“บ้านหนองบัว”ตั้งอยู่ที่หมู่ ๕ ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ณ หมู่บ้านแห่งนี้ มีประชากรชาวไทยมุสลิมหรือที่ชาวบ้านเหล่านั้นเรียกขานตัวเขาเองว่า คนแขก[1] อาศัยอยู่ประมาณร้อยละ ๘๐ นอกจากนี้ในหมู่บ้านเดียวกันยังมีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยร้อยละ ๒๐ ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดต่อกับบ้านเรือนของคนแขกที่อยู่ทางทิศตะวันออก บางส่วนอยู่แยกออกไปด้านนอกบริเวณถนนใหญ่ทางเข้าหมู่บ้าน
บริเวณบ้านคนแขกจะมีมัสยิดของหมู่บ้านที่ใช้สำหรับประกอบศาสนกิจทางศาสนาอิสลามร่วมกันของคนในชุมชนใกล้กับมัสยิดมีสุเหร่าหลังเดิมที่ใช้งานมาก่อนสร้างมัสยิดสร้างด้วยไม้ชั้นล่างมีลักษณะเป็นที่โล่งไว้สำหรับเป็นพื้นที่ทำบุญเลี้ยงอาหาร ห่างไปจากมัสยิดประมาณ ๖๐๐ เมตรจะมีอาคารทางศาสนาที่เรียกว่าบาลาย[2]อีกหนึ่งหลัง ทั้งมัสยิดและบาลายต่างถูกใช้ในการทำบุญเหมือนกัน
ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากคนแขกบ้านหนองบัวโดยใช้ทั้งวิธีการสัมภาษณ์จากผู้รู้ และจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเองที่ได้ร่วมสังเกตในพิธี ได้ลงไปเก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อวันที่ ๒๖- ๒๘ ของเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๓ และมีโอกาสเข้าร่วมประเพณีนี้เมื่อกลางคืนของวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๓
โดยมีคุณสมรักษ์ สุวรรณโณ บัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นผู้ให้ที่พักและพาผู้เขียนไปพูดคุยสัมภาษณ์ข้อมูลกับคนในหมู่บ้านตลอดทั้งสามวันของการเก็บข้อมูล ทั้งนี้บทความชิ้นนี้ผู้เขียนมีจุดประสงค์หลักเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในพื้นที่ชุมชนคนแขกบ้านหนองบัวที่ผู้เขียนได้พบเจอมาเป็นสำคัญ
นูหรี (ทำบุญ) ทูดถาดค่ำศุกร์ ความหมายและที่มา
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า “นูหรี” ที่คนแขกพูดในภาษาไทยถิ่นใต้กร่อนมาจากคำมลายู กึนดูรี (Kenduri ) นั่นเอง ซึ่งโดยหลักใหญ่ใจความแล้วนั้น นูหรี คือการประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ตามความเชื่อของคนแขกท้องถิ่น โดยมีผู้รู้ทางศาสนามาร่วมประกอบพิธี ทั้งนี้อาจจะมีพิธีกรรมย่อยบางอย่างที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเข้าประยุคร่วมด้วย และมีความน่าสนใจพบว่าการทำนูหรีเป็นลักษณะเฉพาะของมุสลิมในวัฒนธรรมมลายู – ชวาที่ไม่พบในวัฒนธรรมมุสลิมอาหรับ
ส่วนทูนถาดค่ำศุกร์ หมายถึง การจัดสำรับอาหารใส่ถาดแล้วพาไปทำบุญโดยการทูนในเวลากลางคืนของวันพฤหัสบดี ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำบุญกลางคืนวันพฤหัสบดีแล้วเหตุใดถึงเรียกว่าค่ำศุกร์ ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าการนับวันของคนแขกนั้นจะต่างจากการนับแบบสากล กล่าวคือจะนับวันใหม่หลังจากตะวันลับขอบฟ้า (ตกดิน)เป็นการนับตามหลักการทางศาสนาอิสลามมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมอาหรับไม่ได้นับโดยใช้เวลาเที่ยงคืนเหมือนกับสากลซึ่งการนับเวลาดังกล่าวกลางคืนของวันพฤหัสจึงเรียกว่าค่ำวันศุกร์ กลางคืนของวันศุกร์จึงเรียกว่าคำวันเสาร์
ผู้เขียนได้เริ่มเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุหลายคนในบ้านหนองบัว พบว่า “…ทูนถาดค่ำศุกร์คือการทำบุญเลี้ยงอาหารเพื่ออุทิศผลบุญให้กับบรรพชนที่ล่วงลับ เป็นประเพณีนี้ทำสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษอยู่คู่ชุมชนมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี และจะทำในเวลากลางคืนของวันพฤหัสบดีเท่านั้น เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าในคำคืนนี้บรรพชนที่ล่วงลับซึ่งอยู่ในโลกหลังความตายหรือที่เรียกตามภาษาอาหรับว่า อาลัมบัรซัก (โลกระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า) จะได้รับอนุญาตจากพระเจ้า (อัลลอฮ์) ให้กับมาเยี่ยมลูกหลาน…” เป็นที่น่าสังเกตว่าบ้านของผู้เขียนที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีคติความเชื่อนี้ด้วยเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้มีประเพณีที่คนทั้งหมู่บ้านจัดสำรับอาหารเพื่อทำบุญร่วมกันที่มัสยิดของหมู่บ้านเหมือนกับที่บ้านหนองบัว
อย่างไรก็ดีการทำบุญให้บรรพบุรุษในทุกค่ำคืนวันพฤหัสบดีที่คนแขกบ้านหนองบัวทำนั้น พบว่าชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดสงขลาก็มีการทำเหมือนกันเช่น คนแขกบ้านทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา คนแขกบ้านหนองบ่อ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่น่าเสียดายที่สองหมู่บ้านนี้ยกเลิกประเพณีนี้ไปแล้ว นอกจากนี้พบว่าบางชุมชนจะนำอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ทำบุญให้บรรพชนในช่วงกลางวันของวันศุกร์ก็มีเช่นกันโดยแจกจ่ายให้กับผู้ชายที่มาร่วมละหมาด ของที่นำมาจะใส่ถุงเป็นชุด ๆ ไม่ได้จัดเป็นสำรับแล้วรับประทานร่วมกันเหมือนที่บ้านหนองบัว ที่ทำรูปแบบนี้เช่น คนแขกบ้านบน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น คนแขกบ้านสวนมะพร้าว ตำบลในเมือง คนแขกบ้านท่าช้าง ตำบลคลัง ฯลฯ
ทั้งนี้การทำนูหรีของคนแขกบ้านหนองบัวยังมีอีกหลายงานเช่น นูหรีขึ้นบ้านใหม่ นูหรีรถใหม่ นูหรีขึ้นเปล(สำหรับเด็กแรกเกิด) ตลอดจนนูหรีเกี่ยวข้องกับผู้วายชน จะเป็นการทำบุญให้ผู้ล่วงลับ นูหรี ๓ วัน นูหรี๗ วัน นูหรี ๔๐ วันเป็นต้น
ลำดับขั้นตอนของพิธีกรรม
เมื่อใกล้ถึงเวลาละหมาดกลางคืน (วักตูอีฉา) เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ นาฬิกา ชาวบ้านผู้หญิงส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุจะทูนสำรับอาหารที่จัดใส่ถาดมาที่มัสยิด ส่วนกลุ่มบ้านย่อยที่อยู่ใกล้บาลายจะทูนไปที่บาลาย ผู้เขียนได้ร่วมพิธีที่มัสยิดแต่ระหว่างทางเดินไปมัสยิดได้ผ่านทางบาลาย จึงมีโอกาสเจอกับพี่สาววัยกลางคนใบหน้ายิ้มแย้มบนศรีษะกำลังทูนถาดสำรับอาหารมาที่บาลาย จึงได้หยุดพูดคุยและขอบันทึกภาพไว้ แล้วเดินต่อมาที่มัสยิดพบว่าชาวบ้านนำถาดสำรับอาหารมาตั้งไว้ที่ใต้ถุนของสุเหร่าจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบเพื่อรอเวลาทำพิธีแล้วเช่นเดียวกัน โดยจะทำหลังจากละหมาดอีฉาเสร็จ
เมื่อละหมาดเสร็จอีฉาเสร็จแล้วผู้ชายออกจากมัสยิด เดินมาที่ใต้ถุนสุเหร่าแล้วนั่งล้อมวงสำรับอาหาร ที่ตั้งไว้เป็นแถวอย่างเป็นระเบียบโดยกลุ่มผู้หญิงเป็นผู้ทำไว้ ผู้เขียนกับคุณสมรักษ์ สุวรรณโณก็นั่งร่วมในวงพิธีด้วยเช่นกัน[3] ส่วนผู้หญิงนั่งแยกเว้นระยะห่างจากผู้ชาย เพราะเป็นไปตามหลักการทางศาสนาที่ไม่อนุญาตให้ชายหญิงนั่งปะปนกัน เริ่มทำพิธีด้วยการให้ผู้รู้ทางศาสนาเป็นผู้นำในการทำพิธีโดยให้โต๊ะอีหม่ามหรือผู้รู้ศาสนาท่านอื่นก็ได้จะเรียกผู้รู้ทางศาสนาที่ทำพิธีทั้งหมดว่า โต๊ะหรือโต๊ะบัย พิธีดัลกล่าวเรียกว่า อัรวะ คือการอ่านอัลกุรอ่าน ขอพร(ดุอาร์) ให้กับผู้ล่วงลับสำหรับในคำคืนนี้ผู้นำทำพิธีคืออดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบัว เป็นคนหนุ่มอายุประมาณ ๓๕ ปี โดยเริ่มจาก
๑. อ่านซูเราะห์อัลฟาตีฮะ
๒.อ่านสี่ซูเราะห์คือซูเราะห์ อัน-นาส, อัล-ฟะลัก, อัล-อิคลาศ และ อัล-กาฟิรูน (เรียงตามลำดับ)
๓.ทำการลาเต็บหรือซีเกร ๑๐๐ ครั้ง การรำลึกถึงพระเจ้า
๔.อ่านซูเราะห์ อัล-บะเกาะเราะฮ จำนวนเพียงเจ็ดประโยคจากทั้งหมด ๒๖ ประโยค
๕.ขอดูอาร์จากพระเจ้าให้ผลบุญที่ได้จากการทำบุญเลี้ยงอาหารให้กับบรรพชนผู้ล่วงลับ
หลังจากทำพิธีเสร็จผู้ชายก็จะทำการรับประทานอาหารในถาดที่วางอยู่ตรงหน้าของตนเองเมื่อรับประทานเสร็จก็จะนำจานช้อนไปล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาไว้ในถาดที่ตนรับประทานแล้วผู้ชายแยกย้ายกันกลับบ้าน เหลือไว้เพียงผู้หญิงที่จะมารับประทานอาหารที่เหลืออยู่ในถาดของตนต่อ โดยเชื่อว่ากับข้าวที่เหลือจากโต๊ะหรือโต๊ะบัย รับประทานแล้วนั้นมีความบารอกัต (เป็นศิริมงคล)และได้บุญ คล้ายๆ กับคติของคนไทยพุทธในการกินข้าวก้นบาตรพระที่เชื่อว่าได้บุญ เมื่อทานเสร็จก็แยกย้ายโดยทูนถาดของตนเองกลับบ้าน ทั้งนี้หลังจากผู้ชายทานเสร็จ ผู้หญิงบางส่วนไม่ได้นั่งทานอาหารต่อที่มัสยิดแต่จะทูนถาดของตนกลับบ้านเพื่อไปทานร่วมกับครอบครัวของตน
อาหารในสำรับ
อาหารที่จัดสำรับในถาดเพื่อใช้ทำบุญพบว่ามีความหลากหลายของเมนูอาหาร แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ขึ้นอยู่กับความพร้อม แต่มีทำเนียมการจัดสำรับที่เหมือนกันคือจะต้องมีทั้งอาหารคาว ของหวาน และผลไม้ ในหนึ่งถาดจึงประกอบไปด้วย ข้าวเปล่า ๒ จาน แกงอาจจะเป็นแกงปลา ไก่ หรือเนื้อ ปลาทอด น้ำพริก ผักต่างๆ ส่วนผลไม้เช่นแตงโม กล้วย ส้ม และมีน้ำเปล่าใส่ในแก้วด้วย
ปัจจุบันและอนาคตของการทำบุญทูนถาดค่ำศุกร์
ปัจจุบันการทำบุญทูนถาดค่ำศุกร์ ถือได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มที่อาจจะหายไปจากพื้นที่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากผู้รู้ทางศาสนาบางส่วนได้วินิจฉัยว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมที่ขัดกับหลักการทางศาสนา เพราะไม่มีในอาหรับ อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็มักไม่ได้สานต่อประเพณีโบราณที่ทำกันมานัก ในส่วนของชาวบ้านที่ยังทำอยู่บอกว่าสมัยก่อนมีการยกสำรับมาทำบุญคำศุกร์ทุกครอบครัวแต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีแค่บ้างบ้านเท่านั้นที่ยังทำ
สรุป
ประเพณีการทำบุญทูนถาดค่ำศุกร์ของคนแขกบ้านหนองบัว สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยคติความเชื่อดั่งเดิมที่มีมาก่อนการนับถือศาสนาอิสลาม เช่นการเรียกพิธีการทำบุญว่า นูหรี นั้นก็เป็นคำมลายู ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงกับคติวัฒนธรรมของชาวมลายูดั่งเดิมที่ให้ความสำคัญกับบรรพชนที่ล่วงลับซึ่งแม้ต่อมาเมื่อหันมารับอิสลามแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบางอย่างโดยประยุคใช้รูปแบบทางศาสนาอิสลามเข้ามาร่วมด้วย นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นชุมชนของคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่นอกจากจะดำรงชีวิตอยู่ในหลักการทางศาสนาแล้วยังมีประเพณีที่เป็นของชุมชน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พี่น้องต่างสาศสนิกสามารถเข้าร่วมได้อีกด้วย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นอีกหนึ่งบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตของคนแขกในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งวิถีชีวิตท้องถิ่นเหล่านี้นับวันก็จะมีความเลือนล่างและอาจจะหายไปจากพื้นที่ในอนาคตอันใกล้นี้
ขอขอบคุณ
๑.คุณสุขิย๊ะ สายสลำ อายุ ๗๒ ปีผู้สูงอายุบ้านหนองบัว ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
๒.คุณอาบีดะ ฤทธิโต คนแขกบ้านหนองบัว ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
[1] ในบทความนี้ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า “คนแขก” แทนคำว่า ชาวมุสลิม เนื่องจากคำว่าคนแขกนี้เป็นคำที่ชาวมุสลิม
บ้านหนองบัวเรียกขานตัวตนของตัวเอง ทั้งนี้การใช้คำว่าคนแขกในบริเวณนี้ยังให้นัยยะด้วยว่าเป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาหลักมีคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากจารีตชวา-มลายู ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาหลัก เรียกตนเองว่าออแนายู (คนนายู) ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องราวของคนแขกในพื้นที่
จังหวัดสงขลาได้จาก บทความเรื่อง “คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 44 เล่ม
ที่ 4 หน้า 97-109
[2] บาลาย คือสถานที่ประกอบศาสนกิจทางศาสนาอิสลามแต่มีขนาดเล็กกว่ามัสยิด คำว่าบาลายนี้ มาจาก
คำมลายูว่า Balai หมายถึง โถงโล่งขนาดใหญ่ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่า บาลาย มีการออกเสียงและความหมายที่ใกล้เคียงกับคำว่า Balai ในภาษามลายูกลาง บาแลในภาษามลายูปตานีและพาไล ในภาษาไทยถิ่นใต้ที่หมายถึง เฉลียงหรือมุขที่ต่อจากตัวเรือน ทั้งนี้เหตุที่ชุมชนบ้านหนองบัวมีบาลายอยู่ในละแวกบ้านย่อยเพราะจะใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาละหมาด ๕ เวลาใน ๒๔ ชั่วโมงแต่จะไม่สามารถใช้ละหมาดวันศุกร์ได้ คนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้บาลายจะไปละหมาดวันศุกร์ร่วมกันที่มัสยิดของหมู่บ้าน
[3] ทั้งนี้คุณสมรักษ์ สุวรรณโณเป็นชาวไทยพุทธ ซึ่งคนแขกบ้านหนองบัวเปิดโอกาสให้ร่วมพิธีได้โดยไม่มีการกีดกันแต่อย่างใด คุณสมรักษ์ สุวรรณโณ บอกกับผู้เขียนว่า “…ได้เข้าร่วมพิธีทำบุญนี้แทบจะทุกครั้งที่อยู่ในชุมชนแต่โดยส่วนมากจะไปร่วมกับที่บาลายเพราะอยู่ใกล้ที่พักมากกว่า…”
เผยแพร่ครั้งแรกใน – https://drive.google.com/file/d/1IY2RpZuIBPyvx1OANdZr2fvVTteEl-kT/view?fbclid=IwAR1C6QlIFgLXDLsoq0apL7QONtnj5kyoPXIy84kv7r-1vwPQWRZjkhlt5uA