โกศเก็บรักษาลูกแก้วของหลวงปู่ทวดตามตำนาน

สุรเชษฐ์ แก้วสกุล (ผู้เขียน)

ใน “ยอเข้าตำราหมื่นตราพระธรรมวิลาสเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง” เอกสารสมัยสมัยอยุธยาเพียงฉบับเดียวที่ให้ข้อมูลประวัติหลวงปู่ทวดกับเราอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวถึงที่มาของแก้วดวงนี้ว่าเป็นของที่งูตระบองสลาคายเอาไว้ให้ ดังเนื้อความว่า

…แลครั้งเกิดสมเด็จเจ้าพระราชมุนีมีบุญ… เมื่อเกิดแม่นั้นเป็นทรพล เอาไปนาแลผูกเปลไว้ ณ ต้นไม้หว้า แลงูตระบองสลาขึ้นมาอยู่ ณ บนเปลนั้น แลแม่นั้นขึ้นมาจะกินน้ำ แม่นั้นเห็นงูซึ่งพดพันอยู่ ณ บนลูกอ่อนนั้นก็ตระหนกตกใจกลัว จึงร้องเรียกวุ่นวายว่า ตาหูเอ้ย ๆ ว่าลูกกูตายแล้ว ว่างูตระบองสลาขึ้นเพ่นอยู่ ณ บนเปล

แลจึงตาหูก็แล่นมาดูลูกอ่อนก็ยังเป็นอยู่ แลจึงตาหูนั้นก็ให้ขอข้าวตอกดอกไม้ ให้เอามานมัสการแก่เทพาอารักษ์ จึงงูนั้นก็เลื้อยไป แลจึงพ่อแม่แลเพื่อนนานั้น ก็เข้าไปดูกุมาร ณ เปลนั้นก็เห็นแก้วใบหนึ่ง จึงพ่อก็เอาไว้สำหรับกุมารนั้น…

เนื่องจากตามตำนานมุขปาฐะอธิบายว่าหลวงปู่ทวด หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพ่อท่านโคะ ได้กระทำกาลกิริยา โดยการ “โละ” กลายเป็นดวงจิตหายไปไม่เหลือร่างรายทิ้งไว้ ลูกแก้วนี้จึงอาจทำหน้าที่ต่างองค์ หรืออัฐิธาตุโดยกลาย ๆ เพราะเป็นของคู่บารมีที่ผูกพันธ์มาตั้งแต่ท่านยังเป็นกุมารน้อยในเปล

ในคติชนวิทยาภาคใต้ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่าง แก้วกับงู อยู่หลายแห่ง ปรัมปราว่าด้วยแก้วกับงูที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การถวายแก้วแก่พระบรมธาตุของบรรดานาคทั้งหลายเมื่อครั้งพระบรมธาตุยังถูกฝังไว้บนหาดทรายแก้ว ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกทรงสร้างสถูปขึ้นประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น พระนิพพานโสตรกล่าวว่า ได้นำเอาแก้วที่นาคถวายเป็นพุทธบูชานั้นขึ้นไปประดิษฐานไว้บนยอดของมหาสถูป

ความคิดเรื่อง แก้ว – งู – นาค – การสักการะบูชา เป็นร่องรอยบางอย่างที่เจืออยู่ในสังคมใต้ เรารู้ว่าพื้นที่ภาคใต้ก่อนยุคสมัยของเราเคยมีเมืองท่าจำนวนมากซึ่งเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ระหว่างตะวันตก และตะวันออก

หนึ่งในวัตถุตกค้างจากยุคสมัยนี้คือบรรดาลูกปัดหิน หินควอตซ์(ที่ก็ถูกเรียกกว่าแก้ว เพราะใสเป็นแก้วมณี หรือแก้วผลึก) และแก้วหลอม ความคิดเรื่องแก้วส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการพบบรรดาแก้ว และลูกปัดจากใต้ดิน ซึ่งเป็นมรดกของเมืองท่าบนสองฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ที่ล่มสลาย และถูกลืมเลือนนามไปแล้ว

แก้ว ลูกปัด และของมีค่าอาทิ ทองคำ จากเมืองเหล่าเหล่านี้เมื่อถูกพบอาจถูกตีความว่าเป็นของที่นาคถวายเป็นพุทธบูชา หรือเป็นสมบัติที่ศรัทธาร่วมสร้างพระธาตุนำมาสมทบแต่มาไม่ถึง เพราะพระบรมธาตุเมืองนครถูกสร้างเสร็จไปก่อน จึงฝังเอาไว้ในระหว่างทางที่จะมายังเมืองนคร แล้วผูกเป็นลายแทงรอผู้มีบุญในอนาคตมาแก้นำไปใช้บำรุงพระศาสนาต่อไป ก่อนที่จะเดิรทางกลับบ้านเมืองของตน

หรือความคิดเรื่องแก้ว อาจจะตกค้างมาก่อนหน้านั้นจากวัฒนธรรมที่เก่าชั้นกว่า ผมคิดว่าเราอาจจะแจกแจงได้ยากในตอนนี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยอดพระบรมธาตุนครซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ยังประดับไปด้วยแก้ว (ผลึกควอตซ์) และลูกปัด

กุมารปู ผู้จะกลายมาเป็นสมเด็จเจ้าพะโคะผู้มีบุญ ก็ได้รับการบูชาจากงูจงอางด้วยแก้ว (ผลึกควอตซ์)

ปรัมปราที่ดูจะเกี่ยวโยงกันจาง ๆ นี้ ผมคิดว่าถ้าเราคนใต้จะได้ลองสำรวจรอบตัวดูอีกซักหน่อย เราอาจจะเจออะไรน่าสนใจที่อธิบายส่วนหนึ่งของตัวตนความเป็นคนใต้ของเราได้มากขึ้นอีกหน่อย

ยอเข้าตำราหมื่นตราพระธรรมวิลาสเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง เอกสารต้นฉบับหอสมุดแห่งชาติ : พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชเลขที่ ๓ (เรื่องกัลปนาวัดจังหวัดพัทลุง) ตีพิมพ์แล้วในประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา สำนักนายกรัฐมนตรี (ลิงค์เอกสารดิจิตัล – https://bit.ly/2TmAvKO)

เอกสาร หรือหนังสือบุดฉบับนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปจากวัดไหนซักแห่ง ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นวัดดีหลวง เพราะท้ายเล่มเขียนตำนานวัดกุฎีหลวงอย่างละเอียด และน่าจะได้ไปในต้นทศวรรษที่ ๒๔๔๐

มีการปริวรรตเป็นอักขระสมัยใหม่ใน ร.ศ. ๑๒๕ เพื่อทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับทรงประกอบพระบรมราชวินิจฉัยปัญหาการพระราชทานเงินค่ากัลปนาของวัดพุนพินใต้ พุนพิน สุราษฎร์ธานี ซึ่งภายหลังพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีนี้ดูจะกลายเป็นบรรทัดฐาน และขยายผลไปสู่การเพิกถอกสิทธิพระกัลปนาของวัดอื่น ๆ ที่เคยมีพระตำราตกค้างมาจากสมัยอยุธยาในสมัยต่อมาด้วยด้วย ในประเด็นนี้อาจจะต้องค้นต่อไปครับ

เอกสารนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกลงใน เทศาภิบาล เล่มที่ ๓ แผ่นที่ ๑๔ ร.ศ. ๑๒๖)

ที่มาภาพ : บทความสภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมทางสังคมรอบทะเลสาบสงขลา (๕๑) – ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ พิมพ์ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีคาบสมุทรสทิงพร

เผยแพร่ครั้งแรก – https://shorturl.asia/etKwR

ใส่ความเห็น