ทำบุญเดือน ๕ หลาทวดทอม

แรม ๑๔ ค่ำเดือน ๕ วันนัดหมายของลูกหลานทวดทอมในตำบลเเม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เพื่อทำบุญร่วมกันที่ “หลาทวดทอม” (หลาคือศาลา) ปีนี้ ๒๕๖๗ ตรงกับวันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม  งานบุญประเพณีเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงตอนเที่ยงวันโดยประมาณ  แอดมินได้ไปเก็บข้อมูลภาคสนามโดยมี “คุณอนุวัต ลัภกิตโร” ลูกหลานคนตำบลแม่ทอมนำสำรวจข้อมูลในครั้งนี้

จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ คุณป้าในวัย ๕๗ ปีเล่าว่า ประเพณีนี้เรียกว่า “ทำบุญเดือนห้าหลาทวดทอม”  คนในหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลแม่ทอม มาทำบุญร่วมกันเพื่ออุทิศผลบุญให้ทวดทอมและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีกรรมเริ่มตั้งเเต่ช่วงเช้ามีการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันข้าวตอนเช้า ซึ่งชาวบ้านจะมีประเพณีการทำขนมจีนกินกับน้ำแกงกะทิเลี้ยงพระสงฆ์และมีการตั้งเซ่นไหว้ให้ “ทวดทอม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของคนที่นี่ แกะสลักจากไม้ขนุนทองเป็นผู้สูงอายุ โพกผ้าสีแดงที่ศีรษะสวมเสื้อและใช้ผ้าขาวม้าคาดไว้ที่เอว ชาวบ้านประดิษฐ์สถานไว้ ณ ศาลาแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหนองน้ำที่เรียกว่า “ทอม” ปัจจุบันมีสภาพที่ตื่นเขินมีต้นหญ้า ต้นปรงขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตจะมีต้มสาคูขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แอดมินเดินสำรวจดูพบว่ายังมีต้นสาคูหลงเหลือให้เห็นอยู่จำนวนหนึ่ง

ทำพิธีช่วงเช้าเสร็จแล้วชาวบ้านแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อไปทำอาหารทั้งคาวหวานผลไม้จัดใส่ปิ่นโตเพื่อกลับมาทำบุญร่วมกันอีกครั้งในเวลา ๑๐.๐๐ น. ซึ่งจะมีการประกอบพิธีกรรมโดยพระสงฆ์และพิธีกรรมโดยหมอพิธี อาหารเหล่านี้จะถูกใช้เลี้ยงทั้งพระสงฆ์และตั้งเซ่นไหว้ให้ทวดทอม วิญญาณศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ แล้วชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญได้รับประทานร่วมกัน

ก่อนถึงเวลาทำพิธีกรรมตอนสิบโมง ชาวบ้านทยอยกันมาเรื้อยๆพร้อมปิ่นโตคนละหนึ่งสาย แอดมินได้คุยกับคุณตาหัวหน้าคณะกลองยาว ท่านกำลังตระเตรียมกลองยาวให้พร้อมสำหรับใช้บรรเลงในขบวนแห่ทวดทอมในวันนี้  ท่านเล่าว่าการแห่ทวดทอมเพิ่งมีประมาณ ๑๐ ปี คณะกลองยาวของคุณตาเป็นคนในหมู่บ้านโดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง

เมื่อได้เวลา ชาวบ้านทั้งหมดและชาวคณะกลองยาวมากันพร้อมหน้า เริ่มต้นพิธีกรรมด้วยการบรรเลงกลองยาว คุณตาผู้ทำหน้าที่อันเชิญทวดทอมออกจากศาลา ได้อ่านบริกรรมคาถาแล้วยกทวดทอมนำมาประดิษฐ์สถานบนคานหามที่ตั้งเตรียมไว้บนบุษบกผ้าขาวตั้งอยู่หน้าศาลา หลังจากนั้นชาวบ้านจึงตั้งขบวนแห่ทวดทอมเวียนรอบ หนองน้ำของหมู่บ้านที่เรียกว่า “ทอม” ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศาลา มีการรำหน้าขบวนบรรเลงกลองยาวตลอดเส้นทาง เวียนครบหนึ่งรอบขบวนกลับมาหยุดที่หลาทวดทอม

ชาวบ้านช่วยกันนำทวดทอมขึ้นประดิษฐานบนเบ็ญจาผ้าขาว ชาวบ้านรำถวายทวดทอมประมาณสิบนาที พระสงฆ์ทำพิธีสวดชะยันโต คนที่มาร่วมงานช่วยกันอาบน้ำทวดทอม รดน้ำผ่านผ้าที่ลาดไว้ข้างบน เริ่มจากผู้อาวุโสสูงสุดของหมู่บ้าน เสร็จแล้วจึงช่วยกันเปลี่ยนชุดใหม่ให้ทวดทอม มีการนำเงินตามแต่ศรัทธาของแต่ละคนมาใส่ให้ที่ถุงเสื้อตัวใหม่ของทวดทอมด้วย แล้วอัญเชิญทวดทอมกลับขึ้นไปประดิษฐ์สถานบนศาลาตามเดิม

พระสงฆ์ทำพิธีสวดบังสกุล เป็นการสวดเพื่ออุทิศผลบุญให้ทวดทอมและบรรพบุรุษของช้าวบ้านที่ล่วงลับไปแล้ว ขณะทำพิธีสวดชาวบ้านช่วยกันจัดเตรียมอาหารโดยนำออกจากปิ่นโตแล้วเทใส่ภาชนะแยกชนิดอาหาร ขนมผลไม้ตั้งไว้ ส่วนข้าวนั้นมีการตักใส่ที่บาตรพระรวมกัน เมื่อพระสงฆ์สวดเสร็จจึงนำอาหารถวายเพลพระสงฆ์และอาหารบางส่วนถูกนำมาตั้งเซ่นไหว้ทวดทอม โดยมีคุณยายทำหน้าที่ “กาด” (เชื้อเชิญ) ให้ทวดทอมรวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่อยู่บริเวณนี้ทั้งหมดมารับของเซ่นไหว้ดังล่าว อาหารที่นำมาตั้งนั้นเป็นอาหารเดียวกับที่ถวายพระสงฆ์ได้แก่ข้าวและแกงต่าง ๆ ขนม ผลไม้ แต่เพิ่มหมากพลูเข้ามาเป็นของเซ่นไหว้ทวดทอมด้วย คุณป้าที่ทำหน้าที่เตรียมหมากพลูให้ข้อมูลว่าขาดไม่ได้เป็นของที่ทวดทอมชอบ

หลังจากพระฉันเพลเสร็จชาวบ้านจึงรับประทานอาหารร่วมกัน ช่วยกันเคลียสถานที่ให้สะอาดก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธีงานบุญที่สะท้อนความเป็นชุมชน กลุ่มคนที่มีสำนึกร่วมกันในความเป็นชุมชนผ่านความเชื่อร่วมจนเกิดเป็นประเพณีที่งดงามนี้ให้ลูกหลานได้ยึดถือเป็นจารีตประเพณีของหมู่บ้านแห่งนี้

ขอขอบคุณ คุณอนุวัต ลัภกิตโร และชาวบ้านตำบลแม่ทอมทุกท่านครับ

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น