ภาพ สุรเชษฐ์ แก้วสกุล
ชฎาพระลากวัดหาดสูงดูทีแรกค่อนข้างแปลก เพราะเส้นทรงจากเกี้ยวชั้นที่สองลากยาวเป็นเส้นเดียวขึ้นไปถึงยอด ทำให้นึกถึงทรงยอดของชฎาสมัยอยุธยา แต่คุณลักษณะที่ปรากฏให้เห็นนี้เกิดจากการชำรุด
ชฎา หรือจะเรียก เทริด หรือจะเรียก มงกุฎ ของพระลากสกุลช่างนี้ มีพื้นฐานเดียวกันกับพระมหามงกุฎที่พัฒนาขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ดูเหมือนเป็นดีไซน์ที่เป็นนวัตกรรมเครื่องประดับศีรษะของยุคสมัยนี้ที่ไม่ได้ปรากฏมาก่อนในสมัยอยุธยา คือมีเกี้ยวซ้อนกันสามชั้นในระยะห่างที่เท่า ๆ กันเป็นโครงหลัก ระหว่างเกี้ยวและยอดบนสุดจะซอยชั้นกระจังตาอ้อย หรือเพิ่มลดลายประกอบตามความเหมาะสม
โครงสร้างของชฎาพระลากซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยช่างกลุ่มเดียวกันทั้งสามองค์ในสามภาพนี้ เหมือนกันคือการจตีกระบอกเงินเป็นช่วง ๆ หลายช่วงลดหลั่นกันตามขนาดของโครงสร้างแต่ละชั้น ใช้การพับเดือยปากกระบอกเพื่อยึดโครงสร้างแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันโดยไม่ได้ตรึงหมุด หรือบัดกรีให้ยึดแน่น โครงสร้างกระบอกแต่ละชั้นจึงค่อนข้างเป็นอิสระจากกัน สั่นได้ หมุนได้ ตัวกระจังตาอ้อยคาดชั้นย่อย ๆ ใช้การตีแนวกระจังเป็นเส้นเอามาขดกลมให้พอดีแต่ละชั้นแล้วแต้มบัดกรีจุดเล็ก ๆ ใช้ความพอดี และความฝืดยึดแถวกระจังเอาไว้
ชฎาเหล่านี้จึงค่อนข้างชำรุดได้ง่ายเมื่อกาลเวลาผ่านไป หลังถูกเชิญเข้าออกถอดสวม ๆ หลาย ๆ ครั้ง
กรณีของชฎาพระลากวัดหาดสูง เดือยพับของกระบอกเกี้ยวชั้นที่ 3 (บนสุด) ชำรุด แนวคอเกี้ยวจึงยุบลงมารวมกับชุดกระจังย่อยเหนือเกี้ยวชั้นที่ 2 ทำให้คอเกี้ยวหาย ดูไม่เห็นเป็นแนวเกี้ยวสามชั้นแบบที่ควรจะเป็น แถวกระจังก็เลื่อนออกจากแนวตามไปด้วย แต่มีการซ่อมโดยใช้ลวดผูกรัดเป็นจุด ๆ ทำให้องค์ประกอบทั้งหมดยังไม่ขาดหายไป
น่าแปลกเหมือนกันที่ช่างเลือกใช้วิธีการประกอบที่ค่อนข้างบอบบางนี้กับชฎาพระลากที่ต้องเชิญเข้าเชิญออกเสมอทุก ๆ ปี ขณะที่มงกุฎของพระทรงเครื่องเจ้านครพัท ซึ่งน่าจะคือแม่แบบที่ช่างสกุลนี้ใช้พัฒนาแบบชฎาสวมพระลากมีการบัดกรียึดกระบอกโครงสร้างและแถวกระจังอย่างแน่นหนากว่าทั้งที่ไม่ได้เป็นพระสำหรับเชิญออกแห่ไปไหน
อย่างไรก็ตาม แม้กลวิธีการยึดองค์ประกอบของชฎาจะเปราะบาง จากชฎาที่เหลืออยู่ให้เห็นก็แสดงว่าพุทธบริษัทผู้อภิบาลพระลากเหล่านี้มาร่วมร้อยปี แทบไม่เคยสร้างความชำรุดอย่างสำคัญให้เกิดขึ้น ที่ชำรุดไปก็ดูเหมือนยังอยู่ในฐานที่ซ่อมได้ไม่ยาก นอกเสียจากว่าชฎาถูกลักหายสูญไปเสียเลย ซึ่งถ้าถูกลักก็แสดงว่าตอนที่ลักคงยังมีสภาพสมบูรณ์มากทีเดียว
ภาพ สุรเชษฐ์ แก้วสกุล
ภาพ สุรเชษฐ์ แก้วสกุล