วิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ก่อนถูกเพลิงใหม้ – ที่มาภาพ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
บานประตูวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนที่จะคุยเกี่ยวกับบานประตู ควรจะทำความรู้จักวัดนี้กันซักเล็กน้อย
ส่วนปรัมปราคติ
ตำนานวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ปัญจพุทธพยากร ซึ่งเป็นเรื่องแทรกอยู่ท้ายปัญญาสชาดก กล่าวถึงเขตแดนเมืองทุงยันตินคร ว่าเคยเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 ได้แก่ พระกกุสันธะ โกนาคมนะ กัสปะ โคตมะ และพระโพธิสัตว์เมตตรัย เมื่อยังเสวยชาติเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้มาสั่งสมบารมีอยู่ และกล่าวพุทธปณิธาน ปรารถนาจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในซอกเขาแห่งหนึ่งในเขตแดนเมืองทุงยันตินครนี้ด้วยกันทั้ง 5 พระองค์
พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์เมื่อตรัสรู้แล้ว ต่างได้เสด็จมายังเมืองทุงยันตินครนี้ และตรัสพยากรณ์ว่าจะเป็นเมืองที่ประดิษฐานแห่งพระบรมธาตุ ในสมัยของพระพุทธเจ้าโคตมะ ได้ทรงเสด็จมายังซอกเขาที่เคยทรงกล่าวพุทธปณิธานด้วย และประทับนั่งบนแผ่นศิลาปัตร และกล่าวแก่พระอานนท์ว่าศิลาแผ่นนี้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 ในภัทรกัปป์
2000 ปีสืบมา เมืองทุงยันตินครได้เป็นบ้านเมืองใหญ่ เหล่ากษัตริย์ ภิกษุ ประชาชน ได้ประดิษฐานพระบรมธาตุ และสร้างอารามต่าง ๆ ภายในเมือง และตำแหน่งสำคัญที่เหล่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมา รวมทั้งที่พระแท่นศิลาปัตร นี้ด้วย
ส่วนประวัติศาสตร์
แม้ว่าเมืองทุ่งยั้งจะมีร่องรอยความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรสุโขทัย โดยเฉพาะเมืองศรีสัชนาลัยอย่างแน่นแฟ้น แต่เราไม่ทราบความเป็นไปของเมืองนี้ โดยเฉพาะการซ่อม สร้าง ที่เกิดขึ้นทั้งภายในเมือง และศาสนาสถานกลุ่มพระแท่นศิลาอาสน์ ที่ประกอบด้วยพระแท่น พระยืน พระลีลา อาจรวมถึงพระนอน ซึ่งสัมพันธ์กับคติพระสี่อิริยาบถที่นิยมในสมัยสุโขทัยเป็นอย่างมาก
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าที่สุดที่เรามีเกี่ยวกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ คือจารึกที่ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งรัชกาลที่ 5 แล้ว อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ครั้งใหญ่ และได้มีการสำเนาจารึกแผ่นนี้ส่งลงมายังกรุงเทพ เนื่องจากจารึกนั้นยาว และบางส่วนอยู่ในระหว่างการศึกษา ผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาในประเด็นหลัก ๆ ไว้ดังนี้
จารึกวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ กล่าวถึง “ออกพระศรีราชไชย มหัยสูรินท บูรินทพิริยะยาหะ” พระท้ายน้ำ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้มาเป็น พญาสวรรคโลก ได้ตรวจพบวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ที่เมืองทุ่งยั้งทรุดโทรมมาก ขอพระบรมราชานุญาต รื้อทำใหม่ โดยเกณฑ์พลเมืองลับแล เมืองทุ่งยั้ง รื้อวิหาร กำแพงลงเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสาม ปีจอ พ.ศ. 2297 ได้ก่อรากวิหารขึ้นใหม่เมื่อ วันเสาร์ แรม 10 เดือน 3 ปีพ.ศ. 2298 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ วันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2301 ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี
จารึกนี้ให้ชื่อวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ว่า วิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งคิดอย่างจะขอใช้ชื่อนี้เรียกตลอดทั้งบทความ และระบุว่าได้มีการรื้อวิหารหลังเดิมลง และสร้างขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามคิดอย่างไม่มีข้อมูลการขุดค้นทางโบราณคดีมาใช้ตรวจสอบร่องรอยขอบเขตของวิหารหลังเดิม ทั้งนี้ข้อมูลจากจารึก ทำให้กำหนดอายุของวิหาร และลักษณะศิลปกรรมได้ว่าอยู่ในช่วงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ภาพ Drawing สันนิษฐานบานประตูวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ ที่มา – วิทยานิพนธ์ การสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดอรัญญิก จังหวัดพิษณุโลก : จักรพร สุวรรณนคร , หน้า 185
บานประตูวิหารร่มพระแท่น
แม้ว่าตัววิหารจะถูกไฟไหม้ไปแล้ว ทว่าจากการศึกษาภาพถ่ายเก่าพบว่า ส่วนที่ชำรุดเสียหายมากนั้นคือส่วนที่เป็นเครื่องไม้ ขณะที่ส่วนผนัง โดยเฉพาะผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันออกที่ติดตั้งบานประตูนั้นไม่ได้รับความเสียหาย ดังนั้นเราจึงทราบขนาดของบานประตูเดิมได้ด้วยการรังวัดขนาดของกรอบประตูปัจจุบัน คิดอย่างได้ทำการสำรวจรังวัดวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อ 10/09/2559 พบว่าขนาดของประตูเป็นดังนี้
ช่องประตูกว้าง 1.90 เมตร กรอบวงกบประตูซ้ายขวากว้างด้านละ 22.5 เซนติเมตร บานประตูกว้างบานละ 85 เซนติเมตร สูง 3.95 เมตร
ลายบานประตู
ส่วนเชิงบาน จำหลักเป็นรูปยักษ์สามตน ถือกระบอง ยืนอัดแบกฐานรองรับลายก้านขดเหนือขึ้นไป ประกอบด้วยลายก้านขด ช่อลายแตกเป็นรูปไล่ลำดับจากล่างขึ้นบนได้แก่ ครุฑ คชสีห์ ราชสีห์ โดยมีกินนรอยู่ในท่าร่ายรำคั่นจังหวะ อกเลาแกะเป็นเทพพนมผุดขึ้นจากดอกบัว ซ้อนกัน 10 องค์
กรอบซุ้มประตู เป็นซุ้มคฤห์ มีลายเทพพนมล้อมด้วยก้านขด แต่ภาพถ่ายเท่าที่มีเหลืออยู่ไม่สามารถศึกษาลายที่หน้าบันซุ้มประตูได้
ซุ้ม – บานประตูวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ ที่มา – ประวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค 1
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบรรยายลักษณะของซุ้มประตูไว้ดังนี้
“…ประตูวิหารคู่หนึ่ง เป็นของโบราณฝีมือทำดีนำดูหนักหนา แกะไม๎ออกมาเดํนเป็นลายซ๎อนหลายชั้น แมํลายเป็นก๎านขดปลายกนกเป็นรูปตำงๆ มีรูปราชสีห๑เป็นลายเดียวกับลายมุกที่วิหารพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก…”
ชื่อเสียงความงดงามของบานประตูนี้ คงเป็นที่โจทย์ขานกันในหมู่ผู้สนใจงานศิลปะครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จขึ้นมาชมศิลปสถาปัตยกรรมในเมืองเหนือได้กล่าวถึงบานประตูนี้ไว้ดังนี้
“…ซุ้มประตูเปนซุ้มจรนำตามธรรมเนียม แต่เป็นทรงอย่างเก่า ลายบรรพเปนเทพประนมมีกนกแทรกนิดหน่อย บานประตูเปนบานสลักษ์อย่างสวรรค์เช่นบานพระวิหารวัดสุทัศน์กรุงเทพ ข้างลาวเขาเรียกว่าแกะ…”
บานประตูนี้ได้ตั้งใจมาแต่กรุงเทพว่าจะดูเพราะมีคนบอกว่าสลักงามนัก…
ตัวลายนั้นล่างสุดเปนยักษ์สามตัวแบกฐานปัทม์ บนฐานปัทม์มีก้านขดงอกขึ้น 6 ขดวงเดียว เรียงกันขึ้นไป ปลายขดล่างออกเป็นรูปครุฑจับนาด ขดที่ 2 เป็นกินนรรำ ขดที่ 3 เป็นคชสีห์ ขดที่ 4 เป็นกินนรรำ ขดที่ 5 เป็นหัวราชสีห์ ขดที่ 6 เปนกินนรรำ รูปกินนรแลครุฑเปนอย่างเก่าชั้นสรวมเทริด ที่ก้านลาย มีเป็นหน้าคาบบ้าง เป็นตัวผักบุ้งบ้าง…
อกเลาเป็นรูปเทพนมมีสินเทา ต่อซ้อนกันเป็นรักร้อย เทพประนมสรวมเทริดประจำยามอกเลาไม่ยกเป็นหน้าตรง หลบเหลี่ยมตามรูปอกเลาทั้งท้ายแลหัวกลางด้วย…
ทั้งนี้ก็มีผู้เสนอว่า บานประตูของวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ นั้นเดิมเป็นบานประตูของวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลกมาก่อน
แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ นอกจากข้อสังเกตเรื่องกระบวนลายก้านขดช่อลายแตกเป็นรูปสัตว์ ที่มีไอเดียการออกแบบสัมพันธ์กันระหว่างบานประตูทั้งสองบาน
โดยผู้เสนอมีความคิดว่า การผูกลายบานประตูมุกของวิหารพระพุทธชินราช คงจะได้แบบจากบานประตูเก่าที่คงจะส่งไปไว้ที่วิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ อย่างไรก็ตาม หากบานประตูของวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์เคยชะลอไปจากวิหารพระพุทธชินราชจริง ขนาดของบานประตูวิหารทั้งสองที่ควรจะต้องเท่ากัน
เมื่อทำการสำรวจรังวัดวิหารพระพุทธชินราชเมื่อ 12/09/2559 ได้ขนาดของบานประตูดังนี้ ช่องประตูกว้าง 1.70 เมตร กรอบวงกบประตูซ้ายขวากว้างด้านละ 7.5 เซนติเมตร บานประตูกว้างบานละ 92.5 เซนติเมตร สูง 4.575 เมตร
จะพบว่าบานประตูของวิหารพระพุทธชินราช มีขนาดสูง ใหญ่กว่าบานประตูของวิหารร่มพระแท่นศิอาลาสน์มาก หากนำมาใส่แทนก็จะไม่พอดี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่บานประตูของวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์จะเคยมาจากวิหารพระพุทธชินราช เว้นแต่จะอธิบายว่าตัวบานประตูถูกตัดเพื่อให้พอดี ซึ่งจากการศึกษาภาพถ่ายเก่า ยังไม่เห็นข้อสังเกตที่ชวนให้เชื่อเช่นนั้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อความในจารึกวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งระบุว่าเริ่มทำวิหาร เมื่อวันศุกร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 3 จุลศักราช 1116 หรือ พ.ศ. 2298 รวมถึงพิจารณาจากลักษณะการจำหลักลายก้านขดที่คว้านมิติลึกหลายระดับ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พบวิหารพระฝาง และที่หน้าบัน วัดกลางธรรมสาคร ทำให้อาจตั้งข้อเสนอได้ว่า ประตูบานนี้ควรทำขึ้นพร้อมกับวิหารหลังใหม่ครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
และเป็นฝีมือเชิงช่างของสกุลช่างเมืองอุตรดิตถ์ (พิชัย) ซึ่งอาจจัดเป็นสกุลช่างหนึ่งที่ควรได้รับการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงในรายละเอียดต่อไป
เผยแพร่ครั้งแรกใน – https://web.facebook.com/Arch.kidyang/posts/pfbid02ftq35hFGzqvfF9Yr1DzMoioH3462A1JNfVdsvLPU6civMC4CqG1DxiHqbD2wtR2tl