ลุ่มเลสาบกับรากมลายูในชื่อปลา : ปลาบูหลัน (Ikan Bulan)

หลายวันก่อนผมไปเดินตลาดนัดวัดคูเต่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านผู้เขียน พ่อค้าเเม่ค้าจะมาขายกันเฉพาะช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี ขายกันในพื้นที่ของวัด ริมคลองอู่ตะเภา เป็นตลาดพื้นบ้านคนในพื้นที่เชื่อกันว่ามีมาเเล้วไม่ต่ำกว่าร้อยปี ผู้คนจากหลากหลายหมู่บ้านต่างนำสินค้าที่ผลิตหรือหามาได้ในท้องถิ่นของตนเอง มาขายที่นี่ แม่ค้ามุสลิมบ้านควน บ้านของผู้เขียนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๒ กิโลเมตร จะนำสินค้าจากวิถีประมงที่หาอยู่หากินในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง(เลใน)มีทั้งกุ้ง หอยปู ปลาหลากหลายชนิด ครั้งนี้ที่ผู้เขียนมาเยือนตลาดแห่งนี้ พบว่าท่ามกลางความหลากหลายของชนิดปลา ผมสะดุดตาเข้ากับปลาตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว และครั้งนี้คือครั้งที่สองที่พบปลาชนิดนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ลิ้มรสปลาชนิดนี้มาก่อนเลย ทั้งที่เกิดมาในวิถีของผู้คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 

จึงไม่พลาดที่จะอุดหนุนแม่ค้า หิ้วเจ้าปลาตัวที่มีชื่อไพเราะนี้กลับมาด้วย มีน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม ราคาแค่ ๔๐ บาทเท่านั้น แม่ค้าบอกว่าจับได้โดยใช้กัด(อวน) เจ้าปลาที่ว่านี้เราเรียกด้วยชื่อท้องถิ่นว่า “ปลาบูหลัน” หรือ ที่ออกเสียงว่า บูลัน (Bulan) ในภาษามลายูกลาง มีความหมายว่า “ดวงจันทร์” หรือ เดือน ในภาษาไทยถิ่นใต้นั่นเอง และพบว่าภาษาไทยถิ่นใต้บางพื้นที่จึงเรียกว่า “ปลาเดือน” ซึ่งภาษามลายูกลางเรียกว่า “อีกันบูลัน” (Ikan Bulan) อีกันแปลว่า “ปลา” ผู้เขียนได้สอบถามกัลยาณมิตรชาวมลายูปตานีและมลายูกลันตัน ได้ข้อมูลว่าเรียก “อีแกบูแล” (อีแก แปลว่า ปลา ส่วนบูแล แปลว่า ดวงจันทร์จะเห็นได้ว่า “บูหลัน” ที่เรียกกันในกลุ่มมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้นั้นออกเสียงเหมือนภาษามลายูกลาง และแตกต่างไปจากภาษามลายูปตานีกับมลายูกลันตัน สำหรับชื่อเรียกข้างต้นทั้งคนมลายูและคนไทยต่างเรียกปลาชนิดนี้ในความหมายเดียวกันหมายถึงดวงจันทร์ จะเป็นไปได้ไหมว่า เป็นการเรียกตามลักษณะทางกายภาพของปลาชนิดนี้ กล่าวคือมีลำตัวที่โค้งคล้ายจันทร์เสี้ยวและมีสีของเกล็ดที่ขาวแวววาวมองดูคล้ายดวงจันทร์ 

             ในหนังสือ “ปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” หน้า ๑๐ จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง กรมทระพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุชื่อเรียกไว้ว่า “ปลาตาเหลือกสั้น” (ชื่อวิทยาศาสตร์: Megalops cyprinoides; อังกฤษ: Indo-Pacific tarpon) ลักษณะ ลำตัวแบน ปากกว้าง ขากรรไกรบนยาวเลยขอบตาเล็กน้อย มีแผ่นกระดูกแข็งใต้คาง แถวเกล็ดหน้าครีบหลังมี ๑๖ เกล็ด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน ๑๖ – 21 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 23 – 31 ก้าน ฐานครีบท้องและครีบอกมีเกล็ดรูปยาว จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของครีบท้อง ก้านครีบก้านสุดท้ายของครีบหลังยื่นยาวออกมาเป็นเส้น ครีบหางว้าวลึก ลำตัวมีสีเงิน ครีบต่าง ๆ ใส ครีบทางสีขาวขุ่น ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 150 เซนติเมตร การแพร่กระจาย ทะเลสาบตอนกลาง ทะเลสาบตอนล่าง ปากทะเลสาบและชายฝั่งทะเลอ่าวไทย[1]

เมนูหรอยจากปลาบูหลัน

             เมื่อนำกลับมาถึงบ้าน ผู้เขียนจึงได้ขอความรู้จากมะ(แม่) ถึงเมนูหรอยจากเจ้าปลาชนิดนี้ แม่ค้าที่ขายให้แนะนำว่านำมาแกงส้มก็หรอย แต่วันนี้ผู้เขียนรู้สึกไม่ค่อยอยากจะกินเมนูแกงส้มสักเท่าไร มะบอกว่าปลาบูหลันนี้มีเนื้อนิ่ม แต่ก้างเยอะ ซึ่งเมื่อนำมาทำ “ปลาอับเกลือ” จะกินอร่อยกว่าแกง เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วผู้เขียนจึงทำ “ปลาบูหลันอับเกลือ” โดยมีวิธีการทำดังนี้ 

สับครีบกับหางปลาออก ไม่ต้องขูดเกล็ดปลา แล้วเจาะที่หลังของตัวปลาเพื่อเอาขี้ปลาออก ล้างท้องและตัวปลาให้สะอาด ขณะผู้เขียนใช้นิ้วล้วงลงไปในตัวปลาพบว่าเนื้อของปลามีความนิ่มเป็นอย่างมากจนแอบคิดว่าปลาไม่สดหรือเปล่า แต่มะบอกว่าปลายังสด เนื้อนิ่มแบบนี้ถือว่าปกติ  แล้วนำมาวางไว้ให้สะเด็ดน้ำ 

หลังจากนั้นนำเกลือยัดลงไปเรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า “จุกเกลือ” ในท้องปลาผ่านทางหลังของปลาที่เจาะไว้ คลุกเกลือที่ตัวปลา แล้วนำมาใส่ภาชนะปิดไว้ให้มิดชิด ทิ้งไว้สามวันเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เกลือละลายซึมเข้าไปในตัวปลา แล้วนำมาทอดรับประทานกับข้าวสวยหรือข้าวเปียก(ข้าวเจ้าต้มกับน้ำเปล่าหรือน้ำกะทิจนเละ)ก็ได้ หรือจะนำมาทำเมนูยำ โดยการบีบมะนาว ซอยหอมแดง พริกสดลงไปก็อร่อยไม่แพ้กัน 

จากการที่ได้ลิ้มลองผู้เขียนพบว่าเนื้อปลานิ่ม มีความมันผสมกับความเค็มที่ซึมเข้าไปในตัวปลารสชาติถือว่าใช้ได้ทีเดียว และนี่ถือเป็นการได้ลิ้มลองเมนูจากปลาบูหลันเป็นครั้งแรก ขณะรับประทานก็มีความคิดผุดขึ้นมาได้ว่า ชนิดของปลาในทุกวันนี้ความหลากหลายน้อยลงจากในอดีตมาก ซึ่งทำให้ส่งผลถึงองค์ความรู้ในด้านวิธีการปรุง เมนูต่าง ๆ ที่ใช้ปลาเป็นวัตถุดิบก็พลอยค่อย ๆหายไปด้วยเช่นกัน แม้เเต่เรื่องของชื่อปลาที่บรรบุรุษของเราใช้เรียกขานต่อ ๆ  กันมาก็สูญหายไปด้วย ผู้เขียนนั้นยังโชคดีที่มีมะให้ถามและได้บันทึกเรื่องราวของปลาและเมนูจากปลาชนิดนี้เอาไว้ ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ พวกเรามุสลิมแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานั้น ยังคงเรียกชื่อปลาชนิดนี้ด้วยภาษามลายู ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นคำภาษามลายูที่หลงเหลือในชื่อปลาที่เราหาได้ในวิถีประมงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแผ่นดินเกิดของเรา

อ้างอิง

[1] : ศักด์อนันต์ ปลาทอง.(๒๕๕๒).หัวหน้าโครงการศึกษารวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.ปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.พิมพ์ครั้งที่ ๑.สงขลา : ไอดีไซน์

ขอขอบคุณ

คุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น