เคยถาม ๆ กับมิตรสหายว่า วัดพระบรมธาตุไชยา ได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรวิหาร จากพระอารามหลวงชั้นตรี ได้ยังไงด้วยกระบวนการไหน ดูเหมือนว่าเรายังเข้าใจเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นไม่ครบถ้วนแจ่มชัดเท่าไหร่ ได้มาอ่านเล่มนี้ซึ่งถ่ายภาพมาจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ชื่อ อนุสรณ์ คุณแม่ล้อม นีลวัฒนานนท์ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๑๐ เลขทะเบียน BIA-P.1/60-17
มีลายมืออาจารย์พุทธทาสเขียนหน้าปกว่า ปรับปรุงเมืองไชยา (พ.ศ.2490-2500)
มีรายละเอียดที่ พล.ต.ต. พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ยื่นเรื่องขอยกฐานะวัดขึ้นพระอารามหลวงทั้งตรี และเอก เรียบเรียงพร้อมแนบเอกสารเอาไว้ ให้ความเข้าใจและลำดับเหตุการณ์แจ่มแจ้งมาก น่าจะใช้เป็นอ้างอิง หรือประกอบการเรียบเรียงประวัติวัดได้ในอนาคต โดยสรุปคือ เมื่อแรกขอยกวัดพระธาตุ เมืองไชยาขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้น พล.ต.ต. พัฒน์ เสนอเพียงขอยกเป็นพระอารามหลวง ไม่ได้ระบุเสปค จึงได้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
ต่อมาอาจารย์พุทธทาสเมื่อมาครองวัดพระธาตุ ได้เสนอว่าวัดมีภูมิหลังเก่าแก่ และมีความสำคัญ น่าจะยกฐานะได้สูงกว่าชั้นตรี พล.ต.ต. พัฒน์ จึงทำหนังสือขอพระบรมราชวินิจฉัยยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอีก ๒ ครั้ง ครั้งแรกไม่สำเร็จ ครั้งที่ ๒ ได้พยายามล๊อบบี้คณะสงฆ์ และพระสังฆาธิการระดับสูงให้รับทราบความสำคัญของวัดพระธาตุไชยา ในที่สุดเมื่อ ๒๕๐๐ จึงได้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และได้ชื่อวัดใหม่ จากวัดพระธาตุไชยา เป็นวัดพระบรมธาตุไชยา มาจนทุกวันนี้
พล.ต.ต. พัฒน์ เป็นผู้ขวนขวายหาทางพัฒนาวัดพระบรมธาตุไชยาคนสำคัญมากคนหนึ่ง นอกจากเรื่องขอยกฐานะพระอารามหลวงแล้ว ยังได้พยายามหางบประมาณของรัฐบาลมาสร้างวิหารหลวงหลังใหม่ พอดีได้งบกึ่งพุทธกาลมา หน้าบันวิหารหลวงจึงได้ทำเป็นรูปพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทัศน์ เป็นอนุสรณ์
พล.ต.ต. พัฒน์ ปรารภว่าเมืองไชยาเป็นบ้านเกิดของมารดา จึงได้พยายามทำหลาย ๆ ประการเพื่อพัฒนาพื้นที่นี้ กึ่งอำเภอประสงค์ที่ถูกยุบไป ได้กลับมาใหม่จนยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอท่าชนะก็ด้วยการผลักดันของบุคคลท่านนี้ นับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่น่าทำความรู้จักคนหนึ่ง
เห็นความพยายามของคนรุ่น 60 – 70 ปีก่อนในการพัฒนาบ้านเมือง และวัดพระธาตุแล้ว ย้อนมาดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดพระบรมธาตุปัจจุบันนี้ ทั้งลานตากข้าวยักษ์ ทั้งร้านค้าบังพระธาตุ มีหลายคนพูดว่านี่เป็นการพัฒนา เพราะสนามหญ้าฝนตกก็เละเทะ จอดรถจัดงานไม่ได้ หรือร้านค้าจะบังไม่บังมันอยู่ที่ใจ ผมว่าถ้าเอาใจใส่กับรายละเอียดบ้างมันหาทางออกในการจัดการที่ดีกว่านี้ได้อีกมาก
ที่เป็นอยู่นี้หากเรียกว่าการพัฒนา ผมก็คิดว่าเป็นการพัฒนาที่น่าอาย พูดกับใครไม่ได้ว่าเป็นผลงานที่ฝากไว้กับลูกหลาน อวดใครไม่ได้ หาความภูมิใจไม่ได้ ใส่ในหนังสืองานศพตนเอง หรือบุพการีก็ไม่ได้ว่าเป็นงานของตน ที่พิมพ์มานี้ผู้เกี่ยวข้องอาจไม่ชอบใจ ไม่สบายใจ แต่ก็พูดในฐานะของคนสุราษฎร์ธานีคนหนึ่งครับ เชื่อว่าปัญหามันแก้ได้ ความผิดพลาดที่ลงไปแล้วถ้าคิดปรับแก้เมื่อสังคมติติง อย่างไรเสียก็ยังทันกาล
ผมคัดส่วนเกี่ยวข้องกับการยกฐานะวัดพระบรมธาตุในหนังสือนี้มาไว้ดังนี้ครับ
#ปณิธานเรื่องยกวัดราษฎร์เป็นวัดหลวง “ในโอกาสที่ออกมาตรวจสถานที่ตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอไชยาเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสร้างสถานที่ถาวรเสร็จ ได้ฉวยโอกาสนั้นมานมัสการพระบรมธาตุและชมพิพิธภัณฑ์ ในโอกาสเดียวกันนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า วัดพระธาตุเป็นอารามที่มีสิ่งสำคัญและถาวรวัตถุอยู่มาก ควรจะนำความกราบบังคมทูลยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง ได้ จึงได้ตั้งความปรารถนาที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ดุจเดียวกับที่เคยตั้งความปรารถนาในการจัดตั้งศาลขึ้นที่อำเภอไชยาซึ่งก็ได้เป็นผลสำเร็จไปแล้ว
โดยสัจประณิธานอันนี้ ข้าพเจ้าขออานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย จงช่วยดลบันดาลให้ข้าพเจ้าดำเนินการเรื่องขอยกฐานะวัดพระธาตุเป็นพระอารามหลวง เพื่อเป็นผลสำเร็จสมความปรารถนาด้วย “เทอญ”
ข้อความข้างต้นนี้ คัดออกมาจากสมุดเยี่ยมที่มีอยู่ในสาขาพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ในวัดพระบรมธาตุไชยา ซึ่งได้บันทึกคำประณิธานนี้ลงไว้ในสมุดเยี่ยมนั้นเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ ก็เริ่มดำเนินการมีหนังสือเป็นทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกฐานะวัดพระบรมธาตุไชยา กับวัดธรรมบูชาที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวัดราษฎร์ทั้ง ๒ วัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง #วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย วัดธรรมบูชาเป็นวัดฝ่ายธรรมยุต ในที่สุดได้มีแจ้งความกระทรวงศึกษาธิการลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๐ แจ้งให้ทราบว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะของวัดทั้ง ๒ ดังกล่าวขึ้นเป็นพระอารามหลวง…
#เรื่องยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก
เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดให้ยกฐานะของวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง ดังปรากฏตามแจ้งความกระทรวงศึกษาธิการแล้วนั้น #ท่านเจ้าคุณพระราชชัยกวี (อาจารย์พุทธทาส – ผู้โพสต์) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดพระบรมธาตุไชยาในตอนที่ได้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้น ได้ท้วงขึ้นว่า
ฐานะของวัดพระบรมธาตุไชยา น่าจะยกระดับสูงกว่าพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เพราะเป็นวัดที่มีประวัติและสิ่งสำคัญมากกว่าหลายวัดที่เป็นพระอารามหลวงอยู่ก่อนเวลาที่ยกฐานะวัดพระบรมธาตุไชยา เมื่อได้ยินคำท้วงขึ้นมาเช่นนี้ จึงทำให้ต้องหันมาศึกษาเรื่องพระอารามหลวงว่ามีกี่ชั้นและกี่ชนิด เพราะตอนที่ขอยกฐานะในครั้งแรกนั้นไม่มีความรู้ละเอียดถึงขนาดนั้น เพียงแต่รู้ว่ามีวัดราษฎร์กับวัดหลวงเท่านั้น ในการทำหนังสือขอให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงในครั้งแรกนั้น จึงขอไปกว้าง ๆ ว่าขอยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยไม่ได้กำหนดว่าขอยกขึ้นเป็นชั้นและชนิดใด
เมื่อได้รับการทักท้วง และมาได้ค้นกฏเกณฑ์จนพบในประกาศพระบรมราชโองการเรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๕๘ ว่ามีตั้งแต่ชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ลงไปจนถึงชั้นตรีชนิดสามัญเป็นที่สุด ก็ได้ตั้งประณิธานอีกครั้งหนึ่งว่าต้องหาโอกาสขอยกวัดพระบรมธาตุไชยาให้ขึ้นสู่ระดับที่ควรแก่ฐานะให้ได้
และชื่อของวัดที่ยังไม่เป็นที่ยุติด้วยนั้นก็จะขอให้มีชื่อที่แน่นอน โดยอาศัยแนวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวางกำหนดเรื่องให้ชื่อสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงชื่อของวัดไว้อีกด้วย…
จากที่ได้ตั้งประณิธานไว้ ในครั้งหลังนี้จึงได้ดำเนินการต่อมารวม ๒ ครั้งด้วยกัน แต่ในครั้งแรกถูกยับยั้งเสียระหว่างทางจึงยังไม่เป็นผลสำเร็จ พอใกล้จะมีการเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้หยิบยกขึ้นมาดำเนินการอีก โดยได้มีหนังสือที่ ๔๒๗/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ เรียนนายกรัฐมนตรีพร้อนกันนั้นได้มี หนังสือลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ เรียนเจ้าคณะตรวจการภาค ๘ พร้อมกับทำหนังสือในนามของเจ้าคณะตรวจการภาค ๘ ถึงกรมการศาสนา มอบให้ท่านพระครูศรีธวัชธคุณาภรณ์ (พระมหาเจริญ) วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นเลขานุการของเจ้าคณะตรวจการภาค ๘ อยู่ในขณะนั้นช่วยดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง
แต่แม้กระนั้นจากการติดตามรู้สึกว่าความหลังออกจะห่างไกล เพราะก่อนนั้นเพียงระยะไม่ห่างกันนัก ที่จังหวัดเพชรบุรีขอเลื่อนวัดชื่อวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดชั้นตรี ชนิดวรวิหารขึ้นเป็นชั้นโท ได้ถูกระงับไปแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ช่วยแจ้งให้ทราบว่าคงต้องถูกระงับเช่นเดียวกัน
ความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการขอเลื่อนวัดพระบรมธาตุไชยา จากชั้นตรีชนิดสามัญขึ้นเป็นถึงชั้นเอกนัั้นควรที่จะถูกระงับมากยิ่งขึ้น แต่เพราะยังเชื่อมั่นในแรงของประณิธานอยู่ จึงได้มีหนังสือที่ ๕๔๖/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๙ กราบเรียนสังฆนายก วัดเบญจมบพิตร (ซึ่งต่อมาทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช) ขอให้เป็นกำลังสนับสนุนพระพุทธศาสนาทางภาคใต้ โดยได้อ้างเหตุผลประกอบไปหลายประการด้วยกัน
ครั้นต่อมา ได้รับหนังสือของเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมที่ ๙๘/๒๕๐๐ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๐๐ แจ้งให้ทราบว่า “…#ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เลื่อนฐานะวัดพระธาตุไชยาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และให้มีนามว่า “วัดพระบรมธาตุไชยา” ตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ แล้ว…”
อนึ่ง ขอให้สังเกตว่า เริ่มยกวัดพระบรมธาตุไชยาขึ้นเป็นพระอารามหลวงครั้งแรก คือครั้งที่ได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นั้น โปรดให้ยกเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๑ และเลื่อนขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร พร้อมกับให้มีชื่อว่า “วัดพระบรมธาตุไชยา” เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีที่มีพิธิเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ นั้นเป็นเวลาห่างกันนับโดยปีได้ ๑๐ ปีพอดี…
เผยแพร่ครั้งแรกใน -https://web.facebook.com/groups/menamluang/permalink/2040565549451844/