“…เมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๒ (พ.ศ.๒๑๘๕)มีแขกมลายูคนหนึ่งได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองสงขลาและได้กบฏต่อพระเจ้ากรุงสยามแขกมลายูผู้นี้ได้ทำป้อมคูประตูหอรบอย่างแข็งแรงแน่นหนาและในไม่ช้าก็ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าทั้งหลายให้เข้าไปทำการค้าในเมืองสงขลาอย่างใหญ่โตมาก ฝ่ายไทยก็ยกกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่ก็แพ้กลับมาทุกคราวพอสักหน่อยแขกมลายูคนนี้ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์เรียกกันว่าพระเจ้าเมืองสงขลา…”[1]
บันทึกของบาทหลวงเดอชัวซีย์ชาวฝรั่งเศสเข้ามายังอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ได้ให้รายละเอียดเมืองซิงฆอรา (สงขลา) ที่หัวเขาแดงว่าเป็นเมืองที่มี ป้อม คู ประตูหอรบยังแน่นหนา ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งป้อมที่อยู่ในที่ราบ เชิงเขา และบนเขา มีกำแพงเมือง คูเมืองซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว
ป้อมเชิงเขาเเดง
ป้อมหมายเลข ๘
หนึ่งในจำนวนป้อมต่างๆเหล่านี้ป้อมหมายเลข๘ ใครที่ได้มาเที่ยวเมืองเก่าสงขลาหัวเขาแดง ตำบลหัวเขาอำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลาคงจะไม่พลาดที่จะเดินขึ้นไปเพราะตั้งอยู่บนเขาแดงบริเวณปากทะเลสาบสงขลามีทางเดินที่ค่อนข้างสะดวกไม่สูงมากนักสามารถมองเห็นทัศนียภาพของปากทะเลสาบสงขลาที่เชื่อมกับทะเลอ่าวไทย มีเกาะหนู เกาะแมว เกาะที่มีตำนานเล่าขาน เห็นวิถีชีวิตของผู้คน การหาอยู่หากินด้วยการทำประมงการดักโพงพาง ยกบาม วางกัด การตั้งบ้านเรือนริมทะเล
มีมัสยิดให้ชมความงามสองหลังคือ มัสยิดสุลต่านสุไลมาน ชาห์
มัสยิดยาบันเนี๊ยะหม๊ะ ( ชื่อมัสยิดแปลว่า มัสยิดภูเขาแห่งความโปรดปราน )
มัสยิดยาบันเนี๊ยะหม๊ะ ( ชื่อมัสยิดแปลว่า มัสยิดภูเขาแห่งความโปรดปราน ) ถ่ายจากบนป้อมหมายเลข๘
ในทางประวัติศาสตร์ป้อมนี้เป็นป้อมเดียวของเมืองสุลต่านที่ปรากฎอยู่ในแผนที่กัลปนาวัดพะโคะสมัยอยุธยา[2]อีกด้วย นอกจากวิวของเมืองสงขลาที่ทำให้เราหายเหนื่อยลงไปได้ข้างบนมีปืนใหญ่ตั้งอยู่หนึ่งกระบอก ป้ายของกรมศิลปากรให้ข้อมูลว่า
“…ปืนกระบอกนี้พบเมื่อปรับสภาพขุดค้นภายในป้อมเมื่อปี ๒๕๔๐ เป็นปืนใหญ่ที่ทำจากเหล็ก มีขนาดยาว ๑๘๗ เซนซิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปากกระบอก ๑๖ เซนติเมตร ส่วนท้ายกระบอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๔ เซนติเมตร…”
ปืนใหญ่กระบอกดังกล่าวถึงแม้ว่าจะเป็นปืนเหล็กมีขนาดไม่ใหญ่มากนักไม่ได้มีจารึกใด ๆ ระบุไว้แต่อย่างน้อย ปืนกระบอกนี้ก็ชวนให้เราจินตนาการถึงการใช้งานปืนใหญ่บนป้อมแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงสืบค้นว่าในประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลามีการกล่าวถึงหรือบันทึกเกี่ยวกับปืนใหญ่บนป้อมหมายเลขแปดไว้บ้างไหม
จากการสืบค้นผู้เขียนพบว่าเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสมัยรัชกาลที่ห้ามีบันทึกที่ได้กล่าวถึงปืนใหญ่บนป้อมหมายเลข๘ไว้อย่างน่าสนใจพบว่ามีสองบันทึกซึ่งบันทึกโดยข้าราชการจากส่วนกลางราชสำนักบางกอกทั้งสอบฉบับช่วงเวลาที่บันทึกน่าจะอยู่ในเวลาใกล้เคียงกันมีการระบุข้อมูลที่ตรงกันว่าบนป้อมหมายเลข๘ มีปืนใหญ่ทั้งหมด ๔ กระบอก โดยมีข้อมูลดังนี้
๑.พระราชพงษาวดารย่อลำดับกษัตริย์แลเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองนครฯสงขลาระบุว่า
“…เขามรหุ่ม เรียกว่าสงขลาเก่า น่าเขามรหุ่มเรียกว่าเขาแดง ติดปากบ์ากน้ำเมืองสงขลา บนเขาแดงมีป้อม ๆ หนึ่ง มีปืนใหญ่ ๔ กระบอก เชิงเขาที่พื้นดินมี สาลา บ่อน้ำ …”[3]
หรือ
“…เขามรหุ่ม ( ปัจจุบันเรียกว่า เขาหัวเขา ) เรียกสงขลาเก่า หน้าเขามรหุ่ม ( เขาหัวเขา ) เรียกว่า เขาแดงติดปากน้ำเมืองสงขลา บนเขาแดงมีป้อม ป้อมหนึ่ง มีปืนใหญ่ ๔ กระบอก เชิงเขาที่พื้นดินมีศาลา บ่อน้ำ…” ( ปริวรรษโดยผู้เขียน )
เขามรหุ่มที่ระบุในพระราชพงษาวดารย่อลำดับกษัตริย์แลเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองนครฯสงขลาปัจจุบันเรียกว่า เขาหัวเขาหรือหัวเขา ในแผนที่กัลปนาวัดพระโคะเรียกว่า เขาค่ายม่วง
๒.สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7”
โดยเสด็จออกจากกรุงเทพพระนครฯ เมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ พ.ศ.๒๔๒๗ ต่อมาในวันที่ ๑๑ ของการเดินทาง อันตรงกับวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จถึง สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ( โต๊ะหุม ) จังหวัดสงขลา ดังปรากฏรายละเอียดที่พระองค์บันทึกไว้ ว่า
“…ที่แหลมแดงนั้นพระยาสงขลา (สังข์) ได้ก่อตึกไว้เป็นทำนองเก๋งจีน เป็นศาลเจ้าหลังหนึ่ง ข้างบนเขาแดงที่ปลายแหลมตรงศาลเจ้านั้น มีป้อมโบราณอยู่ป้อมหนึ่งก่อด้วยศิลาเป็นป้อมหน้าเดียว ตรงรับออกมาปากน้ำ มีใบเสมาเหลี่ยมใหญ่ กำแพงสูงประมาณ ๓ ศอกเศษ ยาวประมาณ ๕ วาเศษ มีปืนกระสุน ๔ นิ้ว ๔ กระบอกจมดินใช้ไม่ได้ ป้อมนี้เป็นของเก่าสร้างไว้แต่ก่อนตั้งตระกูลสงขลา…”
ภาพถ่ายป้อมหมายเลข ๘ จัดเเสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา
สรุป
อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีนักวิชาการบางส่วนได้ตั้งประเด็นเรื่องการขอปืนใหญ่ของเมืองสงขลา (ซิงฆอรา) ยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ สมัยอยุธยา ที่อยู่ในประเทศอังกฤษกลับมายังประเทศไทย ผู้เขียนจึงอยากเสนอว่าน่าจะเริ่มจากการตามหาปืนใหญ่อีกสามกระบอกที่มีข้อมูลระบุว่าเคยตั้งอยู่ที่ป้อมหมายเลข ๘ว่าปัจจุบันยังคงถูกรักษาอยู่ในเมืองสงขลาหรือไม่ หากเราสามารถสืบค้นเจออาจทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวของเมืองสุลต่าน รากฐานทางวัฒนธรรมของคนสงขลา คนลุ่มทะเลสาบสงขลา คนสงขลาพลัดถิ่นมากขึ้นก็เป็นได้หากปืนระบุจารึกไว้
ขอขอบคุณ
อาจารย์ ดร. เอกลักษณ์ รัตนโชติ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระ
อ้างอิง
[1]หอสมุดแห่งชาติ : ประชุมพงศาวารเล่ม ๑๑ พงศาวดารภาคที่ ๔๔ .สำนักพิมพ์ก้าวหน้า.พ.ศ.๒๕๑๓ หน้า ๑๔
[2]เอกสารโบราณหอสมุดแห่งชาติ หมวดตำราภาพ หมู่สมัยอยุธยา ชื่อ แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.977 (พ.ศ.2158) เลขที่ 3 มัดที่ 1 ทะเบียนประวัติว่าเป็นสมบัติเดิมของหอสมุดวชิรญาณ เป็นแผนที่ที่เขียนตามระบบโบราณลงบนสมุดไทย หรือหนังสือบุด แสดงภูมิประเทศตามยาวของพับหนังสือ จากการศึกษาของนักวิชาการหลายท่านตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมากเป็นที่ชัดเจนว่า แผนที่ฉบับนี้ไม่ได้เป็นแผนที่ของเมืองนครศรีธรรมราช หากแต่เป็นแผนที่ที่แสดงข้อมูลของพื้นที่ตั้งแต่ย่านเทือกเขาพระบาทของอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อยลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บนแนวคาบสมุทรสทิงพระจนไปสิ้นสุดที่ปากทะเลสาบสงขลาที่สิงหนคร แม้ว่าหอสมุดแห่งชาติจะรักษาชื่อเดิมว่า แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช เอาไว้ในทะเบียน และผู้สนใจสืบค้นจะต้องใช้ชื่อดังกล่าว แต่ในวงการวิชาการก็มีการให้ชื่อใหม่แก่แผนที่ฉบับนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องหลายชื่อ อาทิ แผนที่กัลปนาวัดพะโคะ ด้วยเหตุที่แผนที่นี้แสดงรายชื่อวัดที่เป็นวัดบริวารขึ้นกับวัดพะโคะ แผนที่คาบสมุทรสทิงพระ ตามพื้นที่ของข้อมูลที่แผนที่แสดง แผนที่เขตปกครองสงฆ์สทิงพระ ตามการเขียนแผนที่ที่เน้นความสำคัญของตำแหน่งวัด และที่นากัลปนาของวัดบนสทิงพระ เป็นต้น
[3]คัดมาบางส่วนจากเอกสารหัวเมืองปักษ์ใต้ ,พระราชพงษาวดารย่อลำดับกษัตริย์แลเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองนครฯสงขลา,ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา จัดพิมพ์,สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์:ผู้อ่าน
สารบัญรูป
มัสยิดยาบันเนี๊ยะหม๊ะ ( ชื่อมัสยิดแปลว่า มัสยิดภูเขาแห่งความโปรดปราน ) ถ่ายภาพขณะข้ามเเพขนานยนต์ เครื่องมือจับปลาที่มีลักษณะเป็นหอคอยเรียกว่า บาม
ปืนใหญ่บนป้อมหมายเลขแปดกับมัสยิดสุลต่านสุไลมาน ชาห์ ภูเขาด้านหลังคือเขาแดงถึงเเม้มัสยิดเพิ่งสร้างเเต่มีความน่าสนใจเพราะชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สุลต่านสุไลมาน ชาห์โดยการนำชื่อของพระองค์มาตั้ง
ป้อมหมายเลข ๘
ป้อมหมายเลข๘ มองเห็นปากทะเลสาบเเละเกาะเเมวเกาะที่มีตำนาน
กำแพงเมืองซิงฆอรา สงขลาที่หัวเขาแดงยุคสุลต่านสุลัยมานชาห์ ตั้งอยู่ใกล้กับสี่เเยกบ้านเล
ป้อมบนเขาแดง
ป้อมหมายเลข ๙ อยู่ริมถนนใหญ่สายสงขลา – ระโนด