ลุ่มเลสาบกับรากมลายูในชื่อปลา : บูหรุด หรือ บุหลุด (Bulus)

“บูหรุด” หรือ “บูหลุด” เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นชื่อท้องถิ่นในหมู่บ้านของผู้เขียนที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หมู่บ้านชาวประมงที่หาอยู่หากินในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง (เลใน) การเรียกดังกล่าวมีรากมาจากชื่อของปลาชนิดนี้ในภาษามลายูกลาง คือ Ikan Bulus” อ่านว่า “อีกัน บูลุส” (อีกัน แปลว่า ปลา) ในขณะที่ภาษามลายูกลันตันเรียกว่า Ikae Buluh อ่านว่า “อีแก บูลุฮ์” ( อีแก แปลว่า ปลา ) [1]

คำเรียกปลาบูหรุดหรือบูหลุดของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ สะท้อนให้เห็นใกล้เคียงกับภาษามลายูกลางเหมือนกับคำเรียกปลาชนิดอื่น ๆ ดังที่ได้เขียนบอกเล่าเอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดีพบว่าบางหมู่บ้านจะเรียกด้วยชื่อภาษาไทยว่า “ปลาทราย” ก็มีเช่นกัน อาทิ ที่บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา บ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งชื่อดังกล่าวพบว่าที่บ้านบางควาย ตำบลท่าไร่ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชก็เรียกด้วยชื่อนี้เช่นกัน[2]

            เป็นที่น่าสนใจว่าในพื้นที่ของอำเภอจะนะเช่นที่บ้านม้างอน ตำบลนาทับ จะเรียกว่า “ปลาบูหรุด” หรือ “ปลาบูลุด” ซึ่งสามารถหาได้ในคลองนาทับเเละในทะเลอ่าวไทย[3] และที่บ้านบ่อโชน ตำบลสะกอมทำประมงในทะเลอ่าวไทยจะเรียกว่า “ปลาบูลุ่ย”[4] นอกจากนี้คุณมาลิกี อารง ให้ข้อมูลว่าภาษามลายูถิ่นที่จังหวัดนราธิวาส (แกแจะนายู) บ้านของเขาเรียกว่า “อีแกบูเตนากอ” มีความหมายว่า “ปลาเม็ดขนุน”[5]

             หนังสือปลาในลุ่มทะเลสาบ หนังสือชุดโครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๒๕๕๒) เก็บข้อมูลเรื่องปลาชนิดนี้ในชื่อ “ปลาเห็ดโคน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Sillago sihama  (Forsskål, 1775) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Silver Sillago พบแพร่กระจายในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ปากทะเล และชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตัวเต็มวัยจะมีการหลบซ่อนโดยการฝังกลบตัวเองอยู่ใต้พื้นทราย[6] ดังนั้นชื่อเรียกว่าปลาทรายในภาษาไทยอาจเป็นการเรียกตามลักษณะการอาศัยของปลาชนิดนี้ก็อาจเป็นไปได้

ที่มา : ศักด์อนันต์ ปลาทอง.(๒๕๕๒).หัวหน้าโครงการศึกษารวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.ปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.พิมพ์ครั้งที่ ๑.สงขลา : ไอดีไซน์ สืบค้นจาก : https://dmcrth.dmcr.go.th/upload/63dw/file/filed-1470042671821-Thai-475.pdf

วิธีการจับ

            “ปลาบูหรุด” เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งทีชาวประมงมีเครื่องมือเฉพาะในการจับเรียกว่า “กัด” (อวน)หรือ “กัดปลาบูหรุด” มีฤดูกาลในการจับด้วย โดยชาวประมงจะมองหาทำเลที่มีลักษณะเป็นหาดทรายบริเวณที่พบปลาชนิดนี้ได้ ด้วยความที่มันอาศัยเป็นฝูง หากใครโชคดีก็จะสามารถจับได้ในปริมาณมาก ส่วนเครื่องมือชนิดอื่นที่ใช้ เช่นคันเบ็ดใช้ตกริมทะเล ส่วนราคาขายในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างดีเพราะอย่างน้อยราคาไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาท

ปลาบูหรุดกับหลายเมนูหรอย

            “ปลาบูหรุด” เป็นปลาที่สามารถทำได้หลายเมนูไม่ว่าจะทอด แกงส้ม แกงเผ็ด หรือต้มก็ได้ทั้งนั้น ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเมนูแกงเผ็ดให้ผู้อ่านได้ลองทำทานกันดูครับ เมื่อได้ปลาบูหรุดมาแล้วทำการ ขูดเกล็ด สับหางสับครีบ ผ่าท้องนำขี้ปลาออกแล้วล่างให้สะอาด ตั้งให้เสด็จน้ำ ขั้นตอนต่อมาคือการเตรียมเครื่องแกงประกอบไปด้วย ตระไคร้ พริกไทย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ขมิ้น กะปิ ใส่เกลือเล็กน้อย ตำให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน

หลังจากนั้นนำน้ำใส่หม้อตั้งไฟ ปริมาณน้ำนั้นจะต้องคำนวณให้พอขลุกขลิกไม่เยอะจนเกินไป เมื่อน้ำเดือด ตักใส่ครกละลายเครื่องแกงแล้วตักใส่หม้อ ใส่ปลาที่เตรียมไว้ลงไป รอจนเนื้อปลาสุก ชิมรสชาติดู สำหรับผู้เขียนนั้นจะชอบให้มีความเผ็ดตามรสเค็มนิด ๆ ไม่ต้องเติมน้ำตาลเพราะเราได้ความหวานจากเนื้อปลาแล้ว อาจใส่ใบมะกรูดหรือใบราลงไปเพิ่มอีกนิดหน่อย เพื่อเพิ่มกลิ่นสมุนไพรเพียงแค่นี้ก็ได้เมนู “ปลาบูหรุดแกงเผ็ด” รสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อนด้วยเครื่องแกงที่ตำเองทานคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ

            ปลาบูหรุด หรือ ปลาบูหลุด เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแม้ว่าจะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้แต่ยังคงเรียกชื่อด้วยคำมลายูและมีความใกล้เคียงกับภาษามลายูกลาง ในขณะชื่อเรียกภาษาไทยก็ถูกเรียกใช้เรียกเช่นเดียวกันคือปลาทราย ส่วนชื่อ “บูลุ่ย” ผู้เขียนเชื่อว่ามีรากมาจากคำว่า Bulus เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

[1] : สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณ Adi Assauri

[2] : สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณสุมาลี สุโขพน

[3] : สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณอาคีรัต หมัดหมัน

[4] : สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณนูหรี โต๊ะกาหวี

[5] : สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณมาลิกี อารง

[6] : ศักด์อนันต์ ปลาทอง.(๒๕๕๒).หัวหน้าโครงการศึกษารวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.ปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.พิมพ์ครั้งที่ ๑.สงขลา : ไอดีไซน์

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น