ชวนชมบางส่วนของผ้าพระบฎ (?) สมัยอยุธยาตอนปลายแสดงฉากราตรีที่พระโพธิสัตว์กำลังจะออกมหาภิเนษกรมณ์ จาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ภาพนี้อยู่ในความครอบครองของ The James H.W. Thompson Foundation ระบุว่าได้มาจากอำเภอ ไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี
เปิดให้ชมในรูปแบบดิจิตอลผ่านเว็บไซต์ Google Arts & Culture
https://artsandculture.google.com/…/%E0…/hAFkJy41UDoaJA
เป็นจิตรกรรมอยุธยาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งลายเส้น และสีสัน
แสดงภาพเหตุการณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรพระนางยโสธราพิมพา และพระกุมารราหุลก่อนจะลอบเสด็จออกจากวังเพื่อแสวงความดับทุกข์ในยามราตรีนั้น ตามปกรณ์พุทธประวัติฝ่ายเถรวาท
ในภาพยังแสดงดุริยนารีทั้ง 5 ประกอบด้วยปี่ กระจับปี่ โทน ซอสามสาย และเครื่องประกอบจังหวะ ประโคมกล่อมพระบรรทม แวดล้อมด้วยบาทบริจาริกาข้างใน
(การเขียนดุริยนารีพร้อมเครื่องดนตรีทั้ง 5 นี้ ดูขัดกับกฎมณเฑียรบาลในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ที่ตราไว้ว่า “ห้ามร้องเพลงเรือ(เพลงกล่อมเด็ก) เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดจะเข้ ดีดกระจับปี่ ตีโทนตีทับ ในเขตพระราชฐาน” แสดงให้เห็นความขัดแย้งที่น่าสนใจระหว่างจารีตราชสำนัก กับงานที่จิตรกรต้องการสื่อ)
นอกจากนี้ยังแสดงการประดับประดาพระตำหนักด้วยม่านแขวนอันงดงาม ดีเทลอันละเอียดละออ และคงความสมบูรณ์นี้ยากจะพบได้ในงานจิตรกรรมสมัยอยุธยาชิ้นอื่น ๆ ในปัจจุบันน่าเสียดายที่ไม่ทราบว่านำมาจากวัดใดในไชยา
เมืองไชยา โดยเฉพาะเมืองไชยาที่ ต.พุมเรียง ปัจจุบันยังคงมีวัตถุจากสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เก็บรักษาอยู่มากชิ้น และอีกมากชิ้นก็หายสาปสูญไป
วัตถุสำคัญที่ยังคงอยู่ที่ไชยา และได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีอาทิ ตะลุ่มพานแว่นฟ้ามุขสมัยอยุธยาตอนปลาย ผ้าพระบฎสมัยรัชกาลที่ ๑ เขียนพระพุทธรูปทรงเครื่อง คัมภีร์ใบลานที่จารในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้เขียนเชื่อว่า จิตรกรรมบนผืนผ้าชิ้นนี้ก็น่าจะมาจากวัดใดวัดหนึ่งใน ต.พุมเรียง อ.ไชยา เป็นงานจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามน่าทึ่งทีเดียว