“ตูมิ” : น้ำชุบเชื่อมร้อยผู้คนที่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

น้ำชุบตูมิ หนึ่งหม้อใหญ่หลังจากใช้เวลาเคี่ยวสี่ชั่วโมง

ผู้คนที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เรียก “น้ำพริก” ด้วยคำว่า “น้ำชุบ” เป็นเครื่องจิ้มที่มีความหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรที่มีในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสำรวจข้อมูลภาคสนามที่ “บ้านสวนกง” ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หมู่บ้านมุสลิมในวิถีประมงพื้นบ้านที่หาอยู่หากินกับทะเลอ่าวไทย ซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่เรียกตัวเองว่า “คนแขก” มีระบบคำเรียกเครือญาติที่ใช้คำมลายูปตานีผสมกับคำมลายูสงขลา เช่นเรียก “แม่” ว่า “แมะ” หรือ  “มะ” แมะ เป็นคำมลายูปตานี “มะ” เป็นคำมลายูสงขลา สะท้อนอัตลักษณ์การเป็นกลุ่มคนที่อยู่บริเวณรอยต่อทางวัฒนธรรมมลายูกับไทยถิ่นใต้ได้อย่างเด่นชัด

          คนมุสลิมบ้านสวนกงนอกจากทำประมงแล้วยังทำสวนอีกด้วย เป็นความพิเศษอย่างหนึ่งส่งผลให้อาหารการกินของคนที่หมู่บ้านแห่งนี้ มาจากฐานทรัพยากรที่หลากหลายไปด้วย ซึ่งจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังหนึ่งของหรอยคือ “ตูมิ” หรือ “น้ำชุบตูมิ” (ตูมิ ภาษามลายูแปลว่า เคี่ยว) คุณอัคตีรมีซี อาหามะให้ข้อมูลว่า “ตูมิสตามการเรียกในภาษามลายูกลาง หมายถึง การเคี้ยว หรือ ผัด จนแตกมัน หรือ สุกหอม คนมาเลเซีย จะเรียกแกงตูมิส ว่า Gulai tumis.ซึ่งจะเอาปลากระเบนมาเเกงกับลูกกระเจี้ยบเขียว” ของหรอยขึ้นชื่อคนมุสลิมบ้านสวนกง  การันตีได้จากชื่อเสียงอันเป็นที่รับรู้กันทั้งตำบลนาทับว่า “น้ำชุบตูมิ” ของบ้านสวนกงเป็นของขึ้นชื่อว่าอร่อยกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ เนื่องจากตำบลแห่งนี้ มีทำเนียมที่ตกลงร่วมกันและถือปฏิบัติสืบต่อกันมา คือเมื่อหมู่บ้านใดมีงานบุญใหญ่ เพื่อหาเงินมาใช้ในกิจการทางศาสนาอิสลามเช่น หางบสร้างมัสยิด ผู้คนที่สังกัดมัสยิดแต่ละหลังตามหมู่บ้าน จะต้องทำ “น้ำชุบตูมิ” ของแต่ละมัสยิด ไปมอบให้กับหมู่บ้านที่จัดงานเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน

เมื่อสองอาทิตย์ก่อนบ้านสวนกงได้จัดงานมัสยิด หมู่บ้านในตำบลนาทับ ก็นำน้ำชุบตูมิมาให้ทุกหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันคนมุสลิมบ้านสวนกง ต่างช่วยกันทำน้ำชุบตูมิขึ้นมาอีกสี่กระทะใหญ่ เพื่อใช้เลี้ยงเเขกและจำหน่ายหาทุนให้กับมัสยิดอีกทางหนึ่ง ผลปรากฏว่าขายดีมาก หลังจากเสร็จงานมีคนในหมู่บ้านทำน้ำชุตูมิขายด้วย เนื่องจากเป็นเสียงเรียกร้องของคนต่างหมู่บ้านที่มาร่วมงาน

วะหนั๊บ” (นางไซนับ ระหมันยะ) แม่ครัวหลักทำน้ำชุบตูมิในครั้งนี้

น้ำชุบตูมิกับความสามัคคีของผู้คน

  การทำ “น้ำชุบตูมิ” แต่ละครั้งต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในหมู่บ้าน หรือถ้าทำในระดับครอบครัวก็ต้องช่วยกันหลายคนในหมู่เครือญาติ เมื่อทำเสร็จก็แจกจ่ายแบ่งปันกัน สิ่งนี้คือหัวใจหลักของเมนูหรอยชนิดนี้ ผู้เขียนโชคดีมีโอกาสได้บันทึกข้อมูล การทำน้ำชุบตูมิที่มีเเม่ครัวหลักคือ “วะหนั๊บ” (นางไซนับ ระหมันยะ) อายุ ๕๕ ปี ซึ่งชักชวนญาติ ๆ มาร่วมกันทำ เพื่อมอบให้น้องชายที่ไปแต่งงานกับคนต่างพื้นที่ ซึ่งมาเที่ยวที่บ้าน ได้นำกับไปรับประทานและเเจกญาติ ๆ ฝ่ายภรรยา ซึ่ง คุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ สถาปนิกชุมชน จากบริษัท Around the room studio พี่สาวที่ใจดีของผู้เขียนและรวมถึงคนมุสลิมบ้านสวนกง ได้ร่วมสนับสนุนทุนเพิ่มเติม เพื่อจะนำไปฝากกัลยานมิตรที่จังหวัดปัตตานีด้วย

โดยมีส่วนผสมหลักคือ ๑.กะทิ ๒.เครื่องแกงซาระมั่น ๓.เครี่องแกงคั่ว มีวิธีการทำดังนี้ นำน้ำกะทิลงตั้งไฟให้เดือด ตามด้วยใส่เครื่องแกงทั้งสองลงไปแล้วเคี่ยวไปเรื่อย ๆ ซึ่งคำว่าเคี่ยวนี้ในภาษามลายูกลางเรียกว่า “ตูมิส” (Tumis) มุสลิมบ้านสวนกงเรียกว่า “ตูมิ” วิธีการทำที่ต้องอาศัยการเคี่ยวหลายชั่วโมงจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกหรือเรียกได้ว่าชื่อเรียกมาจากกรรมวิธีการทำนั่นเอง เราใช้เวลาเคี่ยวถึง ๔ ชั่วโมงจึงได้ “ตูมิ” หรือ “น้ำชุบตูมิ” หนึ่งหม้อใหญ่ เมื่อใกล้เสร็จจะต้องเบาแก๊สให้ไฟเบาลง และต้องออกแรงเพิ่มมากขึ้นเพราะ น้ำชุบตูมิยิ่งแห้งจะยิ่งมีความหนืด รวมถึงต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะน้ำชุบตูมิจะกระเด็นออกจากกระทะมากขึ้น แก้ปัญหาด้วยการใช้ไม้กวนที่มีด้ามจับยาวหน่อย วันนี้เราใช้ทางมะพร้าวทำเป็นที่กวน เมื่อแห้งได้ทีตามสูตรวะหนั๊บก็จัดการตักใส่หม้อ ตั้งไว้ให้เย็น

ระหว่างรอให้น้ำชุบตูมิเย็นลง ผู้เขียนได้ติดตาม “บัง” กับ “ก๊ะ” สองสามีภรรยาที่น่ารักไปที่บ้านเพื่อไปเก็บผักมากินเป็นผักเหนาะกับน้ำชุบตูมิ ซึ่งได้ผักดังนี้ ยอดยาร่วง ยอดใบราม ยอดหมุย ใบขี้หนอน

 กลับมาจากเก็บผักจึงได้เห็นบรรยากาศที่ทุกคนกำลังช่วยกันตัก “น้ำชุบตูมิ” ใส่ภาชนะ หรือใส่ถุงเพื่อแบ่งปันกัน ส่วนผมก็จัดการล้างผัก นั่งล้อมวงกินน้ำชุบตูมิร่วมกันที่ริมทะเลหน้าหมู่บ้าน โดยซาวข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยแล้ว หรือจะหา ไข่ต้ม ปลาย่าง มากินร่วมด้วยก็อร่อยขึ้นไปอีก

ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๗ นี้ทางหมู่บ้านจะมีการจัดงาน อะโบ้ยหมะครั้งที่ ๑๐ ตอนจะนะยั่งยืน ที่ชายหาดบ้านสวนกง ผู้เขียนกับคุณคุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ได้เสนอไอเดียกับบังนีแกนนำหลักในการจัดงานครั้งนี้ หลังจากได้ฟังข้อมูลขณะที่ช่วยทำน้ำชุบตูมิ ให้ทางคนในหมู่บ้าน ทำน้ำชุบตูมิเพื่อเลี้ยงในงานนี้และพัฒนาเป็นสินค้าของคนมุสลิมบ้านสวนกงด้วย ซึ่งบังนีและชาวบ้านก็เห็นด้วย ของหรอยที่สื่อสารถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ ได้อย่างมีชีวิตและสะท้อนตัวตน ความสามัคคีที่ต่อสู้ ปกป้องฐานทรัพยากรของหมู่บ้านมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ให้เป็นของหรอยที่ใครมาบ้านสวนกง จะต้องมาลิ้มลองกัน  

  “ตูมิ” หรือ “น้ำชุบตูมิ” ของคนมุสลิมบ้านสวนกง ของหรอยที่สื่อรานถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ได้เป็นอยากดี หากท่านใดอยากจะซื้อหาไปลิ้มลองสามารถติดต่อไปได้ในเพจ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ครับ  

ผู้เขียน

น้ำชุบตูมิ ของกลุ่มเต่าไข่บ้านสวนกง จำหน่ายในงานอะโบียหมะ ครั้งที่ ๑๐ ภาพถ่ายโดยคุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์

ข้าวกินกับน้ำชุบตูมิไข่ต้ม ในงานอะโบียหมะ ครั้งที่ ๑๐ ภาพถ่ายโดยคุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์

ข้าวกินกับน้ำชุบตูมิไข่ต้ม ในงานอะโบียหมะ ครั้งที่ ๑๐ ภาพถ่ายโดยคุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น