วะเเตกที่คลองช้าง : ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ กับสีสันชีวิตผู้คนในฤดูฝน

“วะ” ในภาษาไทยถิ่นใต้นั้นมีความหมายระบุอยู่ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ (๒๕๒๕) ว่า “น. แอ่งน้ำ, ทางน้ำ, เช่น ปากวะ-ปากน้ำ, ทางน้ำไหลออก” คำว่าวะนี้เข้าใจว่าคงจะกร่อนมาจากคำว่า “ระวะ” ซึ่งในพจนานุกรมฉบับเดียวกันนั้นได้ระบุความหมายของระวะไว้ว่า “น. ช่องน้ำ, ช่องระบายน้ำลงสู่ทะเล; วะ ก็ว่า”ในหนังสือเรื่องคติชาวบ้านปักษ์ใต้ [1]

ทั้งนี้คุณ Sanusi Ahmat ให้ความเห็นไว้ในใต้โพสนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไว้อย่างน่าสนใจว่าถึงที่มาของคำว่า วะในภาษาไทยถิ่นใต้ว่า “…คงจะเป็น ราวา(Rawa)ในภาษามลายู สำเนียงปาตานีจะออกเสียงเป็น “ราวอ” ถ้าเป็นคำนี้จริง ความหมายราวาคือ เป็นที่ลุ่มน้ำขังตลอดปี น้ำจะเป็นสีใสออกไปทางน้ำตาลใสหรือดำใส พื้นที่ราวาจะอยู่ใกล้ทะเลและน้ำไม่สามารถออกทะเลได้ เว้นแต่ช่วงมรสุมน้ำนองหรือน้ำท่วมน้ำจึงจะออกทะเลได้ รสชาติของน้ำจะออกเปรี้ยว ภาษาไทยเรียกว่า ป่าพรุ…” [2]

ในพื้นที่สงขลาพบว่าคลองต่าง ๆ ที่มีปากคลองเชื่อมกับทะเลอ่าวไทยจะมีปรากฏการตามธรรมชาติเกิดขึ้นเรียกว่า วะคือบริเวณปากคลองจะถูกปิดด้วยทรายที่ถูกคลื่นลมพัดเข้ามา เมื่อถึงฤดูฝนปริมาณน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำในคลองดันให้ทรายที่ปิดปากคลองอยู่ไหลออกเรียกกันว่า “วะแตก” ผู้คนท้องถิ่นสามารถหาประโยชน์จากการที่วะแตกนี้ได้ด้วยการไปรอจับปลาที่บริเวณนี้

เมื่อปีกลายผู้เขียนกับเพื่อนชาวนายู(มลายูปตานี) คุณอับดุลลายิ เง๊าะ ซึ่งตั้งใจเดินทางไปสำรวจชุมชนมุสลิมบนคาบสมุทรสทิงพระ โดยเริ่มต้นจากบ้านหัวเขาไปพบปราชญ์ชุมชนวาอี คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ เพื่อย้อนร้อยเมืองเก่าสงขลายุคสุลต่าน โดยพวกเราเดินทางด้วยพาหนะคือ “รถพ่วงข้าง”เริ่มจากเขาโรงเรียนตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมโบราณที่ปรากฎหลักฐานมาตั้งเเต่สมัยอยุธยา มีสุเหร่าที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบสุเหร่าโบราณที่พบในวัฒนธรรมมลายู – ชวาและไปชมป้อมเมืองตามจุดต่าง ๆ

หลังจากนั้นเราสองคนบอกลาวาอีเเละเดินทางต่อด้วยรถเครื่องไปตามเส้นทางเลียบทะเลสาบ จุดหมายปลายทางอยู่ที่บ้านชุมพลชายทะเล ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา นอนที่บ้านชุมพลชายทะเลหนึ่งคืน รุ่งเช้าเราสองคนได้ตาม วา(ลุง)รอหมีด เจ้าของบ้านที่เราไปอาศัยนอน ไปดูการจับปลาที่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งมีคลองที่กำลังเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า #วะแตก เมื่อไปถึงพบว่ามีคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านทั้งผู้ชายและเด็กชาย ประมาณสิบคนมีเครื่องมือประจำกายคือแห ถังใส่ปลา หรือถุงใส่ปลา กำลังทอดแหจับปลากันอยู่ ผู้ใหญ่ทอดที่บริเวณทะเลตรงปากคลองติดกับทะเล ส่วนเด็ก ๆ นั้น เพื่อความปลอดภัยจึงพากันทอดแหเเละเล่นน้ำถัดเข้ามาด้านในคลองอย่างสนุกสนาน ตัวผู้เขียนนั้นก็สนุกกับการได้ถ่ายภาพวิถีชีวิตการหาอยู่หากินที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ

“วะแตก” จะเกิดขึ้นตามช่วงเวลาที่หมุนเวียนตามฤดูการในหนึ่งรอบปี คลองที่ “วะแตก” นี้เรียกว่า “คลองช้าง” ซึ่งในบริเวณใกล้กันมีสระน้ำที่เกิดจากการสร้างขึ้นของมนุษย์เป็นระบบการจัดการน้ำของผู้คนในอดีตที่อยู่บนคาบสมุทรสทิงพระเรียกว่า “พัง”ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกสระน้ำหรือที่เก็บน้ำ ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในคาบสมุทรสทิงพระ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ

พังที่ใหญ่ที่สุดที่พบคือ “พังพระ” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลชุมพลแห่งนี้เช่นกันห่างจากบ้านชุมพลชายทะเลประมาณ 4 กิโลเมตรใกล้กับวัดพระโคะ ในพังมีดอกบัวจำนวนมากใครผ่านไปวัดพระโคะก็อยากจะชวนให้ไปชมกันกันครับ

การที่คนในหมู่บ้านออกมาจับปลากันเยอะที่บริเวณ “วะแตก” นี้เนื่องจากอยู่ในช่วงมรสุมไม่สามารถออกเรือหาปลาในทะเลได้ เมื่อ “วะแตก” คนในหมู่บ้านจึงเปลี่ยนวิธีการจับปลาจากการออกเรือมาเป็นการทอดแหแทน สีของน้ำในช่วงเวลา “วะเเตก”นี้จะมีสีขุ่นเพราะน้ำในคลองไหลออกมาผสมกับน้ำทะเล อีกทั้งคลื่นมีขนาดใหญ่เเละเเรง ทำให้การทอดเเหในช่วงนี้มองไม่เห็นตัวปลา คนในพื้นที่จึงเรียกว่า “ทอดดม” (ดมในภาษาไทยถิ่นใต้หมายถึง สุ่ม) ปลาที่ทอดได้คือ ปลากระบอกเป็นหลัก รองลงมาคือปลาขี้ตัง

เรื่องราวของ “วะแตกที่คลองช้าง” ซึ่งผู้เขียนนำมาเล่านี้ จะเห็นได้ว่า ผู้คนท้องถิ่นมีวิถีชีวิตที่เรียนรู้และปรับตัวตามธรรมชาติ ฤดูกาล รวมถึงปรากฎการทางธรรมชาติอย่าง “วะแตก” ซึ่งเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ผู้เขียนพบเจอด้วยตนเอง จากบ้านชุมพลชายทะเล

ขวา ลูกหลานชาวนายูบ้านเก้าเเสน(เก้าเส้ง) บริเวณปากคลองสำโรงขณะที่มีทรายปิดปากคลองอยู่ ภาพนี้ถ่ายโดยผู้เขียน

ทั้งนี้ท่านเขมานันทะเคยเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “วะแตก” ที่ชุมชนเก้าเส้ง(บ้านเก้าเเสน) จังหวัดสงขลา ไว้อย่างมีชีวิตชีวา พิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือ “ทางทรายใกล้ทะเลสาบ อัตชีวประวัติช่วงเเสวงหามายาชีวิตของเขมานันทะ” โดยคุณ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เป็นผู้สัมภาษณ์ คุณจารุปภา วะสี เป็นผู้เรียบเรียง ผู้เขียนขอคัดบางส่วนจากหนังสือมานำเสนอดังนี้

“…ผมเริ่มเที่ยว เริ่มมีเพื่อนบางแล้วก็เริ่มรู้จักเที่ยวในเมือง แหล่งที่เที่ยวสมัยโน้นก็ไม่มีอะไร เล่นน้ำเก้าเส้ง หัวนายแรง ซึ่งเป็นที่มาของตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะฤดูวะแตก วะหรือระวะ คือแหล่งน้ำที่เซาะเข้ามาในฤดูคลื่นใหญ่ หลังจากน้ำบ่าเข้ามาแล้วเกิดน้ำขังไว้ในปีนี้ คล้าย ๆ เป็นวังน้ำหรือเป็นบึง ถึงปีหน้า พอคลื่นโหมก็แตก เรียกวะแตก น้ำที่ขังอยู่ก็ไหลออก สนุกมาก เกือบจะเป็นเทศกาลวะแตกชาวสงขลาจะไปกินข้าวกันพาลูกพาหลานไปเล่นวะ เด็กเล็ก ๆไปเล่นได้ไม่อันตราย วะมีหลายจุดใกล้หัวนายแรงจุดหนึ่ง แล้วแต่ว่าปีก่อน ๆ นั้นน้ำโถม เข้ามาและสร้างวังน้ำไว้ที่ใดบ้าง พอปีนี้นำทลายเนินทรายน้ำก็จะไหลลง สนุกมากและมีปลาด้วย…พอถึงวะแตกฝนยังปรอย ๆ อยู่ เพราะอยู่ในฤดูฝน ช่วงนี้เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้เจอหน้าตากัน สมัยก่อนโน้นความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวไม่เปิดเหมือนทุกวันนี้ เพราะว่าชาวใต้หวงน้องสาว หวงพี่สาวแม้แต่ไปเวียนวนรอบบ้านสองรอบเดี๋ยวก็มีเรืองเท่านั้นแอง”

ท่านใดมีประสบการณ์ในฤดู “วะแตกซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในฤดูฝน เชื่อมโยงกับสายน้ำลำคลอง ที่มีปากคลองเชื่อมกับทะเลอ่าวไทย(เลนอก) เกี่ยวพันธ์เป็นวิถีชีวิตที่น่าสนใจ สามารถนำมาบอกเล่า แลกเปลี่ยนกันได้ครับ

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 – https://www.facebook.com/samartsarem/posts/pfbid0B2Jinb7sfTWCsvdyajPJZE9AGjoBYv2z6EYgeHUWeovcJRU7QcrQxbqgcGGnDX3Wl

อ้างอิง

[1] : อ่านเพิ่มเติมใน บทความ เรื่อง หยามวะเเตก ของอาจารย์เอกลักษณ์ รัตนโชต นำเสนอในกลุ่มนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา https://bit.ly/3Fk54sD

[2] : แสดงความเห็นไว้ในนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : https://shorturl.asia/qTN0V

ขอขอบคุณ

คุณWichot Kraithep

คุณ Nukio Luna Jan

Nukio Luna Jan

ชุมชนริมทะเลสาบที่บ้านหัวเขา ที่เขาไม่นับ ???https://m.facebook.com/story.php…

มรดกโลกสงขลา

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น