เรื่องวัดพะโคะ เขาคูหา ตระพังพระ และนางเลือดขาว แปลจาก The Naga King’s Daughter โดย Stewart Wavell ใน พ.ศ. 2505 พิมพ์ในปี พ.ศ.2508เรื่องวัดพะโคะ เขาคูหา ตระพังพระ และนางเลือดขาว

    The Naga King’s Daughter เป็นหนังสือกึ่งบันทึกการสำรวจของ Stewart Wavell นักสำรวจจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ผู้มีปณิธานจะตามหาเมืองอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรตามพรลิงค์ ที่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หนึ่งในเบาะแสที่ Mr.Wavell ได้รับจากคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร วิศวกรเหมืองแร่ผู้ชำนาญพื้นที่คือ

    #ตามพรลิงค์อาจอยู่ที่ระโนด แต่ระโนดยามนั้นอาจไม่หลงเหลืออะไรให้พบเห็น โดยคำแนะนำจากหลายทาง Mr.Wavell เดิรทางสำรวจคาบสมุทรสทิงพระเรื่อยมากจนถึงย่านเขาพะโคะเป็นท้ายสุด ภูมิทัศนวัฒนธรรมแสนงามดึงดูดให้เขาขึ้นไปยังยอดเขา และได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดพะโคะขณะนั้น (พระอธิการสง โฆสโก) Mr.Wavell บันทึกบทสนทนานี้โดยละเอียด

    เรื่องราวในบทสนทนานี้น่าสนใจอย่างยิ่ง คิดอย่างแปลบางส่วนด้วยสำนวนภาษาที่อาจจะแย่ซักหน่อย และไม่ตรงตัวอักษรนัก เพราะว่าสำนวนของ Mr.Wavell นั้นใช้การพรรณาที่ค่อนข้างโรแมนติก เลยจะลองปรับสำนวนให้ได้อารมณ์ตามที่ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดในภาษาอังกฤษ น่าจะเลอะไปบ้าง แต่คงไม่แปลผิดจนใจความหลักเสียไปมากนักครับ

————————–

Chapter 13 – TOWARDS THE RED EARTH KINGDOM

————————–

    …หลังจากเดิรทางมาร่วมสองชั่วโมง เราก็มองเห็นฐานจัตุรัสอันลดหลั่นเป็นชั้นเชิงของเจดีย์วัดพะโคะ เจดีย์นี้ไม่คล้ายอย่างที่ใดที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็นในเมืองไทย ที่นี่ดูเก่าแก่ยิ่ง กอรปด้วยรูปจัตุรัสสมบูรณ์ กาลเวลาที่โถมกระทั่งได้ทิ้งร่องรอยฝากเอาไว้ทั่วทุกแห่ง ปรากฏอยู่สูงเด่นบนยอดเขาหินปูนท่ามกลางทิวตาล และทุ่งนาราบเรียบสุดลูกหูลูกตา

    มีนาคศิลาขนาดมหึมาอยู่ประจำที่บันไดหินทางขึ้น ลำตัวของนาคนั้นทอดยาวเป็นเส้นตรงขึ้นไปกลายเป็นราวบันได เศียรนั้นชูสูงขึ้นเหนือระดับศีรษะของเราจนถึงบันไดขั้นที่สาม เราค่อย ๆ เลียบตามเส้นทางขึ้นไปพลางใจก็พองโตเมื่อนึกถึงภาพที่จะได้เห็นด้านบน

    จากเหนือลานประทักษิณ ทัศนียภาพทั้งหลายก็ปรากฏกระจ่างชัดแก่สายตา ด้านหนึ่งเห็นไกลข้ามทะเลสาบสงขลาไปถึงยอดเขาของเมืองพัทลุงและรัตภูมิ สำหรับผู้คนเมืองนี้ที่จะต้องรับมือกับบรรดาโจรสลัด ยอดเขาอันสูงสง่านี้ย่อมจะต้องเป็นที่พักพิงให้อบอุ่นใจและเป็นทั้งที่มั่นอันแข็งแกร่ง

    ส่วนทัศนียภาพอีกสามด้านนั้นเขียวขจีด้วยนาข้าว เส้นขอบฟ้าที่ควรจะราบเรียบนั้นได้ถูกรุกรานด้วยทิวต้นโตนดดูประหนึ่งกองกำลังรักษาการกำลังประจำหน้าที่อยู่ห่างออกไป

    ข้าพเจ้าถามเจ้าอาวาสว่าที่นี่มีต้นไม้ที่อาจสกัดเอาหัวน้ำหอมออกมาได้หรือไม่ ท่านว่าหากจะหาน้ำหอมที่ดีนั้นมีอยู่ที่รัตภูมิเรียก “น้ำอบไทย” ส่วนต้นไม้แถบนี้ที่อาจสกัดน้ำหอมออกมาได้นั้นมีชะลูด แก่นจันทน์ และอบเชย ข้าพเจ้ายินดีกับเรื่องที่เจ้าอาวาสบอกยิ่งด้วยเห็นว่าน่าสนใจ

    “ตามมาทางนี้ อาตมาจะพาไปดูอะไร” เจ้าอาวาสกล่าวชวนพลางนำพวกเราเดินผ่านสายตาถมึงทึงของราหูผู้กำลังกลืนกินดวงจันทร์ ไปยังวัตถุบางอย่างแลคล้ายเสาหินซึ่งหักเป็นสองส่วน

#ศิวลึงค์” ท่านว่า

#พวกญี่ปุ่นย้ายมาจาก “พัง” ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ตรงข้ามถ้ำโคหาย (Cave of the Disappearing Cows)”

    พวกมันบังคับให้พระในวัดไปขนย้ายออกมา แต่โชคไม่ดีที่มาแตกหักเสีย ส่วนฐานของศิวลึงค์ที่ทำด้วยหินยังตั้งอยู่ที่หน้าทางเข้าถ้ำ

    เจ้าอาวาสนำเราไปยังริมลานพระเจดีย์ที่อยู่เหนือเนินหิน ที่ตรงหน้าเนินนั้นเรามองเห็นสระสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ในสระเต็มไปด้วยกกอ้อ (คงจะคือต้นราโพ) ที่กลางสระมีเนินดินซึ่งมีต้นไม้เตี้ย ๆ ขึ้นอยู่ ๒ ต้น

    ที่นั่นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ เจ้าอาวาสว่า ศิวลึงค์ถูกพบจมอยู่ราวฟุตหนึ่งบนเนินนั้น ก่อนพวกญี่ปุ่นจะมา ชาวบ้านไม่เคยกล้าเหยียบย่างลงไปใน “พัง” นั้น เมื่อถูกพวกญี่ปุ่นบังคับให้ขุดก็พบว่าใต้เนินดินนั้นเต็มไปด้วยอิฐ

    เราได้สำรวจ(เจดีย์)วัดพะโคะอันเก่าแก่นี้ต่อไป โดยปีนขึ้นไปยังลานชั้นบนสุด(ของพระเจดีย์) นอกเหนือจากรูปทรงองค์สถาปัตย์อันโดดเด่นแล้ว ก็ดูจะไม่มีอะไรอีก ไม่มีการประดับประดาใด ๆ ทั้งสิ้นด้านใน ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า(เจดีย์นี้)อาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นสำหรับเป็นสุสาน ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นดูราวกับถูกสร้างบนหลักการเดียวกับซิกูรัตแห่งเมโสโปเตเมีย และยังดูเหมือน ๆ กับซากโบราณสถานในเขมรและของพวกไศเลนทร์ ส่วนองค์ระฆัง และยอดที่ตั้งสูงขึ้นไปนั้นก็ดูเป็นแบบแผนทั่วไปของศรีวิชัย

ท่านเจ้าอาวาสได้เล่าประวัติคร่าว ๆ ของเจดีย์องค์นี้ดังนี้

    “ในกาลก่อนวัดแห่งนี้มีนามว่า พัทธสิงห์ (พิพัทธสิงห์ – ผู้แปล)” ท่านเกริ่นขึ้น “ถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระนางเลือดขาว (Queen Leertkow) ศรีวิชยราชินีแห่งสทิงพระ (the Sri Vijayan Queen of Sa’tingpra’) พร้อม ๆ กับวัดอีก ๒ แห่ง วัดหนึ่งสร้างอยู่ที่สทิงพระ (วัดจะทิ้งพระ – ผู้แปล) อีกวัดหนึ่งสร้างขึ้นที่บางแก้ว พัทลุง อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ (วัดเขียนบางแก้ว – ผู้แปล)”

    “พระนางเลือดขาวเสด็จมาจากเมืองหลวงของศรีวิชัยที่ไชยา อย่างที่คุณคงทราบดีว่าดินแดนแถบนี้ได้ตกอยู่ใต้การปกครองของศรีวิชัยอันมีเมืองหลวงที่ไชยามานานนับศตวรรษ ไม่เคยมีหลักฐานใดเลยที่จะรับรองเรื่องที่ศรีวิชัยอยู่ที่ปาเล็มบัง

    “ท่านจะช่วยขยายความเรื่องพระนางเลือดขาวให้กระผมฟังเพิ่มอีกได้ไหม” ข้าพเจ้าถาม

    “คุณยังจะได้ฟังเรื่องราวอีกมากมายที่หมู่บ้าน” ท่านว่า “พระนางเป็นที่เคารพบูชาดังพระเทวี และน่าจะเคยเป็นราชีนีผู้เป็นที่รักของปวงชน แต่แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ที่การบูชาพระศิวะ และพระพุทธเจ้านั้นผสานกลืนกัน เช่นเดียวกับราชาซึ่งถูกนับถือเป็นเทพเจ้า(พระศิวะ – ผู้แปล) พระราชินีจึงถูกนับถือในฐานะมเหสีของพระศิวะด้วย”

    ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายยิ่งที่นี่เป็นวันสุดท้ายบนสทิงพระของเราแล้วเนื่องจากยังต้องไปทำอะไรต่ออีกหลายสิ่งหลายอย่าง จากความเห็นของท่านเจ้าอาวาส คณะของเราคงยังไม่ใกล้คำตอบเรื่องที่ตั้งเมืองหลวงของตามพรลิงค์ตามที่ตั้งใจค้นหา

    เราตั้งแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง เดิรข้ามคันนาไปยังถ้ำโคหาย (Cave of the Disappearing Cows)

“โค ? ทำไมต้องโค” ข้าพเจ้าถาม

“ก็เพราะโคเป็นพาหนะของพระศิวะนะสิ” เจ้าอาวาสว่า

“แล้วโคหายไปอย่างไร” ข้าพเจ้าซักเพิ่ม

“คนในหมู่บ้านเห็นพวกมันเดิรเข้าไปในถ้ำ แต่มันไม่เคยเดิรกลับออกมาอีกเลย” ท่านเล่าขยาย

    บ้านเรือนในชุมชนปลูกเรียงรายกันขึ้นมาเกือบถึงหน้าถ้ำ เราเห็นฐานศิวลึงค์หินแกรนิตมีช่องตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และช่องคลอดของพระอุมาคือร่องที่ถูกเซาะเพื่อเป็นทางเพื่อให้น้ำสรงสการศิวลึงค์นั้นได้ไหลออกไป

    ที่นั้นมีถ้ำอยู่สองถ้ำ ทั้งคู่เป็นถ้ำที่เกิดจากการขุดเจาะ (ที่ปากถ้ำ)มีช่องที่ถูกขุดลึกสำหรับเสียบโครงสร้างทับหลังไม้(ของบานประตู)เข้าไป ในถ้ำหนึ่งมีการแกะเป็นวงกลมสามวง วงใหญ่แกะอยู่กลาง วงน้อยขนาบอยู่สองข้าง ซึ่งเราคาดว่าคงน่าจะใช้เป็นแท่นบูชา

    เราเดิรต่อมายัง “พัง” ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ตะพังพระ” (‘Ta pang pra’) ซึ่งสังเกตเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์สองต้นขึ้นอยู่ที่เกาะกลางตระพัง การจะข้ามไปนั้นจำจะต้องลุยน้ำและโคลนเลน ความรู้สึกบางประการอันเยียบเย็น และแสนพิศวงปกคลุมรอบตัวเราเมื่อจินตนาการถึงภาพกระบวนแห่พระเทวีจากถ้ำโคหายมายังตระพังแห่งนี้

    พระนางคงจะต้องยืนอยู่บนเนินที่เกาะกลางตระพังนั้น ณ ที่ใจกลางของมณฑลศักดิ์สิทธิ์ บรรดาชายหญิงผู้มีศรัทธาที่ล้อมวงอยู่โดยรอบนั้นต่างน้อมนมัสการด้วยสัมผัสได้ถึงทิพยสภาวะที่สำแดงผ่านร่างอันเปลือยเปล่าของพระนาง ครั้นแล้วเนื้อและไวน์ที่ถูกเก็บอยู่ภายในถ้ำก็ได้ถูกนำออกแจกจ่ายให้ผู้ร่วมพิธีได้ดื่มกิน เสียงกลองเร้าระรัวให้เลือดของพวกเขาสูบฉีด พิธีจบลงเมื่อผู้คนต่างร่วมประเวณีกันและสลบไสลไป

“ช่วยเล่าเรื่องพระนางเลือดขาวให้ฟังได้ไหม” ข้าพเจ้าหันไปถามชาวบ้านผู้เฒ่า

    แกนิ่งไปครู่หนึ่งแล้วเล่าว่า “มีสถานที่หนึ่งในเขตแดนพะโคะที่ผู้คนต่างเดิรทางไปสักการะบูชาพระนางในวันพฤหัสบดีตามจันทรคติ (? – Thursday of the lunar month – ที่จริงน่าจะวันพุธ ?) โดยเฉพาะก่อนหน้าเพาะปลูก เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยพวกเขาจะบนบานให้ดวงจิตของพระนางช่วยรักษา ครั้นหายดีแล้วพวกเขาก็จะกลับมาแก้บนในวันที่หกทางจันทรคติ (sixth day of the lunar month ควรจะหมายถึง แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ?) ในคืนนั้นจะมีโนราด้วย

ชื่อของสถานที่นั้นเรียกว่า “ท่าคุระ” (Ta Kurak) ราวสี่กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของพะโคะ

    ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะซักถามถึงลักษณะของพิธีกรรมที่นั่น ชาวคณะก็รบเร้าอยากจะให้เราออกเดิรทางกลับก่อนจะมืด เป็นอันให้ข้าพเจ้าต้องกลับมายังรถโดยสารโดยรีบเร่ง

    รถของเราเคลื่อนกลับลงมาตามทางสายเดิม โยกคลอนอยู่บนถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อขรุขระ ชาวบ้านสองข้างทางทราบข่าวว่าคณะของเราจะเดิรทางกลับวันนี้ ต่างยืนออกันอยู่ที่หน้าบ้านของตนเพื่อโบกมืออำลา ส่วนบรรดาเด็กผู้หญิงนั้นส่งเราด้วยรอยยิ้มละไม

    มันคงจะคล้ายดังนี้เองย้อนกลับไปหลายศตวรรษก่อนเมื่อพระนางเลือดขาวเสด็จมาด้วยกระบวนช้าง บรรดาผู้คนต่างพากันออกมาเปล่งเสียงแซ่ซร้องสรรเสริญ เคล้าไปด้วยเสียงสังข์และแตรกึกก้อง ต้อนรับการกลับมาของพระเทวียังเมืองหลวงแห่งอาณาจักรของพระนางบนสทิงพระ.

จบบทที่ 13

——————————–

    (ตำนานของสทิงพระบางส่วน ได้ทำเป็นสกู๊ปไว้ในโพสต์นี้แล้ว โปรดดู – #หลบเหลียวแลหลังยังกรุงสทิงพาราณสี : #นครท่ามกลางสองฝั่งทะเล บนสองฝั่งของความรู้และไม่รู้ ในห้วงเวลาสุดท้ายที่นครนี้ปรากฏหลักฐานให้เห็น)

https://www.facebook.com/Arch.kidyang/posts/3546581865383331

ใส่ความเห็น