ ๑๐ ตุลาคมของปีนั้น [๕] ซึ่งอยู่ในรัชกาลที่ ๓
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้คำเรียกมัสยิดหรือสุเหร่าว่ากะดี หรือ กะฎี จะใช้เรียกมัสยิดในภาคกลาง เช่น กะฎีใหญ่ หรือมัสยิดต้นสนเป็นมัสยิดนิกายสุนหนี่ที่เก่าแก่ในประเทศไทย กะฎีขาว หรือมัสยิดบางหลวง กะฎีช่อฟ้า (อยุธยา) อีกทั้งยังใช้เรียกศาลเจ้าของคนจีนอีกด้วย
ภาพเก่าแสดงหน้าตาการแต่งกายของชาวบ้านบนในอดีต
จากหลักฐานสองอย่างประกอบกัน เราจะพบว่ามัสยิดอุสาสนอิสลามบ้านบนเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการเรียกว่า #กฏีมลายู ซึ่งเป็นการเรียกโดยเจ้าเมืองสงขลาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ส่วน กดีย์แขก สมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นถูกเรียกโดยเจ้าเมืองสงขลาผู้เขียนแผ่นที่ สันนิษฐานว่าคือพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) (พ.ศ. 2360 – 2390)
จารึกการสร้างสะพานสำโรง ทำเป็น 3 หลัก แต่ละหลักมีเนื้อหาเหมือนกันแต่จำหลักด้วยภาษามลายู ภาษาจีน และภาษาไทย
จากคำเรียกทั้งสอง กฎีมลายู กดีย์แขก คงพอจะเป็นหลักฐานได้ว่าชาวคนบ้านบนโดยส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวมุสลิมมลายู อีกทั้งหลักฐานร่วมสมัยเดียวกันอย่างจารึกสำโรงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านบนเป็นจารึกภาษามลายูอักษรยาวี รวมถึงคำเรียกเครือญาติที่ปัจจุบันยังคงใช้คำมลายู เช่น ปะ มะ วะ วา สู ฯลฯ ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในเมืองสงขลาขณะนั้นเป็นชาวมลายู
– เอกสารอ้างอิง –
[๑] ธีระ แก้วประจันทร์ ,นุชนารถ กิจงาม ,จตุพร ศิริสัมพันธ์.(บรรณาธิการ).(๒๕๔๕).ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๖ .(พิมพ์ครั้งที่ ๑).กรุงเทพ : กรมศิลปากร
[๒] https://www.facebook.com/media/set/…
[๓] “สมัยเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” แหล่งที่มา :
https://sites.google.com/…/smay-meuxng-sngkhla-fang-bx…
[๔] ธีระ แก้วประจันทร์ ,นุชนารถ กิจงาม ,จตุพร ศิริสัมพันธ์.(บรรณาธิการ).(๒๕๔๕).ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๖ .(พิมพ์ครั้งที่ ๑).กรุงเทพ : กรมศิลปากร
[๕] หอสมุดแห่งชาติ,สมุดไทยเลขที่ ๙๖ แผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง,(เอกสารโบราณ)
ขอขอบคุณแบดนัย โต๊ะเจ ที่นำชมมัสยิดบ้านบนเป็นกรณีพิเศษครับ
เผยแพร่ครั้งเเรกใน - https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/banbon