จับเสือที่หัวเขา : พลิกจดหมายเหตุ และเกร็ดพงศาวดารเรื่องเสือร้ายที่ปลายคาบสมุทรสทิงพระ

    หากท่านผู้อ่านเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเมืองสงขลา ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านคงได้เคยไปตามรอยเมืองเก่าสงขลาฝั่งหัวเขา อันเป็นเมืองที่ปกครองโดยเจ้าเมืองมุสลิมต่อเนื่องกันสามท่านคือ โต๊ะโมกอล สุลต่านสุไลมานผู้เป็นลูก และท่านสุลต่านมุสตาฟา หลังจากเสียเมืองในสงครามกับอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จนถูกเทครัวไปอยู่เมืองไชยา และภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยาดังปรากฎกูโบร์ของท่านที่บ้านโต๊ะเจ้าในปัจจุบัน ร่องรอยของเมืองเก่าสมัยผู้ปกครองมุสลิมนั้นยังปรากฏ คูเมือง กำแพง ป้อมเมืองตั้งแต่ที่ราบจนถึงบนเขาแดง ที่สำคัญยังมีหมู่บ้านคนแขก (มุสลิม) ขนาดใหญ่ที่อยู่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเมืองเก่าสงขลาหัวเขาแดง คือบ้านหัวเขา (ใหญ่)

ชุมชนมุสลิมโบราณที่บ้านหัวเขาอันเป็นพื้นภูมิของเรื่องเจ้าเมืองจับเสือ ที่บริเวณมุมขวามือของภาพจะเห็นภูเขาลุกเล็ก ๆ อันเป็นที่ตั้งของ “โบสถ์แขก” ตามปรากฏในพระราชพงศาวดาร

    ทางทิศเหนือของบ้านหัวเขา จะมีศาลาที่เรียกว่า #หลาหลบเสือ มีลักษณะเป็นศาลาก่อปูน มีห้องที่กันผนังอย่างมิดชิด หลังคาทรง ปั้นหยา เป็นร่องรอยสำคัญที่อาจบ่งชี้ว่าในอดีต พื้นที่แถบนี้เป็นแหล่งที่อยู่ของเสืออย่างชุกชุม จนต้องมีการสร้างศาลาดังกล่าวขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักสำหรับคนเดินทางได้มีความปลอดภัยจากเจ้าตัวร้ายที่เรียกว่า “เสือ” ได้

ภาพศาลาหลบเสือที่บ้านหัวเขา

    ในพงศาวดารเมืองสงขลามีการบันทึกเรืองราวเกี่ยวกับเสือในพื้นที่ของตำบลหัวเขาไว้ด้วย โดยถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองสงขลา #พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งปกครองเมืองสงขลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๑ – ๒๓๙๐ ได้ไปจับเสือที่บริเวณบ้านหัวเขา มีข้อความดังนี้

“…พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) อัธยาศัยดุร้าย #จนราษฎรเรียกกันว่าเจ้าคุณเสื้อ เหตุด้วยท่านเกณฑ์ราษฎรไปล้อมจับเสือที่ตำบลบ้านศีศะเขา เพราะที่นั่นเป็นที่เสือป่าชุกชุม วิธีล้อมจับเสือนั้นพิศดารหลายอย่าง คือเกณฑ์ราชษฏรทำแผงไม้ไผ่กว้าง ๖ ศอก ยาว ๖ ศอก เหลี่ยมไว้เสมอ ทุกกำนัน ๆ ละ ๑๐ แผงบ้าง ๑๒ แผงบ้าง ๑๕ แผงบ้าง

    เมื่อเสือเข้ามากัดสุกรหรือโคของราษฎรที่ตำบล บ้านศรีษะเขา พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) มีคำสั่งเรียกราษฏรแลแผงทันที ให้มาล้อมจับเสือ ถ้าราษฏรมาไม่พร้อมในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง ก็ต้องรับอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ที แลต้องจำคุกด้วย เมื่อราษฎรพาแผงมาพร้อมกันแล้วก็ช่วยกันเอาแผงแผงล้อมเสือเข้าโดยรอบ ด้านนอกแผงนั้นให้ราษฎร กองเพลิงตีเกราะนั่งยามโดยรอบแผง

    พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) #มีอาญาสิทธิเต็มอำนาจเหมือนกับอาญาสิทธิแม่ทับใหญ่ ครั้นเวลาเช้าพระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) จัดให้ราษฎรพวกหนึ่งถือหอก แลง้าวพร้อมขวาน เข้าไปอยู่ในแผงราษฎรพวกหนึ่งค่อยขยับแผงตามหลังเข้าไปให้วงแผงที่ล้อมนั้นเลื่อนน้อยเข้าทุกครั้ง เมื่อถางป่าขยับแผงน้อยเข้าไปทุกวัน ๆ เสือซึ่งอยู่ในที่ล้อมกระโดดกัดเอาคนซึ่งอยู่ในแผงสามชั้น วันละ ๒ – ๓ คน ถึงแก่กรรมบ้าง เจ็บป่วยลำบากบ้าง พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) ก็รีบเร่งให้ราษฎรล้อมเสืออยู่เสมอ ในเวลานั้นปรากฏว่า เสือกัดราษฏรในที่ล้อมหลายสิบคน เมื่อล้อมแผงเข้าไปชิดตัวเสือแล้ว เสือก็ตกใจกระโดดขึ้นไปบนต้นมะปริงใหญ่ #ริมโบสถ์แขกตำบลบ้านศรีษะเขาเดี๋ยวนี้เพื่อจะกระโดดข้ามแผงหนีออกไป พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) ยิงเสือด้วยปืนคาบสิลาที่มีชื่อว่า อีเฟือง ถูกขมองศรีษะเสือพลัดตกลงจากต้นปริงตายในทันที่” [๑]

ภาพถ่ายเก่าของชุมชนมุสลิมที่บ้านหัวเขา กลางภาพขวามือจะเห็นหลังคาในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสของมัสยิดมัสยิดยาบัลโหร๊ะเหราะหม๊ะ มัสยิดเก่าแก่ศูนย์กลางชุมชน ที่เนินเขากลางภาพด้านซ้ายมือคือกลุ่มอาคารของมัสยิดหลังเก่า สันนิษฐานว่าคือ #ริมโบสถ์แขกตำบลบ้านศรีษะเขา ซึ่งถูกระบุถึงในพงศาวดารเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง)

    จากพงศาวดารที่ยกมาพบว่าพระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) มีการสั่งให้ราษฎรทำเครื่องมือสำหรับจับเสือขึ้นโดยเฉพาะ เมื่อมีเสือกินหมูหรือโค ( วัว ) ของราษฏร สามารถสั่งให้ชาวบ้านจับได้ทันที บ้างครั้งพระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) ได้มาจับเสือด้วยตนเองที่บ้านหัวเขา ดังข้อความข้อความที่ว่า

“…#เสือก็ตกใจกระโดดขึ้นไปบนต้นมะปริงใหญ่ริมโบสถ์แขกตำบลบ้านศีรษะเขา…” (โบสถ์แขกในที่นี้ก็คือสุเหร่าของบ้านหัวเขา (มัสยิดยาบัลโหร๊ดเหร๊ะหม๊ะ) หลังเก่าที่ตั้งอยู่บนเนินเขา [๒])

การประดับตกแต่งที่ซุ้มมุขทางเข้ามัสยิดยาบัลโร๊ดเร๊าะม๊ะ

    น่าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเจ้าเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) จึงได้ให้ความสำคัญกับการจับเสือเป็นอย่างมากนอกจากสาเหตุที่เสือลงมากัดหมูวัวของราษฎรแล้วน่าจะยังมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่ ผู้เขียนได้อ่านเจอจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๒๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๕๔ พบว่าทางราชสำนักได้มีใบบอกลงมายังเมืองสงขลาว่า มีความต้องการให้เมืองสงขลาจัดหาเสือให้ มีข้อความดังนี้

“… แลบอกด้วยมีพระราชโองการให้กรมปลัด กรมนายเวร ทำห่างว่าวรายชื่อตำบลบ้านเล็กขึ้นซึ่งอยู่ ณ หัวเมืองปักษ์ใต้ ไปยื่น ณ กรุงให้เสร็จสิ้นเชิง จะได้รู้จักจำนวนว่ากรมไหนมากน้อยเท่าใด #แลบอกด้วยจะต้องพระราชประสงค์เสือเป็นไปทอดพระเนตร…” [๓]

    แม้ว่าปี พ.ศ. ของใบบอกดังกล่าว จะส่งมาในช่วงที่เมืองสงขลาปกครองโดย #พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ซึ่งปกครองสงขลาตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๕๔ – ๒๓๖๑ [๔] ก็จริง แต่ในระหว่างที่พระยาสงขลา (#เถี้ยนจ๋ง) ปกครองนั้น พระยาวิเชียรคีรี (#เถี้ยนเส้ง) ซึ่งมีชื่อเรื่องการจับเสือ และรับหน้าที่ปกครองเมืองสงขลาต่อมานั้น ก็ได้รับราชการอยู่แล้วโดยมีตำแหน่งเป็น #หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา (ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระสุนทรนุรักษ์ โดยลำดับ) [๕] เป็นไปได้หรือไม่ว่าขณะที่พระยาวิเชียรคีรี (เถี่ยนเส้ง) มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่มีอำนาจปกครองไม่น้อยนั้น ท่านจะเป็นผู้ช่วย หรือรับหน้าที่จากเจ้าเมืองสงขลาในการจัดหาเสือเพื่อส่งไปให้ราชสำนักที่ส่วนกลางมาก่อน จนชำนาญคุ้นเคยกรรมวิธีจับเสือ ครั้นเมื่อขึ้นเป็นเจ้าเมืองสงขลาแล้วก็ยังพึงใจในการจับเสือ และได้กระทำต่อมาจนเป็นที่เล่าขานในหมู่ชาวเมืองรุ่นหลัง

    จากหลักฐานสามอย่างประกอบกัน พื้นที่บริเวณเมืองสงขลาฝั่งหัวเขา คงเป็นแหล่งที่มีเสือชุกชุมจริง ๆ น่าสนใจว่าเสือเหล่านี้ได้เคยถูกส่งไปยังราชสำนักเท่าไหร่ ส่งไปแล้วได้รับการดูแลอย่างไร มีการจับเสือในฐานะของป่าเพื่อแปรรูปส่งขายไปยังหัวเมืองอื่น ๆ หรือไม่ และเสือที่หัวเขาซึ่งเคยมีอย่างชุกชุมนี้ จะเคยมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจและการเมืองของเมืองสงขลา จนกระทั่งมันลดจำนวนลงและหมดไปในที่สุด คำถามเหล่านี้เรายังไม่มีข้อมูลที่จะตอบได้ชัดเจนนัก น่าจะได้สืบค้นทำความเข้าใจต่อไป

เสือในจิตรกรรมอุโบสถวัดคูเต่า เสือท้องถิ่นในลุ่มทะเลสาบสงขลาเหล่านี้ถูกวาดเอาไว้แทนราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง ที่มาปรากฏกายขัดขวางนางมัทรีไม่ให้เดินทางกลับไปยังอาศรม

#โบสถ์แขก ในที่นี้คือมัสยิดยาบัลโหร๊ะเหราะหม๊ะหลังเดิมที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาที่อยู่ข้างหลังมัสยิดหลังปัจจุบัน เขาลูกดังกล่าวผู้เขียนได้ข้อมูลเมื่อหลายเดือนก่อนที่ไปลงภาคสนามจากบัง (กฤษ) ว่า เขาลูกนี้ไม่มีชื่อแต่ถูกเรียกกันว่าเขาโรงเรียนเนื่องจากว่าเมื่อก่อนโรงเรียนบ้านหัวเขาตั้งอยู่บนเขาลูกนี้ก่อนย้ายลงมาอยู่ที่ปัจจุบัน

https://9c4ac646-31d4-455e-8758-c1ef1b3b1c3e.usrfiles.com/html/db9376e69cfa487ea0fa0b912ae51a4f_v1.html

ตำแหน่งอันเป็นพื้นภูมิของการจับเสือ

อ้างอิง

[๑] ประวัติพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) รวมอยู่ท้ายพงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียร (ชม) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ เรียบเรียง . ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๖ – กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.

[๒] กฤช พิทักษ์คุมพล . ( ๒๔๔๙ ). หนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ (พิมพ์ครั้งที่ ๑)

[๓] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171-1173พระนคร : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2513

[๔] กองการศึกษา เทศบาลเมืองสิงหนคร . ( ๒๕๕๘ ) . บรรพบุรุษ และสายสัมพันธ์ตระกูล ณ สงขลา. ค้นจาก https://www.sites.google.com/site/edumeuxngsinghnkhr/wad-bn-web-1/brrphburuslaeasaysamphanthtrakulnsngkhla

[๕] กองการศึกษา เทศบาลเมืองสิงหนคร . ( ๒๕๕๘ ) . บรรพบุรุษ และสายสัมพันธ์ตระกูล ณ สงขลา. ค้นจาก https://www.sites.google.com/site/edumeuxngsinghnkhr/wad-bn-web-1/brrphburuslaeasaysamphanthtrakulnsngkhla

เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/jubsua

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น