ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
มีปริศนาใหญ่อยู่อย่างนึงเกี่ยวกับเครื่องพุทธบูชาชิ้นสำคัญบนยอดพระธาตุนี้คือ ที่ฐานของพุ่มดอกไม้ทองเป็นลานทองม้วนเป็นกรวยต่างใบตองของบายศรีนั้น ในลานนั้นมีจารึกอย่างน้อยสี่บรรทัด จารตามยาวของลานซึ่งน่าจะเป็นข้อความที่ยาวมาก แต่เราไม่สามารถอ่านข้อความจารึกลานทองยอดพระบรมธาตุชิ้นที่สำคัญที่สุดนี้ได้ เพราะว่ามันม้วนพันอยู่มาหลายร้อยปีถ้าแกะออกมาก็อาจจะเสียหายทั้งลาน ทั้งเครื่องบูชา
ข้อความจารึกที่น่าจะระบุเรื่องที่สำคัญมากนี้จึงยังเป็นปริศนา มันจารึกโดยใคร ? พูดถึงเรื่องอะไร ? อย่างน้อยเราพอรู้คร่าว ๆ ว่ามันเป็นจารึกที่น่าจะทำในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองเมื่อซ่อมยอดพระบรมธาตุ มันจะใช่จารึกหลวงของราชสำนักอยุธยาว่าด้วยการอุปถัมภ์การซ่อมบรมธาตุสถูปแห่งคาบสมุทรไหม ?
ผมพยายามตามหาคนที่ทันการบูรณะยอดพระบรมธาตุครั้งที่เปิดพบเครื่องบูชาที่ซ่อนอยู่ในปลียอดนี้ ทราบว่า อ.เทิม มีเต็ม ได้ปีนนั่งร้านขึ้นมาตรวจสอบจารึกนี้ด้วยตัวเอง แต่ในเอกสารเผยแพร่ของกรมศิลปากรนั้นไม่ปรากฏคำอ่านจารึกชิ้นนี้เลย
เลยพยายามต่ออีกหน่อยด้วยการหาภาพถ่ายที่พอจะติดข้อความในจารึกลานทองนี้มาแคะดู โดยความช่วยเหลือจากหลายท่าน จากป้าต้อย จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และจากฐานข้อมูลของ The Library at Nakorn ทำให้ได้ภาพถ่ายหลายภาพที่ซูมเห็นข้อความบางส่วน
พบว่าข้อความในลานทองนี้เป็นภาษาไทย เขียนด้วยอักษรขอมไทย ผมอ่านได้เพียงบางส่วนของบรรทัดที่ 4 ตอนปลาย ๆ เพียงประโยคสั้น ๆ พยายามแล้วยังอ่านไม่ได้มากกว่านี้
จากข้อความน้อยนิดที่อ่านได้ ทำให้ยิ่งเสียดายที่เราไม่สามารถอ่านข้อความทั้งหมดของลานทองนี้ได้ เพราะเพียงนิดเดียวที่อ่านได้ก็สำคัญมากจนหัวใจเต้นเร็ว
เพราะมันกล่าวถึงวัตถุในตำนานของเมืองนครชิ้นนึงที่แทบจะถูกลืมเลือนไปแล้วจากความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน วัตถุชิ้นนี้ที่สุดแล้วได้กลายเป็นเครื่องพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุ และน่าจะยังคงอยู่กับองค์พระบรมธาตุในปัจจุบันนี้ โดยได้รับการพิทักษ์ไว้อย่างดี และอย่างลี้ลับที่สุด
ย้อนไป 400 กว่าปีก่อน ชาวนครศรีธรรมราชสมัยอยุธยา ยังคงจดจำตำนานที่เก่าแก่ก่อนยุคสมัยของตนขึ้นไปกว่า 300 ปีได้ และจะเป็นความจริงหรือเรื่องสมมติ พวกท่านเหล่านั้นได้นำเอาสิ่งที่ตกทอดมาจากตำนานอันเก่าแก่มาบูชาองค์พระบรมธาตุแล้วทำจารึกเอาไว้
มันโรแมนติกมาก ยิ่งคนที่รักในตำนาน และศรัทธาในองค์พระบรมธาตุ การได้รู้แม้เพียงเศษเสี้ยวของบุญกิริยานี้ ได้รู้ว่าบรรพชนในอดีตได้เอาของสิ่งนี้ซึ่งถ้านับจนปัจจุบันจะเป็นวัตถุที่น่าจะมีอายุเก่ากว่า 700 ปีมาบูชาพระธาตุ พร้อมด้วยข้าวของอีกหลายอย่างซึ่งน่าจะระบุเอาไว้แต่เราอ่านมันไม่ได้ มันก็ทึ่งมากแล้ว
จารึกเท่าที่อ่านได้ อ่านได้ว่ายังไง วัตถุในตำนานนี้คืออะไร ยังไม่บอกครับ รออ่านในหนังสือมหัฆภัณฑ์วัณณนาฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ฮิฮิ บอกก่อนเลงก๊อบไปเขียนต่อไม่ให้เครดิตอีก ประจำคนพวกนี้ไม่รู้จักคิดจักค้นเอง
สักการะพระธาตุไปตราบเท่าพระศาสนาอรธาน บนยอดบรมธาตุสถูปเมืองนคร ดอกไม้ทองบูชาพระบรมธาตุเมืองนครที่เก่าที่สุดเท่าที่เราพบในปัจจุบัน
ยอดพระบรมธาตุนครที่ถูกซ่อมแปลงใหม่ในต้นทศวรรษที่ 2190 ได้ปรากฏเอลเมนต์ทางสถาปัตยกรรมพิเศษชุดหนึ่งคือ ในชั้นปลีถัดชั้นปล้องไฉนที่โดยทั่วไปควรจะเป็นปลี ลูกแก้วคั่นปลี แล้วต่อปลียอดชะลูดขึ้นไปจบยอดด้วยเม็ดน้ำค้าง ฉัตร หรือพุ่มข้าวบิณฑ์ตามแต่ดีไซน์นั้น กรณีพระบรมธาตุนครได้มีการเติมเอลเมนต์ที่เรียกว่า #ปทุมโกศ ขึ้นมาในตำแหน่งเหนือลูกแก้วคั่นปลี และมีการปรับเส้นทรงปลีเล็กน้อยเพื่อให้รับกับเอลเมนต์ใหม่นี้
ปทุมโกศ นี้มีลักษณะเป็นพานกลีบบัวหงาย จริง ๆ ก็อย่างฟอร์มพานทั่วไป การมีอยู่ของปทุมโกศ หรือพานนี้ หากมองในแง่ดีไซน์ผ่าน ๆ ก็เป็นปริศนา คือ ดูเหมือนเป็นการเพิ่มเอลเมนต์ใส่เข้ามาในยอดให้ยุบยับ ดูละเอียดปราณีตขึ้นแต่โดยไม่มีที่มีที่ไปเท่าไหร่
ในการบูรณะยอดพระบรมธาตุครั้งใหญ่เมื่อ 2537 ขณะเจ้าหน้าที่กำลังค่อย ๆ ทะยอยปลดแผ่นทองไล่จากยอดปลีลงมาถึงตำแหน่งปทุมโกศนี้ พบว่าแกนที่แผ่นทองหุ้มอยู่ซึ่งเป็นโลหะนั้นโคลง ๆ ตรวจพบว่ามีหมุดยึดสามารถถอดปลีในตำแหน่งเหนือปทุมโกศออกมาได้ เมื่อถอดปลีโลหะนั้นออก ก็พบว่ายังมีวัตถุบางอย่างถูกห่อด้วยผ้าส่าหรีเนื้อดีตั้งสูงขึ้นมาจากปทุมโกศ #ดุจเป็นยอดพระธาตุชั้นในที่ถูกซ่อนเอาไว้
ยอดพระบรมธาตุที่ถูกห่อด้วยผ้าส่าหรีเนื้อดีนี้ พอคลี่ผ้าออกก็พบว่ายอดนั้นทำด้วยแผ่นทองพันม้วนเป็นเกลียวขึ้นไป เหนือเกลียวแผ่นทองนั้นประดับด้วยแก้ว มีสายลูกปัดพันอยู่โดยรอบ จบด้วยดอกไม้ทองซึ่งทำเลียนอย่างดอกดาวเรือง เมื่อดูโดยภาพรวมเราจึงเข้าใจได้ทันทีว่ายอดชั้นในนี้ เป็นการแปลงบายศรีปากชามเครื่องสด ให้เป็นบายศรีทองคำ แทนใบตองด้วยแผ่นทอง ดอกบัวด้วยแก้ว และดอกดาวเรืองด้วยทองคำอีกทีที่ยอดสุด
เอลเมนต์ของปทุมโกศที่ปรากฏอยู่เหนือลูกแก้วคั่นปลีนั้นจึงไม่ได้ถูกแทรกเข้ามาเป็นดีเทลโดด ๆ #แต่ทำหน้าที่พานของบายศรีปากชามทองคำ ต่างเครื่องบูชาพระธาตุที่ไม่มีวันบุบสลายโรยรา หากยอดพระธาตุยังไม่ปรักหักพังลงมาเครื่องบูชานี้ก็ยังคงได้รับการพิทักษ์อยู่ในปลีโลหะสืบไป
แต่กระนั้นแม้เราจะพอมองฟังก์ชันของปทุมโกศ และดีไซน์คอนเซปต์ขององค์ประกอบนี้ออก เราก็ยังไม่รู้ชัดอยู่ดีว่าอะไรเป็นแรงบัลดาลใจเบื้องหลังการดีไซน์นี้ ทำไมต้องตั้งพานบายศรีไว้บนยอดเจดีย์ สักการะทั้งพระบรมธาตุ และพระจุฬามณีไปพร้อม ๆ กัน ? (นึกถึงมันมีพระทรายบางแห่ง หรือเจดีย์บางแห่งตอนล่าง ๆ ของภาคใต้ที่มีการเอาบายศรีเครื่องสดไปตั้งบนยอดด้วยเวลาสมโภชน์ แต่ผมก็เห็นมานานจนจำไม่ได้แล้วว่าเห็นที่ไหน)
ยังไม่รู้ที่มาตอนนี้แน่ชัด แต่ก็คิดว่ามันเป็นดีไซน์ล้ำ ๆ คอนเซปต์ก็เท่ และแยบยลมาก ๆ ครับ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ขอบพระคุณ : คุณกษมาณัชญ์ นิติยารมย์ กรุณาเล่าเรื่องผ้าส่าหรีจากปากคำของ อ ก่องแก้ว วีระประจักษ์ครับ
ผอ. และเจ้าหน้าที่ผลการค้นหาหอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่กรุณาให้ความอนุเคราะห์ในการสืบค้นภาพเพื่อใช้ในโครงการปริวรรตเอกสารปฐมภูมิประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช โดยพระครูเหมเจติยาภิบาล (โสภิทร อินฺทโสภิโต ) ครับ
.
เรื่ององค์ประกอบต่าง ๆ ของพระบรมธาตุนครโปรดดู – กระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุ : คำบรรยายลักษณะแห่งพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากเอกสารสมัยอยุธยา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10210867945533388