ว่าด้วยคำเรียก : ในเทศกาลเดือนบวชของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

เนื่องในเดือนถือศีลอดของมุสลิมทั่วโลก เป็นข้อปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม ตรงกับเดือนลำดับที่ ๙ ในปฏิทินอาหรับเรียกว่า “รอมาฎอน” มุสลิมลุ่มทะเลสาบซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่(แหลงใต้) ใช้คำเรียกว่า “เดือนบวช” การถือศีลอดภาษาอาหรับเรียกว่า “ศิยาม” หมายถึง การอดอาหารและเครื่องดื่ม และการเสพกาม ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงเวลาหลังตะวันตกดิน[๑]  จะเรียกว่า “ถือบวช” และใช้สรรพนามการนับว่า “หม้อ” เช่นถือบวชได้หนึ่งวันเรียกว่า “บวชได้หนึ่งหม้อ” ซึ่งไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไรจึงเรียกด้วยคำดังกล่าว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๕ ให้ความหมายคำว่า ถือบวชไว้ว่า

“…(๑) ก. ประพฤติพรตตามลัทธิศาสนาต่าง ๆ ,(๒) (ปาก) ก. ถือศีลอดตามคติศาสนาอิสลาม…” อย่างไรก็ดีพบว่าชาวนายู(มุสลิมแกแจะนายูเป็นภาษาแม่) คนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก และที่สงขลามีคนนายูอาศัยอยู่บริเวณชายหาดเก้าเส้งจะใช้คำว่า “ปอซอ” และมลายูกลางใช้ว่า “Puasa”

ดังนั้นคำว่า บวชหรือถือบวชในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ปอซอในภาษามลายูปตานีและ Puasa ในภาษามลายูกลาง ต่างมีรากที่มาของคำร่วมกันคือมาจากภาษาบาลี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมมุสลิมในวัฒนธรรมมลายูที่มักจะใช้คำเรียกการปฏิบัติทางศาสนาอิสลามโดยใช้คำที่มีรากมาจากคติเดิมก่อนที่จะรับศาสนาอิสลาม ตัวอย่างคำอื่น ๆ เช่น ละหมาดภาษาอาหรับใช้ว่า “ซอลัต” ภาษามลายูกลางใช้คำว่า “Sembahyang” มุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบใช้ว่า “สะมะหยัง” หรือ “มะหยัง” หรือ ”มาหยัง” ในขณะที่มลายูปตานี(นายู)ใช้ว่า “ซือมาแย” หรือ “มาแย” เป็นต้น

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเวลาในการถือศีลอดเริ่มตั้งแต่ยามรุ่งอรุน จนกระทั้งตะวันตกดิน แต่ละวันจะต้องมีการตื่นขึ้นมาตอนหัวรุ่งเพื่อรับประทานอาหาร ภาษาอาหรับเรียกว่า “ซาโฮร” มุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจใช้คำเรียกว่า “กินข้าวไก่ขัน”  ผู้เขียนเชื่อว่าในอดีตยังไม่มีนาฬิกาใช้ดูเวลาบรรพชนของเราคงอาศัยไก่ขันเป็นสัญญานหรืออาจเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ไก่ขันพอดี และด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่ชนชาติอาหรับจึงไม่สามารถเรียกด้วยคำของชาวอาหรับได้ จึงเกิดการใช้คำเรียกน่ารักเฉพาะท้องถิ่นขึ้นมาใช้กัน

และเมื่อตะวันตกดินจะมีการละศีลอดภาษาอาหรับใช้คำว่า “อิฟฏอร”[๒] มุสลิมลุ่มทะเลสาบใช้คำว่า “แก้บวช” คนนายูจะใช้คำว่า “บูกอปอซอ” (บูกอ คือเปิด ปอซอ คือบวช) และมลายูกลางใช้คำว่า Buka Puasa” (Buka คือ เปิด Puasa คือบวช) เป็นต้น

ว่าด้วย บวช กับคำอื่น ๆ ที่ใช้ในลุ่มน้ำทะเลสาบ

“บวชแตก” หมายถึงการละเมิดข้อห้ามของการถือบวช เช่นศาสนาห้ามร่วมประเวณี ห้ามกิน ฯลฯ แล้วละเมิดกระทำ

“บวชแหว่ง” หมายถึงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไปในอวัยวะที่เป็นรูเช่นการเขี่ยหู

“บวชผอม” หมายถึงช่วงเวลาใกล้แก้บวชแล้ว ได้อาบน้ำจะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะบวชจะผอมหรือไม่สมบูรณ์นั่นเอง

“บวชลาลู” คำว่าลาลูเป็นคำมลายูมีความหมายว่า ผ่าน การบวชแบบผ่าน ๆ จะใช้เรียกในกรณีที่ถือบวชแต่ไม่ลุกขึ้นกินข้าวไก่ขันในช่วงหัวรุ่ง

“แตกบวช” หมายถึงการกระทำที่ตั้งใจละเมิดข้อห้าม เช่นถือบวชไปได้ครึ่งวันแล้วถือไม่ไหวจึงรับประทานอาหารถือว่าตั้งใจทำให้บวชแตก

“วันรายา” หรือ “วันออกบวช” หลังจากการถือศีลอดครบหนึ่งเดือนประมาณ ๒๙ หรือ ๓๐ วันเมื่อครบแล้ววันรุ่งขึ้นจะเรียกว่า “วันรายา” หรือ “วันออกบวช” ตรงกับวันที่ ๑ เดือนมูฮัรรอมของปฏิทินอาหรับ มุสลิมลุ่มทะเลสาบที่อยู่ในนิเวศชายทะเลจะเรียกว่า “วันรายา” ส่วนกลุ่มคนที่อยู่ตอนในแถบเขาบรรทัดเรียกว่า “วันราหยา” ตรงกับการเรียกในภาษามลายูว่า “Hari Raya” (ฮารีรายา) มลายูปตานีเรียกว่า “ฮารีรายอ” และภาษาอาหรับเรียกวันนี้ว่า“อีดิลฟิตรี”   

เวลาห่างจากอีดิลฟิตรี เป็นเวลา 2 เดือน 10 วัน โดยตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลอิจญะฮ์ (เดือนลำดับที่ 12 ในปฏิทินอาหรับ) เรียกว่า “อีดิลอัฏฮา” หมายถึง เทศกาลเชือดพลี มุสลิมลุ่มเลสาบเรียกวันนี้ว่า “รายาญี” หรือ “รายาใหญ่” และแถบตอนในริมเขาบรรทัดเรียกว่า “ราหยาหยี” หรือ “ราหยาใหญ่” จากการสัมภาษณ์อาจารย์ดร.ศุภกิจ ศิริเมธากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมลายูศึกษา (เกษียณ) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ให้ข้อมูลว่า

               “…รายา (Raya) เป็นคำมลายูแท้มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่ วันรายา (hari raya) จึงหมายถึงวันแห่งการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ เพราะพจนานุกรม MacMillan’s Malay-English English-Malay Dictionary หน้า 227 raya ไม่มีการอ้างว่า มาจากไหน นั้นหมายถึงเป็นคำภาษามลายูแท้ แปลว่า great (ยิ่งใหญ่), large (ขนาดใหญ่)…ส่วน Raja แปลว่า prince (เจ้าผู้ปกครอง), ruler (ผู้ปกครอง), governor (คณะรัฐบาล) มาจาก Skr. = สันสกฤต”

               ทั้งนี้ ในภาษามลายูมีคำว่า ราจา (Raja) ตรงกับคำว่าราชาในภาษาไทยหมายถึงกษัตริย์ (King) ทั้งสองคำมีรากมาจากคำว่า ราชะ ในภาษาสันสกฤตเหมือนกันนั้นเอง แตกต่างกันที่ภาษามลายูออกเสียงเป็น   ราจา ส่วนไทยออกเสียงเป็น ราชา[3]

สรุป

จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอนี้สามารถสรุปในเบื้องต้นดังนี้ มุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่มีคำเรียกที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดโดยมีคำเรียกเฉพาะที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองแตกต่างไปจากมุสลิมมลายูอื่น ๆ หลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนสังเกตว่าหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดสงขลาเมื่อทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ มักจะมีความคลาดเคลื่อนเพราะนำคำที่ไม่ได้ใช้ในกลุ่มมุสลิมลุ่มทะเลสาบสงขลามาใช้ จึงหวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ให้หน่วยงานตระหนักและใช้คำให้ถูกต้องตามบริบทของคนในพื้นที่

ที่มา :

๑.อ่านเพิ่มเติมใน : https://www.facebook.com/AsianStudiesTH/photos/664244146983837?locale=th_TH

๒. อ่านเพิ่มเติมใน : https://www.theptarin.com/th/article/detail/18

๓. อ่านเพิ่มเติมใน : https://www.museumsiam.org/museumcore_Raya?fbclid=IwAR1cyFbes69maWXsASo1QO71Cuw-AshNe8UA0GwP94fBxOEKSIqkGSRWvIo

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น