ภาพจากคุณสุไกย๊ะ บิลลาเต๊ะ
สตอรี่เรื่องลุ่มเลสาบกับรากมลายูในชื่อปลาเป็นคอลัมภ์ ที่เพจนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตั้งใจนำเสนอ โดยเเบ่งเป็นตอนตามชนิดของปลาให้ได้ติดตามกัน ซึ่งในบทความที่แล้ว ได้นำเสนอเรื่องราวของปลาขี้ตังไว้สองชนิด โดยอ่านได้ในบทความ เรื่องลุ่มเลสาบกับรากมลายูในชื่อปลา : ขี้ตัง
https://savesingora.com/2024/03/23/%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b9%e0%b9%83%e0%b8%99-2/
ปลาขี้ตังทั้งสองชนิดนี้เป็นที่คุ้นชินเพราะสามารถจับได้โดยทั่วไปในทะเลสาบสงขลา แต่ยังมีปลาขี้ตังอีกชนิดที่มักจะจับได้ในช่วงฤดูน้ำเค็มเป็นหลัก เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้เขียนมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งหาอยู่หากินกับวิถีประมงในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง(เลใน) พบว่าน้ำในทะเลสาบสงขลาเริ่มเค็มบางแล้ว เนื่องจากน้ำทะเลจากอ่าวไทยไหลเข้าหมุนเวียนไปตามฤดูกาล ส่งผลให้ปลาขี้ตังอีกชนิดที่จะนำมาบอกเล่าในบทความชิ้นนี้ ชาวประมงที่บ้านควนสามารถจับมาได้บ้างแล้ว
ซึ่งวะ(คุณลุง)ของผู้เขียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้อย่างน่าสนใจว่า เป็นปลาขี้ตังที่อาศัยอยู่ในทะเลอ่าวไทย(เลนอก) เมื่อน้ำเค็มเข้ามาในทะเลสาบสงขลา ปลาเหล่านี้จึงเข้ามาด้วย บางครั้งเรียกแบบกว้างๆ ว่า “ปลาเลนอก” ซึ่งหมายถึงปลาทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในทะเลอ่าวไทยแล้วมีการเข้ามาอาศัยในทะเลสาบสงขลาช่วงน้ำเค็มและจับได้ในฤดูกาลน้ำเค็มเป็นหลัก
หนังสือปลาในลุ่มทะเลสาบ ซึ่งเป็นหนังสือชุดโครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (2552) เก็บข้อมูลเรื่องขี้ตังชนิดนี้ระบุชื่อไว้ว่า “ปลาสลิดหินจุดส้มใหญ่” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Siganus guttatus (Bloch, 1787) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Orange-spotted spinefoot พบแพร่กระจายในทะเลสาบตอนล่าง ปากทะเลสาบ ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แนวปะการังเกาะหนู เกาะแมว และบริเวณกองหินใต้น้ำ[1]
ที่มา : https://dmcrth.dmcr.go.th/upload/63dw/file/filed-1470042671821-Thai-475.pdf
ปลาสลิดหินจุดส้มใหญ่นี้ ในประเด็นของชื่อเรียกที่ชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเรียกกันนั้นพบว่า มีความน่าสนใจเพราะมีชื่อเรียกที่หลากหลายแต่ร่วมรากกัน ซึ่งผู้เขียนได้สัมภาษณ์ข้อมูลจากกัลยาณมิตรในหมู่บ้านต่าง ๆ เบื้องต้นเอาไว้ และลองรวบรวมมาให้อ่านกัน ผู้อ่านสามารถให้ข้อมูลชื่อเรียกท้องถิ่นของปลาชนิดที่บ้านของท่านเพิ่มเติมได้ครับ
ชื่อท้องถิ่นที่ชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเรียกปลาชนิดนี้คือ “ปลาขี้ตัง” คำว่า ขี้ตัง นี้เป็นคำเรียกที่มีรากมาจากภาษามลายูกลางคือ “กีตัง” Kitang และภาษามลายูถิ่นปตานี – กลันตันเรียกว่า “กีแต” เนื่องจากปลาขี้ตังมีหลายชนิดจึงมีชื่อเรียกท้องถิ่นใช้เรียกปลาชนิดนี้โดยมีคำขยายเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
โดยปลาขี้ตังที่ในหนังสือข้างต้นระบุชื่อว่า ปลาสลิดหินจุดส้มใหญ่ วิทยาศาสตร์ว่า Siganus guttatus (Bloch, 1787) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Orange-spotted spinefoot พบว่าในลุ่มน้ำทะเลสาบในแต่ละพื้นที่มีการใช้คำเรียกขยายทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ซึ่งขอยกมานำเสนอดังนี้
1. “ปลาขี้ตังราทา” เป็นชื่อที่เรียกกันของมุสลิมบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มุสลิมบ้านชุมพลชายทะเล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา[2] มุสลิมบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา[3] สองหมู่บ้านหลังเป็นชาวประมงที่หากินในทะเลอ่าวไทย
2. “ปลาขี้ตังลาทา” เป็นชื่อที่เรียกกันของมุสลิมบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา[4] มุสลิมบ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา[5]
3. “ปลาขี้ตังราพา” มุสลิมบ้านหัวฝาด ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง [6]
4. “ปลาขี้ตังราชา” มุสลิมบ้านสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา[7]
5. “ปลาขี้ตังสำลี” มุสลิมบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา[8]
เมื่อเราพิจารณาจากลวดลายของตัวปลาจะพบว่ามีจุดกลมสีส้มตลอดทั้งลำตัว ซึ่งมองดูเหมือนพริกไทย(Pepper) ในภาษามลายูกลางจะเรียกพริกไทยว่า ลาดา ฮีตัม (Lada Hitam) ฮีตัม แปลว่า ดำ ส่วนภาษามลายูถิ่นปตานีเรียกว่า ลาดอ บือนา (บือนา แปลว่า แท้) ดังนั้น ราทา ลาทา ราพา และ ราชา ซึ่งใช้ในบริบทของมุสลิมที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นคำที่เรียกกร่อนมาจากภาษามลายูกลางคือ ลาดา นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นการเรียกที่หมายถึง พริกไทย (Pepper)
ดังนั้นปลาขี้ตังราทาหรือลาทาที่เรียกกันในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานั้น ในเบื้องต้นจึงมีอยู่ด้วยกันสองชนิดแต่เป็นการเรียกในความหมายที่แตกต่างกันอยู่คือ ราทาหรือลาทาในความหมายของพริกไทย (Pepper) กับในความหมายของพริกสด (Chilli)
และชื่อ“ปลาขี้ตังสำลี” จากการสืบค้นคำว่า “สำลี” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายไว้ดังนี้ สำลี 1
(1) น. ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Gossypium barbadense L. var. acuminatum (Roxb. ex G. Don) Triana et Planch. ในวงศ์ Malvaceae เมล็ดมีปุยขาวใช้ทอผ้าได้, ฝ้ายสำลี ก็เรียก น. ชื่อเรียกปุยของเมล็ดฝ้ายหรือเมล็ดสำลี.(2) น. อ้อยสำลี. [ดู ตะเภา 5 (1)]. ความหมายที่เกี่ยวข้อง ดู ตะเภา 5 ตะเภา 5
สำลี 2
(1) น. ชื่อเรียกปุยฝ้ายที่นำมาฟอกให้ขาวปราศจากไขมันและสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เพื่อใช้ในทางการแพทย์เป็นต้น
(2) น. เรียกผ้าชนิดหนึ่ง มีขน เนื้อนุ่ม มักใช้ห่มหรือตัดเสื้อกันหนาว ว่า ผ้าสำลี.
สำลี ๓
น. ชื่อปลาทะเลในสกุล SeriolinaและSeriolaวงศ์ Carangidae โดยเฉพาะชนิด Seriolina nigrofasciata (Rüppell) ซึ่งมีลำตัวค่อนข้างกลมยาว หัวทู่ ครีบหลังตอนหน้าเล็ก ก้านครีบสั้น เกล็ดเล็กมาก เกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวไม่เป็นหนามแต่ยกเป็นสันนูนเล็ก ๆ เฉพาะบริเวณคอดหาง และไม่มีกระดูกหนามแข็งโผล่อยู่หน้าครีบก้น หัวและลำตัวตลอดจนครีบต่าง ๆ มีสีเทาเข้มจนถึงดำ ท้องสีขาวหรือเทา ปลาขนาดเล็กมีแถบหรือแต้มสีที่เข้มกว่า 5-7 แนว พาดทแยงลงด้านหน้าจากแนวสันหลังและจางลงเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น ก้านครีบและกระดูกของปลาชนิดนี้ค่อนข้างอ่อน ขนาดยาวได้ถึง ๗๐ เซนติเมตร, ช่อลำดวน ก็เรียก.
ผู้เขียนเชื่อว่าชื่อปลาขี้ตังสำลี คำว่า สำลี นั้นเป็นการเรียกตามลักษณะเมล็ดของต้นฝ้ายสำลี ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gossypium barbadense L. var.acuminatum Mast. วงศ์ : Malvaceae ชื่อสามัญ : kidney cotton ชื่ออื่น : ฝ้ายสำลี (กลาง) ฝ้ายหลวง[9] ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมสีออกน้ำตาลส้มเหมือนกับลวดลายบนตัวปลาที่กลมและสีส้ม
ดอกฝ้ายสำลี ภาพจาก : https://www.istockphoto.com/th/search/search-by-asset?searchbyasset=true&assettype=image&istockcollection=main%2Cvalue&page=3&assetid=1452266868
อีกทั้งปลาสำลีที่ระบุในพจนานุกรมข้างต้นให้ความหมายไว้นั้นเป็นปลาคนละชนิดกันอย่างชัดเจน ดังนั้นการเรียกชื่อปลาขี้ตังสำลีเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ อย่างหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า ในอดีตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบ้านเรา อาจเคยมีต้นฝ้ายสำลีชนิดนี้ปลูกอยู่ก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะในสมัยรัชกาลที่ห้า มีบันทึกของชาวต่างชาติคือ NELSON ANNANDALE and HERBERT C. ROBINSON.ที่เข้ามาสำรวจข้อมูลใกล้กับเมืองเก่าสงขลา (ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ) ในปัจจุบัน มีการวาดภาพที่ครอบหลุมฝังศพใหม่ของมุสลิมมลายูในพื้นที่ซึ่งระบุว่าใช้เส้นใยฝ้ายนำมาร้อยเป็นลวดลายที่ฝาครอบ
ที่มา: NELSON ANNANDALE and HERBERT C. ROBINSON. 1904. Fasciculi Malayenses: Anthropological and Zoological Results of an Expedition to Perak and the Siamese Malay States, 1901-1902 สืบค้นจาก : https://www.biodiversitylibrary.org/item/196067#page/90/mode/1up
ปลาสำลีที่ถูกระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ (Seriolina nigrofasciata (Rüppell, 1829) ) ที่มาภาพ : https://indiabiodiversity.org/species/show/233532
อ้างอิง
[1] : ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง.(๒๕๕๒).หัวหน้าโครงการศึกษารวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.ปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.พิมพ์ครั้งที่ 1.สงขลา : ไอดีไซน์
[2] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณอาอีฉ๊ะ วงษ์อุทัย
[3] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณอาฉ๊ะ นิยมเดชา
[4] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ
[5] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณพิมพา สาเร็ม
[6] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณมิน๊ะ นิยมเดชา
[7] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณนูรี โต๊ะกาหวี
[8] : สัมภาษณ์ข้อมูล คุณสุไกย๊ะ บิลลาเต๊ะ
[9] : สืบค้นข้อมูลจาก : http://www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1-7.htm