คาบเต่าคาบใจ : วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

    ระบายฉัตรที่ก้านฉัตรพระธาตุ มองจากด้านล่างจะเห็นเป็นแถบสีแดง ๆ วิ่งเป็นวงรอบทำด้วยโลหะ เท่าที่เคยสำรวจใกล้ ๆ ดูจากผิวแล้วคิดว่าน่าจะเป็นเหล็กหล่อ โดยหล่อมาประมาณ ๓ ถึง ๔ ชิ้นประกอบกันข้างบน เหล็กหล่อที่หนาและใหญ่มากนี้วางอยู่บนแนวเสาหานพระเวียน ๘ ตัน และบางส่วนเสียบเข้าไปในก้านฉัตร

    นอกจากจะทำหน้าที่ตกแต่งแล้ว ระบายฉัตรเหล็กหล่อของพระบรมธาตุนี้น่าจะทำหน้าที่ช่วยรับอิฐที่ก่อเป็นปล้องไฉนสูงขึ้นไปด้านบนด้วย เพราะหากต้องการให้เป็นเพียงส่วนประดับก็น่าจะใช้แค่โลหะบาง ๆ ก็พอ และบางตอนของระบายฉัตรก็ปรากฏการแอ่นตัวกว่าปกติซึ่งดูเหมือนจะเกิดจากน้ำหนักกดทับมากกว่าความผิดพลาดจากการหล่อหรือระหว่างการยกขึ้นไปติดตั้ง

    ที่แถบระบายฉัตรนี้ ออกแบบให้มี ๒ ส่วนหลัก ๆ คือแถบหน้ากระดานซึ่งทำรูปหงส์จำนวน ๔๕ ตัวถมพื้นที่ว่างเอาไว้ให้เต็ม กับแถบที่เป็นระบายด้านล่างทำเป็นกลีบใหญ่มีอุบะคั่น โครงสร้างองค์ประกอบแบบนี้เราพบในชิ้นส่วนเซรามิคประดับเจดีย์ที่ศรีสัชนาลัยชิ้นหนึ่งด้วย

    แนวหน้ากระดานที่เป็นรูปหงส์นั้น มองเห็นลาง ๆ จากด้านล่างแต่สายตาคนปกติน่าจะแทบไม่สามารถจำแนกรายละเอียดได้ เมื่อสำรวจในระยะใกล้ก็จะเห็นว่าช่างก็เพียงทำลวดลายเหล่านั้นไว้เป็นโกลนอย่างหยาบ ๆ เท่านั้นไม่ได้ลงรายละเอียดปลีกย่อยอะไรนัก

    อย่างไรก็ตามแนวหน้ากระดานรูปหงส์นั้นไม่ได้แสดงภาพหงส์บินเวียนไปในทิศทางเดียวกันแบบเรียบ ๆ แต่บางส่วนแสดงภาพหงส์กำลังคาบเต่าซึ่งคุณวันพระ สืบสกุลจินดาเสนอว่ามีที่มาจากกัจฉปะชาดก

    ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าการแสดงภาพจากกัจฉปะชาดกนี้จำเป็นต้องมีความหมายเชิงคติที่สัมพันธ์เป็นองค์รวมกับพระบรมธาตุไหม หรือควรพิจารณาในแง่ความปราณีตในการคิดออกแบบของช่าง แต่นี่ก็ทำให้เห็นความอัศจรรย์ของพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกแวดล้อมไปด้วยรายละเอียดและความใส่ใจในการประดิษฐ์คิดสรรค์มากมายเพื่อหมายจะตั้งไว้เป็นเครื่องพุทธบูชา

ใส่ความเห็น