ตำราสีมาวินิจฉัยเล่มนี้ บางท่านเรียกว่าคัมภีร์มายาวินเพราะมีผู้เขียนชื่อว่า มายาวิน ด้วยสีทองเอาไว้ที่ไม้ประกับเล่ม ประวัติว่าเป็นสมบัติของวัดจันทารามมาแต่เดิม เมื่อคณะทำงานสืบค้นประวัติวัดจันทารามได้ทำการสำรวจเอกสารโบราณของวัด และตรวจสอบคัมภีร์เล่มนี้ พบข้อความอักษรขอมไทยที่ตอนท้ายของหน้าปลายความว่า
“สีมาวินิจฺฉยแลมนี้ เปนของท่านเจ้าคุณกาเฑิมวัดจันทรสางไว้สำมรับพระสาสนาขอไห้เปนปจฺยแกพระโพธิญาณไนอนาค่ดกาลโนนเถิด ข้าพระเจ้าคุณลิมผู้เขียน พึงสรเขียนเจ้าข้า นิพฺพานปจฺจโยโหตุ”
ไม่มีข้อความบอกปีที่ทำ ทั้งนี้วัดจันทารามมีเจ้าอาวาสที่พระครูกาเดิม ๒ รูป คือ
พระครูกาเดิม (หนู) ภายหลังขึ้นเป็นพระครูเหมเจติยานุรักษ์ (ประมาณทศวรรษที่ ๒๔๑๐ – ๒๔๔๐)
พระครูกาเดิม (ทอง) (พ.ศ.๒๔๖๔ – ๒๔๗๒) พระครูกาเดิมทั้ง ๒ ต่างเป็นพระสำคัญของเมืองนครที่มีเคารพศรัทธามาก อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับการช่างด้วยกันทั้ง ๒ รูป
พระครูกาเดิมหนู ในที่พระครูเหมเจติยานุรักษ์ เจ้าคณะเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างพระลากองค์หนึ่งไว้กับวัด เป็นพระลากบุเงินสกุลช่างวัดจันทารามที่เก่าแก่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นพระอุปัฌาจารย์สำคัญของย่านท่าวัง ขณะที่พระครูกาเดิมทอง เป็นพระซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านงานช่าง อุโบสถหลังปัจจุบันของวัดจันทารามเล่ากันว่าได้สร้างขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของท่าน ตัวลักษณะทางศิลปกรรม และตัวอักษรของตำราสีมาวินิจฉัยนั้นก็ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าเขียนขึ้นในห้วงเวลาใดโดยเจาะจง จึงอาจเป็นการยากที่จะระบุว่าตำราเล่มนี้สร้างขึ้นในสมัยของพระครูกาเดิมรูปใด
เผยเเพร่ครั้งแรกใน - https://web.facebook.com/story.php?story_fbid=6207475965960561&id=1108887155819493