“ขนมเทียน” ที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บ้านเกิดผู้เขียน เป็นขนมนึ่งทำจาก แป้งข้าวเหนียว มะพร้าวทึนทึกหรือมะพร้าวอ่อน น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลโตนด เกลือเล็กน้อย แล้วกวนให้เข้ากัน ห่อด้วยใบตองที่ทาด้วยน้ำมันพืช (ภาพที่๑) เริ่มจากตักแป้งลงบนใบตองให้อยู่ในตำแหน่งตรงกลาง ทำให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (เหมือนหมอน) หรือทำให้เป็นแทงกลมยาวก็ได้ (เหมือนกับเทียนที่ใช้จุดให้แสงสว่าง) แล้วพับใบตองทางซ้ายอยู่ข้างล่าง ทางขวาอยู่ข้างบน ถึงขั้นตอนนี้ตัวขนมจะอยู่ภายในใบตองอย่างมิดชิด
พับใบตองข้างบนกับข้างล่างไปข้างหลังให้ทับกันอีกที แล้วใส่ในรางซึงตั้งทับกัน ทำจนแป้งที่เตรียมไว้หมด (ภาพ๒) นำไปนึ่งจนสุก ในชุมชนของผู้เขียนมีเคล็ดลับ ห้ามนำบุหรี่ไปจุดในเตาที่นึ่งขนมเทียนเด็ดขาดเพราะจะทำให้ขนมนึ่งไม่สุก…
สำหรับการห่อขนมเทียนรูปแบบนี้พบว่าในฐานข้อมูลของ Musée du quai Branly – Jacques Chirac (https://quaibranly.fr/) ประเทศฝรั่งเศษ ซึ่งได้มาเก็บรวบรวมขนมเดือนสิบของสงขลาไว้ได้ทำการจำลองขนมเทียนไว้ด้วย ในฐานข้อมูลระบุว่าชื่อสามัญของพื้นที่ ไว้ว่า “#Thien” ถอดความได้ว่า “#เทียน” รูปแบบการห่อของขนมเทียนในฐานข้อมูลนี้เหมือนกับบ้านผู้เขียนดั้งที่นำเสนอข้างตน ต่างกันที่มีการนำมาประกบเป็นคู่ มัดด้วยกันเหมือนกับเหนียวห่อกล้วย
ในฐานข้อมูลให้ข้อมูลว่าขนมเดือนสิบ สัญลักษณ์เเทน หมอน
ปัจจุบันพื้นที่ไหนยังห่อแบบนี้กันอีกบ้างครับ ? แล้วขนมเทียนบ้านเพื่อน ๆ ห่อแบบไหน ? มีสวนผสมอะไรกันบ้างครับ ? โดยส่วนตัวเมื่อไปทำบุญกูโบร์ที่บ้านหาดไข่เต่า ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุงก็มีขนมเทียนห่อแบบนี้เช่นกัน ถ้าจำไม่ผิดคนแขกบ้านเกาะนางคำ ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพยูน จะทำขนมเทียนห่อแบบนี้แต่มีไส้ด้วย ทั้งนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าสาเหตุที่บรรพชนตั้งชื่อขนมชนิดนี้ว่า เทียน มีความเป็นไปได้ว่าเพราะต้องการทำขนมเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเทียนที่จุดให้แสงสว่างนั้นเองเพื่อ… สำหรับบ้านผู้เขียนจะทำขนมเทียนในช่วงงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่น ทำบุญกูโบร์ หรือถ้าพี่น้องคนไทยก็คือ ทำบุญว่างเปลวนั่นเอง,วันรายาออกบวช (เฉลิมฉลองหลังจากสิ้นสุดเดือนถือศีลอด) ฯลฯ
เผยแพร่ครั้งเเรกใน – https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99