อักขระศิลป์ที่สุเหร่าโบราณบ้านทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

    “สุเหร่าบ้านทรายขาว” หรือ “มัสยิดร่อมันอับญาต” ตั้งอยู่ที่หมู่ ๗ บ้านทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สุเหร่าหลังนี้มีความโดดเด่นเป็ออย่างมากเพราะสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบสุเหร่าพื้นถิ่นของมุสลิมมลายู  – ชวา ซึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง

    ฐานของอาคารเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย ตัวอาคารเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ช่องลมทำเป็นลายประจำยามก้ามปูวางในแนวตั้ง เสาหลักทั้งสี่ของอาคารหัวเสาทำเป็นกลีบบัวหรือที่เรียกว่า “บัวหัวเสา” หลังคาทรงพีรามิดซ้อนสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเพาที่ผลิตขึ้นในลุ่มทะเลสาบสงขลาหรือที่ประเทศมาเลเซียรู้จักในชื่อ “อะตับ ซิงฆอรา” ส่วนด้านบนยอดหลังคาประดับด้วย “โดม” ซึ่งเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “ลูกโป่ง” ทำจากปูนส่วนฐานเป็นกลีบดอกไม้ และส่วนยอดเป็นเสาประดับจันทร์เสี้ยว ดาวห้าแฉกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาอิสลามที่พบได้ทั่วไปในศาสนสถานที่ใช้ประกอบศาสนกิจทางศาสนา และถัดขึ้นไปทำเป็นลูกศรชี้ขึ้นบนฟากฟ้าเข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกเป็นนัยยะว่า “อัลเลาะห์” (พระเจ้าในศาสนาอิสลาม) ผู้สูงส่งที่สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าผู้เป็นหนึ่งเดียว[๑]

    ทางทิศตะวันตกมีมุขยืนออกไปเรียกว่า “เมี๊ยะรอบ” สวนยอดหลังคาประดับด้วยปูนที่มีเสาชี้ขึ้นด้านบนยอดเสามีลักษณะกลม ตำแหน่งของเมี๊ยะรอบคือพื้นที่สำหรับโต๊ะอีหม่ามยืนนำละหมาดและใช้เป็นพื้นที่สำหรับตั้ง “มิมบัร” (แท่นเทศนาธรรม) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับธรรมาสน์ในวัด

    ทางด้านทิศตะวันออกของสุเหร่ามีการสร้างอาคารขวางเชื่อมต่อกันคนมุสลิมทรายขาวเรียกว่า “นาซะ”[๒] ซึ่งเป็นการเรียกเฉพาะของมุสลิมในลุ่มทะเลสาบสงขลา ในอดีตใช้สำหรับเรียนหนังสือความรู้ทางศาสนาปัจจุบันมีการสร้างอาคารเรียนแยกออกไปต่างหากแล้วเรียกว่า “โรงเรียนแขก” และเป็นพื้นที่สำหรับรับประทานสำรับอาหารเมื่อมีการทำบุญมูโลด (ทำบุญวันเกิดนบี) อันเป็นงานประจำปีของชุมชน ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่ มีการปรับปรุงวัสดุมุงหลังคาจากกระเบื้องดินแบบดั้งเดิมเป็นกระเบื้องสมัยใหม่ และกลองที่เคยใช้ในอดีตเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีทางด้านทิศเหนือของอาคารนาซะ

    ในหนังสือวิจิตรสถาปัตย์ปาตานีโดยมีคุณสุกรี มะดากะกุล เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องภูเขาพระสุเมรุของคนมลายู ชวา อันเป็นคติทางศาสนาพราหมณ์เมื่อรับอิสลามในภายหลังยังคงยึดคตินี้อยู่สะท้อนผ่านการนิยมสร้างสุเหร่าหลังคาทรงพีรามิด ผู้เขียนคัดข้อมูลมานำเสนอดังนี้

    “…คติความเชื่อในเรื่อง ฆูนุงงัน (Gunungan) ถูกใช้เป็นองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในแหลมมลายูโดยมากมักใช้กับอาคารสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ทั้งในสุเหร่าหรือมัสยิด เรือนที่พักอาศัยและกุโบร์ (สุสาน)มีการใช้คติความเชื่อนี้ออกมาในรูปแบบของลวดลายและสลักที่เป็นองค์ประกอบของอาคารและรูปทรงของหลังคาอาคาร เช่น การใช้หลังคารูปทรงที่มียอดแหลมคล้ายปิรามิด คำว่า ฆูนุงงัน (Gunungan) ในภาษามลายู – ชวา หมายถึงภูเขาสูงและในเกาะชวามีการใช้คำว่า Sumeru มาใช้เรียกชิ้นส่วนในงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่มีการก่อรูปแบบ Gunungan อีกด้วย สถาปัตยกรรมเก่าแก่ในชวา มีการใช้หลังแบบทรงปิรามิดกับอาคารศาสนสถานและสถานที่ทีคนเคารพหรือถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคนี้ เชื่อกันว่าการสร้างรูปทรงหลังคาแบบปิรามิด น่าจะมาจากความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อของศาสนาฮินดู คือเขาพระสุเมรุ หรือ เขาไกรลาศ จนเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่หลายในภูมิภาคนี้ การสร้างสุเหร่าหรือมัสยิดในสมัยนั้นก็ยังคงยึดรูปแบบและความเชื่อในการสร้างศาสนสถานแบบเดิมมาปรับเปลี่ยนใช้เป็นศาสนสถานของศาสนาอิสลามแทน โดยยังคงยึดถือคติความเชื่อเดิมมาใช้เป็นตัวแทนของความศักดิ์สิทธิ์และความสูงส่งของสถานที่ประกอบศาสนกิจ ถึงแม้ว่าผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดูในภูมิภาคนี้จะเปลี่ยนศาสนามาเป็นศาสนาพุทธและอิสลามมาหลายร้อยปี แต่คติความเชื่อนี้ก็ยังปรากฎอยู่ทั้งในศาสนสถานของศาสนาอิสลามและของศาสนาพุทธ…”[๓]

    ในลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาปัจจุบันสุเหร่าหรือมัสยิดที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมข้างต้นพบที่ ๑.บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร เรียกว่า สุเหร่าใหญ่ในบ้าน มีชื่อทางการว่า มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าหม๊ะ ๒.บ้านเขารักเกียรติ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ คือมัสยิดดารุสลาม ๓.บ้านคูขุด ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ มีชื่อทางการว่า “มัสยิดยูมัลอิสลาม” (เดิมมีผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายหลังต่อเติมออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า) ๔.บาลายของปอเนาะคลองลึก ตำบลพะวง อำเภอเมือง และ ๕.อาคารครอบหลุมฝังศพของอัลมัรฮูม ต่วนฆูรู อุสมานบินรอหีมที่บ้านท่าช้าง ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ เป็นต้น

ประวัติสุเหร่า

    จากการลงภาคสนามของผู้เขียนร่วมกับ อาจารย์ศุกรีย์ สะเร็ม นักประวัติศาสตร์มุสลิมสยาม เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ พบว่า จากการสัมภาษณ์คนในชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุให้ข้อมูลสรุปเบื้องต้นได้ดังนี้ “…ผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านในชุมชนให้ข้อมูลว่าสุเหร่าหลังเดิมนั้นสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนแขก (โรงเรียนสอนความพื้นฐานทางศาสนาอิสลาม) ในปัจจุบัน ส่วนหลังนี้คือหลังที่สองย้ายมาจากตำแหน่งเดิมคาดว่าสุเหร่าน่าจะมีอายุเกือบหนึ่งปีแล้ว…”

    อย่างไรก็ดีพบว่าภายในตัวอาคารสุเหร่าที่ผนังด้านนอกทางฝั่งทิศเหนือมีการทำจารึกปีที่สร้าง (ทำ) เสร็จโดยใช้ปูนนำมาปั้นเป็นตัวอักษร ภาษาไทยถิ่นใต้และภาษามลายูอักษรยาวี ไว้สองตำแหน่งดังนี้

ตำแหน่งที่ ๑

            จารึกภาษาไทยถิ่นใต้ สังเกตได้จากการใช้คำว่า “ทำเสร็จ” มีข้อความว่า …ทำเสร็จวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2491…”

ตำแหน่งที่ ๒

            จารึกภาษามลายูอักษรยาวี มีข้อความว่า

سوده تمام

فد سنه نبي

1367

อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) แปลได้ว่า “…สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี (ฮิจเราะฮ์) ของท่านนบี…”[๔]


    จากจารึกทั้งสองได้ให้ข้อมูลว่าสุเหร่าหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ.๒๔๙๑ หากนับจากปีที่สร้างเสร็จสุเหร่าหลังนี้มีอายุมาแล้ว ๗๕ ปี

อักขระศิลปะที่พบในสุเหร่าหลังนี้            

    นอกจากสถาปัตยกรรมของสุเหร่าหลังนี้จะมีความโดดเด่นแล้วตัวอาคารสุเหร่ายังมีงานศิลปะประดับตกแต่งฝีมือช่างท้องถิ่น ความสวยงามอาจะเทียบไม่ได้กับสุเหร่าหรือมัสยิดสำคัญในโลกมุสลิม แต่สำหรับลุ่มทะเลสาบสงขลาถือว่ามีน้อยมากที่หลงเหลือสุเหร่าที่มีการประดับตกแต่งเช่นนี้ กล่าวคือช่างที่สร้างสุเหร่าได้รังสรรค์ตัวอักษรอาหรับ อักษรยาวี และอักษรไทย โดยใช้ศิลปะปูนปั้นนูนต่ำระบายสีทับทำเป็นรูปต้นไม้ ดอกไม้ ประดับไว้ที่บริเวณแผงคอสองใต้หลังคาชั้นที่สองโดยมีรายละเอียดดังนี้

ตำแหน่งที่ ๑ ทางทิศเหนือของตัวอาคารเหนือประตูทางเข้าทั้งสองฝั่ง มีการประดับปูนปั้นเป็นภาษาอาหรับ ตัวอักษรอาหรับ เป็นคำกล่าวปฏิญาณ (ชาฮาดะห์)

บนประตูซ้าย ระบุคำว่า

لَا إِلٰهَ إِلَّا الله     

อ่านว่า “…ละอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์…”

มีความหมายว่า “…ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์…”

บนประตูทางขวา ระบุคำว่า

مُحَمَّدٌ رَسُولُ الله

อ่านว่า “…มูฮัมหมัดรอซูลลุลเลาะห์…”

มีความหมายว่า “…ท่านศาสดามูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลเลาะห์…”

ตำแหน่งที่ ๒

             พบบริเวณแผงคอสองของตัวอาคารทางด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ มีข้อมูลดังนี้

     ๑.ทิศตะวันตกมีจำนวนสองแผ่น

       แผ่นทางขวา ระบุตัวเลขไทย ๒๔๘๐ ตัวเลขดังกล่าวผู้เขียนสันนิษฐานว่าคือปีที่เริ่มก่อสร้าง และมีต้นไม้สี่ต้น ต้นขวาสุด มีดอกไม้สี่กลีบหนึ่งดอก ต้นที่สองจากขวามีดอกไม้สีกลีบหนึ่งดอก ต้นที่สามจากขวามีดอกไม้สี่กลีบหนึ่งดอก และต้นซ้ายสุดมีดอกไม้สี่กลีบกับสามกลีบอย่างละหนึ่งดอก

       แผ่นทางซ้าย มีอักษรอาหรับสองบรรทัด บรรทัดแรกระบุคำว่า

       لَا إِلٰهَ إِلَّا الله     

       อ่านว่า “…ละอิลาฮะ อิลลัลเลาะห์…”

       มีความหมายว่า “…ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์…”

       บรรทัดที่สอง ระบุคำว่า

       مُحَمَّدٌ رَسُولُ الله

       มีความหมายว่า “…ท่านศาสดามูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลเลาะห์…” และประดับด้วยต้นไม้สีเหลืองหนึ่งต้น

     ๒.ทิศเหนือมีสามแผ่น

      แผ่นทางขวา ไม่มีอักษรอาหรับประดิษฐ์ มีต้นไม้สามต้นตรงกลางระหว่างต้นไม้ทั้งสามมีดอกไม้แปดกลีบประดับอยู่

     แผ่นตรงกลาง มีอักษรอาหรับสองคำคือว่า คำว่า อัลลอเลาะห์ กับ คำว่า มูฮัมหมัด ตำแหน่งตรงกลางเป็นรูปต้นไม้ฝั่งขวามีคำว่า มูฮัมหมัด ส่วนฝั่งซ้ายมีคำว่า อัลเลาะห์ และทางขวาสุดกับซ้ายสุดมีดอกไม้สีกลีบประดับอยู่ฝั่งละหนึ่งดอก

     แผ่นทางซ้าย ไม่มีอักษรอาหรับ มีต้นไม้สามต้น มองเห็นดอกไม้หนึ่งดอกสันนิษฐานว่ามีแปอดกลีบ

     ๓.ทางทิศใต้มีสามแผ่น

       แผ่นทางขวา ไม่มีอักษรอาหรับ ทำเป็นรูปต้นไม้สามต้น ต้นทางซ้ายประดับดอกไม้สี่กลีบหนึ่งดอก ต้นตรงกลางประดับดอกไม้สี่กลีบแปดดอก ต้นทางขวาปูนปั้นหลุดออกไปแต่ยังเป็นร่องรอยของต้นไม้

       แผ่นตรงกลาง ไม่มีอักษรอาหรับ มีต้นไม้สองต้น กับดอกไม้สี่กลีบหนึ่งดอกอยู่ตรงกลางระหว่างต้นไม้ ต้มไม้ทางขวามีสภาพปูนปั้นหลุดร่อนออก ส่วนทางซ้ายยังมีปูนปั้นอยู่

      แผ่นทางซ้าย มีลักษณะคล้ายกับไม้เถามีที่มีดอกไม้สีกลีบ และดอกไม้ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายลายประจำยามเช่นกัน และเชื่อมร้อยต่อกันคล้ายอุบะ

สรุป

            สุเหร่าบ้านทรายขาวมีการทำอักษรอาหรับประดิษฐ์แบ่งออกเป็นสองบริบทคือ ๑.อักษรประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุเหร่ามีสองตำแหน่งโดยปั้นปูนเป็นภาษาไทยถิ่นใต้ กับภาษามลายูอักษรยาวี ๒.อักษรประดิษฐ์เกี่ยวข้องกับข้อความทางศาสนาอิสลาม ประกอบไปด้วย คำว่า

     อัลเลาะห์ พระนามของพระเจ้าในศาสนาอิสลาม

     มูฮัมหมัด ชื่อศาสดาคนสุดท้ายในศาสนาอิสลาม

     และข้อความปฏิญาณตนในศาสนาอิสลาม (ชาฮาดะ)

    เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสามข้อความข้างต้นสุเหร่าที่มีการทำอักษรอาหรับประดิษฐ์ประดับในลุ่มทะเลสาบสงขลาจะนิยมทำข้อความนี้แทบทั้งสิ้นและการประดับลวดลายเป็นลายเป็นพืชพรรณสืบเนื่องจากศาสนาอิสลามไม่อนุมัติให้ทำรูปบุคคลหรือรูปสัตว์ช่างจึงทำต้นไม้ดอกไม้ประดับแทน ทั้งนี้โดยทั่วไปมุสลิมในลุ่มทะเลสาบสงขลาจะมีคติเกี่ยวกับต้นไม้บนสวรรค์ มนุษย์ทุกคนจะมีชื่อเขียนอยู่ที่ใบของต้นไม้ต้นนี้ มีความเชื่อว่า ๔๐ วันก่อนสิ้นชีวิตใบไม้ที่มีชื่อของบุคคลนั้นจะร่วงหล่นจากต้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่าการประดับตกแต่งสุเหร่าด้วยลวดลายต้นไม้อาจจะสืบเนื่องจากคตินี้เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนให้กับมนุษย์ได้รำลึกถึงความตายนั้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อความชาฮาดะที่ถูกนำมาประดับใกล้กันเพราะเป็นข้อความสำคัญที่คนเป็นจะพูดที่บริเวณหูให้กับผู้ที่กำลังจะสิ้นลมได้กล่าวตามเรียกว่า “มูจับ” เชื่อกันว่าผู้ใดที่ได้กล่าวประโยคนี้ก่อนสิ้นลมจะได้เข้าสวรรค์ในวันโลกหน้า(อาคีรัต)

ภาพระกอบ

    ภาพสุเหร่าบ้านทรายขาวหรือมัสยิดร่อมันอับยาด มุมซ้ายส่วนที่ยื่นออกมคือเมี๊ยะรอบ สำหรับให้โต๊ะอีหม่ามยืนนำสะมะหยัง (ละหมาด) มิมบัร ( ธรรมมาสน์) จะตั้งอยู่ในช่องเมี๊ยะรอบเช่นกัน ทางขวาคือนาซะ อาคารขวางสำหรับใช้เป็นพื้นที่เรียนความรู้ทางศาสนาและทำบุญ

    มิมบัร (ธรรมมาสน์) สำหรับใช้ขึ้นไปเทศนาในช่วงของการละหมาดวันศุกร์ หลังคาทำจากสังกะสีทรงพีรามิตบนยอดมีโดมเล็ก ๆ มีไม้ทำเป็นสัญลักษณ์ดวงจันทร์เสี้ยว แนวชายคาทั้งสี่ด้านตกแต่งเป็นรูปทรงคล้ายอุบะเขียนลาย ลวดลายที่ปรากฎเป็นลวดลายเดียวกับที่พบในบุษบก (นมพระ) บนเรือพระของคนไทยพุทธในพื้นที่สำหรับใช้ลากพระพุทธรูปในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ซุ้มทั้งสี่ด้านตกแต่งด้วยสังกะสีมีลักษณะคล้ายกับผ้าม่าน มีบันไดทางขึ้นข้ามขั้น

    ทางขวามัสยิดหลังใหม่ของบ้านทรายขาวกำลังก่อสร้าง โดยโดมของมัสยิดเอามาจากมัสยิดกลางปัตตานี ทางขวาคือสุเหร่าหลังเดิมตั้งห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตร

   อาจารย์ศุกรีย์ สะเร็ม ถ่ายภาพกับปะแก่ (คุณตา)ที่บ้านทายขาว ในวันที่ลงไปสำรวจข้อมูลภาคสนามกับผู้เขียน

    สุเหร่าใหญ่ในบ้านหรือมัสยิดมัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะ บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ภาพสุรเชษฐ์ แก้วสกุล อ่านเพิ่มเติมใน “อักขระศิลป์ที่เชิงเขาแห่งความเมตตา” https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/yabalrode

   มัสยิดดารุสลาม บ้านเขารักเกียรติ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิจังหวัดสงขลา

   ศาลาครอบหลุมฝังศพโต๊ะครูคนสำคัญอัลมัรฮูม ต่วนฆูรู อุสมานบินรอหีม(โต๊ะเย๊าะ) ที่บ้านท่าช้าง ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

   ศาลาครอบหลุมฝังศพโต๊ะครูคนสำคัญอัลมัรฮูม ต่วนฆูรู อุสมานบินรอหีม(โต๊ะเย๊าะ) ที่บ้านท่าช้าง ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

บาลายของปอเนาะบ้านคลองลึก ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

โดมหรือที่มุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบเรียกว่า ลูกโป่ง ประสัญลักษณ์จันทร์เสี้ยวดองดาว และลูกศรที่ชี้ขึ้นหมายถึงพระเจ้า(อัลเลาะห์)

เสาบนหลังคาเมี๊ยะรอบ

.

อ้างอิง

[๑] ให้ความเห็นโดยอาจารย์ศุกรีย์ สะเร็ม

[๒] สามารถ สาเร็ม.ชื่อเสียงเรียงนาม : ลักษณะเฉพาะของศาสนสถานเนื่องในศาสนาอิสลามลุ่มทะเลสาบสงขลา. สืบค้นออนไลน์ : https://shorturl.asia/wu9j8

[๓] สุกรี มะดากะกุล(เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ).วิจิตรสถาปัตย์ปาตานี Seni Bina Patani (หน้า 61 – 62) : สนับสนุนโดย มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน,Minority Right Group (MRG),โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป European Union – EU

[๔] อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) ผู้แปล เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔ อ้างใน สามารถ สาเร็ม. ชื่อเสียงเรียงนาม : ลักษณะเฉพาะของศาสนสถานเนื่องในศาสนาอิสลามลุ่มทะเลสาบสงขลา.(บทความอออนไลน์).สืบค้นจาก : https://bit.ly/3RV483D

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น