มัสยิดมัสยิดฟูหล่าหลนนาอีม บ้านพรุหมาก ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสไปสำรวจข้อมูลภาคสนามโซนอำเภอจะนะ อำเภอเทพา พื้นที่รอยต่อทางวัฒนธรรมที่มีคนหลายกลุ่มความเชื่อ ภาษาอาศัยอยู่ร่วมกัน กรณี มุสลิมแบ่งได้เบื้องต้นคือ ๑.มุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่เรียกตนเองว่าคนแขก 2.มุสลิมที่ใช้ภาษามลายูปตานี(แกแจะนายู) เป็นภาษาแม่ เรียกตนเองว่า ออแรนายู(คนนายู) 3.มุสลิมที่พูดมลายูสำเนียงเคอเดาะห์(จากัปมลายู) เป็นภาษาแม่เรียกตัวเองว่า อูรังมลายู(คนมลายู) ทั้งนี้มุสลิมสองกลุ่มหลังมักแหลงไทยถิ่นใต้ได้ด้วย  มีจุดหมายปลายทางเพื่อไปพบบังหมัดที่บ้านโคกแซะ ตำบลเทพา อำเภอเทพา

    ตำบลเทพามีแปดหมู่บ้านเกือบทั้งตำบลเป็นคนมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่ มีวัฒนธรรมแบบเดียวกับมุสลิมในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือมุสลิมในวัฒนธรรมซิงฆูรา (มุสลิมที่สืบทอดวัฒนธรรมมาจากยุคสุลต่านสุลัยมาน นครรัฐสุลต่านที่ปากทะเลสาบสงขลาสมัยอยุธยา ) มีเพียงบริเวณหมู่ 1ชุมชนตลาดแขกประมาณ 40 หลังคาเรือนเป็นคนนายู

บังหมัดให้ข้อมูลว่า

    “….มุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้นั้นในอดีตจะละหมาดร่วมกันทั้งหมดที่มัสยิดบ้านพรุหมากเป็นมัสยิดหลังแรกของอำเภอเทพา บริเวณมัสยิดมีกูโบร์เป็นที่ฝั่งของคนมุสลิมกลุ่มนี้ทั้งตำบลมาแต่เดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแยกมัสยิดไปบ้างแล้วเนื่องจากว่าแต่ละหมู่บ้านมีจำนวนสัปบุรุษเพิ่มขึ้น แต่ทุกปีจะมีการทำมูโลด (ทำบุญวันเกิดนบี) ร่วมกันแต่ละหมู่บ้านจะมีการแห่ต้นพลูมายังมัสยิดบ้านพรุหมาก…เดือนหกขึ้นสิบห้าของทุกปี ทุกหมู่บ้านยังมาทำบุญกุโบร์ร่วมกันที่กูโบร์มัสยิดบ้านพรุหมาก มีการดับจาดในงานบุญกุโบร์ด้วย…เราเรียกเครื่องหมายบนหลุมฝังศพว่า “ไม้แลสัน” ส่วนคนนายูตลาดแขกเรียก “แนแซ”…คนนายูจะมีมัสยิดของเขาและกูโบร์ของเขาแยกไปต่างหากมาแต่เดิม…”

    ทั้งนี้ประเพณีทั้งสองนี้เป็นลักษณะเฉพาะที่พบได้ในมุสลิมรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแต่ไม่ปรากฏจารีตนี้ในกลุ่มมุสลิมมลายูอื่น ๆ ท่านใดสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่องคนแขกลุ่มน้ำทะเลสายสงขลา พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ และในงานศึกษาของผู้เขียนเรื่องคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพพบว่า “ไม้แลสัน” เป็นคำเรียกที่ใช้กันเฉพาะกลุ่มคนมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากยุคสุลต่านสุลัยมาน ถูกเรียกอยู่รอบลุ่มเลสาบและชุมชนมุสลิมซิงฆูราพลัดถิ่นที่เมืองไชยาเป็นคำเรียกเฉพาะที่มลายูกลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้เรียก เช่นคนนายูเรียกว่า “บาตูแนแซหรือตานอ” คนมลายูสตูลเรียก “ตาหนา” มลายูนครศรีธรรมราชเรียก “ตาหนอ” หรือมลายูเคดะห์ที่นาทวีเรียก “แนซะ” ข้อมูลข้างต้นเสนออยู่ในบทความเรื่อง คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพคนเเขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๖๔ เผยแพร่ครั้งที่ ๒ (ออนไลน์) www.Kidyang.com เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ อ่านบทความฉบับเต็ม : https://kyproject19.wixsite.com/…/%E0%B8%9A-%E0%B8%B2…

“ประวัติมัสยิด”

                (ข้อมูลประวัติมัสยิดผู้เขียนนำมาจากป้ายให้ข้อมูลที่มัสยิด ระบุที่มาไว้ว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านและทายาทอิหม่าม ผู้เรียบเรียง นายอะหามะ ดาโหะ (เลขานุการประจำมัสยิดฯ) 27 มกราคม 2559 )

    “…เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 นายยีมะหลี หรนหลี ณ บริเวณมัสยิดปัจจุบันและได้มีผู้อาศัยอยู่บริเวณ มาร่วมละหมาดกับท่าน ณ ที่บ้าน ต่อมาท่านได้สร้างเป็นมัสยิด รูปแบบกั้นด้วยสังกะสี มุงหลังคาด้วยกระเบื้องอิฐดินเผา เทพื้นด้วยซีเมนต์ ต่อมาปี พ.ศ.2493  นายหะยีมุ มูณี ซึ่งเป็นหลานเขยของท่านได้ร่วมกับชาวบ้านและช่าง 4 ท่านคือ

   1.นายหลี ลาไหน

   2.นายโกะ ลาไหน

   3.นายสัน เหล็มและ

   4.นายการียา ยูโซ๊ะ…”

   “…ได้ทำการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้น การก่อสร้างได้ใช้แรงงานชาวบ้านล้วน ๆ โดยใช้ควายในการลากจูงไม้แล้วนำมาเลื้อยด้วยเลื้อยคันชักแบบโบราณ ทำกันทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะเวลากลางคืนได้ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดในการให้แสงสว่าง และหินที่ใช้ในการก่อสร้างก็ใช้แรงงานคนในการย่อยหินขนาดใหญ่ให้เล็กลงโดยใช้ค้อนขนาดใหญ่ทุบ และในการปรับพื้นที่ที่จะก่อสร้างก็ได้อาศัยแรงงานคนในการขุดโดยใช้จอบและเสียมขุดดินมาถมให้สูงกว่าเดิม ได้สร้างเป็นอาคารมัสยิดแบบสูงเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีตปูด้วยกระเบื้อง ฝาผนังเป็นคอนกรีตแบบเท ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ปูพื้นด้วยไม้และกั้นด้วยไม้กระดาน ส่วนเพดานด้านในชั้นแรกตีด้วยไม้กระดาน ชั้นที่ 2 และ 3 ไม่มีเพดาน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา รูปทรงหลังคาคล้ายสถาปัตยกรรมแบบลังกาซูกะ …”

   “…ต่อมาปี พ.ศ.2528  มัสยิดหลังดังกล่าวได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาท่านอิหม่าม #ยะโกะ ดาโหะ ซึ่งเป็นอีหม่ามขณะนั้นได้ปรึกษากับ ฮัจญะห์ มูณี (โต๊ะหม๊ะ ภรรยาหะยีหมุ) กรรมการมัสยิดและชาวบ้านเพื่อทำการรื้อบางส่วนและทำการซ่อมแชม โดยเฉพาะเพดานที่ทำด้วยไม้กระดานเกิดการเปื่อยของไม้ หลังคาเกิดการรั่วเพราะกระเบื้องมุงหลังคาทำด้วยดินเผาจึงเปื่อยตามการเวลา พร้อมกันนี้ได้ขยายต่อเติมมัสยิดให้กว้างขึ้น เพราะมีผู้ร่วมละหมาดมากขึ้น แต่ยังคงรักษารูปแบบฐานล่างไว้คงเดิม และได้เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้องลอน…”

   “…ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2547 นายตอฮ๊าต นิหะ ซึ่งเป็นอีหม่ามขณะนั้น(ทำการแทน) ได้ปรึกษาหารือกบคณะกรรมการมัสยิดพร้อมด้วยชาวบ้านเพื่อทำการเปลี่ยนรูปแบบหลังคาสามชั้นมุงด้วยกระเบื้องซีแพก และทำการปรับปรุงต่อเติมเสริมแต่งมาเรื่อย ๆ จนมาเป็นมัสยิดรูปแบบปัจจุบันโดยมัสยิดมีเลขทะเบียนเลขที่ 4/2492 และใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า มัสยิดฟูหล่าหลนนาอีน รวมอายุมัสยิด 152 ปี…

ประวัติอีหม่ามคนแรก

   “…ท่านมีชื่อว่า ฮัจญีมะหลี หรนหลี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2381 พื้นเพเดิมเป็นคนบ้านสามยอด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ภรรยาชื่อนางเซ๊าะ เกิดเมื่อปีพ.ศ.2386 เป็นคนบ้านพรุหมาก อ.เทพา จ.สงขลา ได้ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ ณ สถานที่มัสยิดปัจจุบัน และได้ประกอบอาชีพค้าขายอาหาร ร้านตั้งอยู่ในตลาดเทพา (บริเวณร้านนวดปัจจุบัน) และได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะฮ์ 3 ครั้งด้วยกัน โดยทางเรือ และได้เสียชีวิตในมัสยิดบ้านพรุหมาก เวลาอัสรี  เมื่อปีพ.ศ.2481 รวมอายุของท่าน 100ปี ท่านมีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ 1.นางลีเยาะ หรนหลี สมรสกับ นายหวังและ (ป่าบอนโคกโพธิ์)…”

   “…2.นายดนลาเต๊ะ หรนหลี สมรสกับ นางแมะ (จะนะ)

   3.นางโสง หรนหลี สมรสกับ นายดนรอหมาน หัดขะแจ (พรุหมาก)…” (ที่มา ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านและทายาทอิหม่าม ผู้เรียบเรียง นายอะหามะ ดาโหะ (เลขานุการประจำมัสยิดฯ) 27 มกราคม 2559 )

เผยเเพร่ครั้งแรก - https://shorturl.asia/zm5ov

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น