กลับมาพบกันอีกครั้งกับเรื่องราวของลุ่มเลสาบกับรากมลายูในชื่อปลา เพจนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตั้งใจว่าจะรวบรวมและนำเสนอออกมาเรื่อย ๆ ตามฤดูกาลของปลาที่หาได้ในแต่ละช่วงเวลา เป็นการบอกเล่าเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยว่าด้วยชื่อเรียกท้องถิ่น รวมไปถึงเมนูอาหารที่ทำกินกันใน “ครัว” หรือที่เรียกด้วยภาษาไทยถิ่นใต้ว่า “ไฟ” ของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบ้านเรา
ช่วงนี้แอดมินได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดบริเวณปลายน้ำคลองอู่ตะเภา จึงมีเวลาสำรวจและเก็บข้อมูลนำมาบอกเล่าสำหรับผู้ที่ติดตามเพจให้ได้อ่านกันครับ ด้วยความที่ชอบเดินตลาดบ้าน ๆ พูดคุยกับแม่ค้าซึ่งส่วนใหญ่ก็รู้จักหรือคุ้นหน้าค่าตากันเป็นอย่างดี
เมื่อประมาณสามอาทิตย์ก่อนแอดมินได้ไปเดินตลาดนัดบ้านทุ่งน้ำ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีแม่ค้าคนมุสลิมบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นำอาหารทะเลสด ๆ ทั้งกุ้ง ปลามาวางขายกันเป็นจำนวนมาก
ผู้เขียนสะดุดตากับปลาตัวเล็กแต่ความอร่อยรับรองว่าไม่เล็กเหมือนกับขนาดของตัว เจ้าปลาที่ว่านี้บ้านควนบ้านผู้เขียนเรียกว่า “ปลาลูกเละ” ส่วนแม่ค้าที่ขายนั้นเป็นคนมุสลิมบ้านเหนือเรียกว่า “ปลาลูกเหบะ” และจากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่า บางหมู่บ้านเรียกว่า “ปลาลูกเหมะ” หรือ “ลูกเบร่” ก็มีเช่นกัน
ในทางภาษานั้นชื่อเรียกดังกล่าวมีรากมาจากชื่อเรียกของปลาชนิดนี้ในภาษามลายูกลางว่า “บีลิส” (Bilis) คำว่า “เละ” “เหบะ” “เบร่” หรือ “เหมะ” เป็นการเรียกในบริบทของภาษาไทยถิ่นใต้ อันมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งคือกร่อนคำให้สั้นลงจากคำว่า “บีลิส” สองพยางค์จึงกร่อนเหลือเพียงพยางค์เดียว
สอบถามแม่ค้าว่าจับด้วยเครื่องมือชนิดใดเมื่อได้ยินคำตอบก็ยิ่งทำให้ตื่นเต้นไม่น้อย เนื่องจากไม่ได้ใช้เครื่องใด ๆ ในการจับเพราะปลาลูกเละที่ตั้งขายจำนวนสองถาดนี้ได้จากการที่ปลากระโดดเข้ามาในเรือ ขณะที่ทำการใช้กัด(อวน) จับปลาในทะเลสาบสงขลา(ตอนล่าง) โดยวะ(ป้า) เล่าต่อว่า เมื่อสามีกลับมาจากการหาปลา ตนทำหน้าที่วิดน้ำออกจากเรือพบว่ามีปลาชนิดนี้อยู่ในเรือจึงใช้สวิงรองไว้ จึงได้เอามาขายเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม โดยตั้งราคาเพียงถาดละ ๒๐ บาท ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่าชาวประมงลุ่มน้ำทะเลสาบตอนบนทั้งฝั่งสงขลาและพัทลุงจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ไซอีลุ่ม” หรือ “ยอ” ฯลฯ ในการจับปลาชนิดนี้ด้วยเช่นกัน
ชาวประมงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบนที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงเเส อำเภอกระเเสสินธุ์ จังหวัดสงขลากำลังยกไซอีลุ่ม ซึ่งใช้จับปลาลูกเหมะ
เมนูของหรอยจากปลาลูกเละ
ปลาชนิดนี้ถือได้ว่าสามารถทำได้หลากหลายเมนูทั้งแบบสดหรือนำมาแปรรูปก็ได้ ซึ่งผู้เขียนขอนำมาบอกเล่าบางเมนูดังนี้ ปลาลูกเละสด เหมาะสำหรับเมนูแกงเผ็ด หรือ นำมาทอด เพียงแค่นำปลามาแช่น้ำเกลือแล้วทอดเลย หรือคลุกด้วยเครื่องที่มีส่วนผสมของ หอมแดง ตะไคร้ พริกไทย ขมิ้นและเกลือตำให้ละเอียดคลุกคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำไปทอดเรียกว่า “ปลาซาวเครื่องทอด” เนื่องจากปลาชนิดมักอยู่กันเป็นฝูงบางครั้งจึงหามาได้จำนวนมาก ก็จะนิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง โดยวิธีการคือล้างทำความสะอาดไม่ต้องตัดหัวและไม่ต้องเอาขี้ปลาออก แล้วแช่เกลือไว้ประมาณสิบนาทีแล้วนำมาตากแดดให้แห้ง
จิ้งจัง ของมุสลิมบ้านม่วงงาม ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ผู้เขียนซื้อจากแม่ค้าในตลาดนัดเกาะหมีซึ่งท่านรับมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง
หรือจะทำเป็นการถนอมอาหารที่เรียกว่า “จิ้งจัง”[1] โดยการนำมาหมักกับเกลือไว้ประมาณหนึ่งเดือนจะได้ ปลาลูกเละที่มีน้ำด้วย มีลักษณะคล้ายกับปลาร้าหรือปลาแดกของคนอีสานหรือบูดูของคนนายู(มุสลิมแกแจะนายูเป็นภาษาเเม่ในสามจังหวัดชายเเดนใต้) โดยจิ้งจังนั้นสามารถนำมาทำของหรอยได้หลากหลายเมนู เช่น เป็นวัตถุดิบในการนำมาปรุงเป็นน้ำราดข้าวยำเรียกว่า “น้ำเคย” โดยนำมาผสมกับสมุนไพร อ้อยและน้ำตาล ต้มบนเตาไฟไว้หลายชั่วโมง หรือจะนำจิ้งจังมายำก็ได้เช่นกัน โดยสามารถทำได้สองแบบคือ จิ้งจังสดหรือนำจิ้งจังมาต้มก่อนก็ได้แล้วนำมายำโดยการใส่ พริกสด หัวหอม ตะไคร้ พืชให้รสเปรี้ยวเช่น มะม่วงเบา มะนาว กินกับข้าวร้อน ๆ หรือจะใช้เป็นเครื่องจิ้มผักเหนาะก็ได้เช่นกัน
ปลาลูกเหมะแห้ง ของคนมุสลิมบ้านเขาเขียว ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา วะ(ป้า)คนขายให้ข้อมูลว่าหาได้จากทะเลหน้าบ้าน ซึ่งบริเวณนี้อยู่ใกล้ปากทะเลสาบสงขลา
ปลาลูกเหบะทอดกินกับข้าวเหนียวนึ่งสุกที่บ้านหัวพาน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งหาได้จากทะเลสาบสงขลา(ตอนล่าง) ที่บริเวณปลายน้ำคลองอู่ตะเภา
จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอจะพบว่าปลาลูกเละนี้ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแต่ละพื้นที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแต่ชื่อเหล่านั้นมีรากร่วมกันคือเรียกตามภาษามลายู และถือได้ว่าเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ชาวประมงบ้านเรามีภูมิปัญญาในการสร้างเครื่องมือเฉพาะในการจับ เป็นวัตถุดิบหลักในการรังสรรค์อาหารพื้นถิ่นหลากหลายชนิดที่สะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตนและมรดกภูมิปัญญาในการกินของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในกรณีนี้เห็นได้ชัดในเรื่องการทำเป็นจิ้งจังเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาทำน้ำราดข้าวยำที่เรียกว่า “น้ำเคย” อันเเตกต่างไปจากวัฒนธรรมการกินข้าวยำของผู้คนกลุ่มอื่นบนคาบสมุทรมลายูอาทิ ข้าวยำน้ำบูดูของคนนายูซึ่งใช้บูดูเป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาปรุง หรือข้าวยำน้ำปลา ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งใช้ปลาอินทรีย์เค็มนำมาปรุง[2] เป็นต้น
ยำปลาจิ้งจัง ของมุสลิมบ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ที่มา
[1] : สามาถ สาเร็ม .”จิ้งจัง” และ “เคยน้ำ” แห่งลุ่มเลสาบสงขลา อ่านเพิ่มใน : https://muangboranjournal.com/post/jingjang
[2] : สามารถ สาเร็ม. ข้าวยำน้ำปลา : ข้าวยำคนคอน อ่านเพิ่มใน : https://savesingora.com/2023/12/07/%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2-%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%84/