เจดีย์ปะการังที่ขนอมนี้ ผมได้แวะเข้าไปสำรวจรังวัดกับน้องสาวเมื่อซักสองปีก่อน ขากลับจากเที่ยวทะเลขนอม เพิ่งได้หยิบแบบรังวัดมาทำสามมิติ มาลองชม ลองแคะกันครับ
การขึ้นทะเบียน
กรมศิลปากรประการศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2541 ในชื่อโบราณสถานเจดีย์เขาธาตุ บ้านท่าจันทร์ ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่โบราณสถาน 56 ตารางวา
ลักษณะโบราณสถาน
เจดีย์ปะการัง ได้ชื่อนี้ เพราะถูกสร้างด้วยหินปะการังแต่ไม่ใช่ทั้งองค์ แกนภายในยังคงเป็นแกนอิฐตามภาพสามมิตินี้ แล้วจึงก่อผิวด้านนอกด้วยหินปะการัง โดยเกลาหินเป็นรูปทรง เช่นบัวคว่ำ บัวหงาน ปล้องไฉน ไม่พบว่ามีการสอปูนในส่วนนี้ น่าจะอาศัยความสากของพื้นผิวปะการัง และน้ำหนักในการคงรูปของโบราณสถาน
ตำนานกล่าวว่าเจ้าเมืองไชยาสร้างเจดีย์นี้ขึ้นเพื่อฝังทรัพย์สินเงินทองที่เจ้าเมือง และประชาชนรวบรวมจะนำไปช่วยสร้างพระบรมธาตุเมืองนคร แต่พระบรมธาตุสร้างเสร็จก่อน
เจดีย์ปะการังนี้ถล่มลงมาเหลือระดับองค์ระฆัง ยังมีแนวของบัลลัง 8 เหลี่ยมอยู่เล็กน้อย การบูรณะคืนรูปของกรมศิลปากรจึงได้ก่อบัลลังเป็น 8 เหลี่ยม ซึ่งออเดอร์เช่นนี้ออกจะคล้ายกับเจดีย์ที่วัดควนชะลิก ที่หัวไทร นครศรีธรรมราช
จากการขุดค้นทางโบราณคดีรอบบริเวณ และโบราณวัตถุที่ยังตกค้างในห้องกรุของเจดีย์พบภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยสุโขทัยจากเตาศรีสัชนาลัย เครื่องถ้วยพื้นเมือง และพระพิมพ์ขนาดเล็ก รวมทั้งเครื่องประดับเช่นแหวนทอง ก่อนทองคำ และอัญมนีภายในห้องกรุของเจดีย์
กรมศิลปากรกำหนดอายุเจดีย์หลังนี้อยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ 19 – 22 ซึ่งค่อนข้างกว้าง ผมเองก็ไม่มีไอเดียที่จะกำหนดให้แคบกว่านี้ แต่คิดว่าหากจะสืบให้ชัดเจน ก็น่าจะต้องลองเก็บตัวอย่างสถูปทรงระฆังที่เชื่อกันว่าเป็นการจำลองพระบรมธาตุนคร ที่กระจายตัวตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยเพิ่มเติมอีกซักหน่อย
ปะการัง วัสดุก่อสร้างพื้นถิ่นของภาคใต้
ปะการังที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเป็นปะการังหินปูน (Order Madreporaria, Stony Coral) การเกิดขึ้นของปะการังอยู่ในเขตที่มีอุณหภูมิอบอุ่น และน้ำตื้น ไม่เกิน 30 องศาเหนือ – ใต้ จากแนวเส้นศูนย์สูตร
ปะการังนั้นเบา เนื่ออ่อนเกลารูปทรงได้ง่าย ตลอดจนในกรณีที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างโบราณสถาน ผิวปะการังมีความสาก ด้วยสร้างแรงเสียดทานให้โครงสร้างยึดเกาะกันได้ดี กรณีที่มีการฉาบผิวด้วยปูน รูพรุนที่ผิวปะการังก็ยังสามารถยึดเกาะปูนไว้ได้มั่นคง
มีการใช้ปะการังทั้งการใช้เป็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม เช่นเป็นผิวสถูป และใช้ในการสร้างประติมากรรม เช่น สลักเป็นพระพุทธรูป หรือใบเสมา อย่างกว้างขวางตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่แถบเกาะสมุย ยาวลงไปจนถึงสทิงพระ
ที่เกาะสมุย มีการใช้หินปะการังมาทำเป็นพะนอ หรือหินรองเสาเรือน และพระพุทธรูปในวิหารวัดสำเร็จ เกาะสมุยกว่า 70 องค์ก็สร้างด้วยหินปะการัง
เจดีย์ประธาน และบริวารที่วัดเจดีย์งาม สทิงพระ ก็ได้รับคำอธิบายว่าถูกสร้างขึ้นด้วยหินปะการังเช่นกัน
โบราณวัตถุสถานในนครศรีธรรมราชที่ใช้หินปะการัง
จากการศึกษาของ คุณอรุณศักดิ์ กิ่งมณี พบโบราณวัตถุสถานในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ใช้หินปะการังเป็นวัสดุก่อสร้าง 5 แห่ง ได้แก่
1.วัดเขาธาตุ (เจดีย์ปะการัง) ต.ท้องเนียน อ.ขนอม ใช้หินปะการังเป็นวัสดุก่อสร้างเจดีย์ โครงสร้างของสถูปเป็นอิิฐ ผิวด้านนอกใช้ปะการังตัดแต่งเป็นก้อนอิฐก่อขึ้นมาเป็นสถูป
2.วัดกำแพงยาว ต.บ้านราบ อ.หัวไทร พบการใช้หินปะการังเป็นฐานเสา และแกะสลักเป็นประติมากรรม
3.วัดเขาปู่ ต.บ้านราม อ.หัวไทร ใช้หินปะการังเป็นวัสดุก่อสร้างเจดีย์ โครงสร้างของสถูปเป็นอิิฐ ผิวด้านนอกใช้ปะการังตัดแต่งเป็นก้อนอิฐก่อขึ้นมาเป็นสถูป
4.วัดบ่อโพง ต.บ้านราบ อ.หัวไทร โบราณวัตถุที่วัดนี้ได้เก็บมาจาก วัดหรัง (วัดปะการัง – ร้าง) ประกอบด้วยประติมากรรมรูปสัตว์มีความชำรุดมาก มีใบเสมาแกะจากหินปะการังเหลือเฉพาะส่วนฐาน
5.วัดนาขอม ต.สิชล อ.สิชล พบซากโบราณสถานก่อด้วยหินปะการัง ไม่ทราบสันฐานแน่ชัด
โปรดดูเพิ่มเติมใน – “ปะการัง”กับโบราณวัตถุสถานในนครศรีธรรมราช – อรุณศักดิ์ กิ่งมณี – วารสารรูสมิแล Vol. 10, No. 2 (1987)