จิตรกรรมตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช : การประดิษฐานพระบรมธาตุลงบนหาดทรายแก้ว – ในศาลาประโชติศาสนกิจ วัดวังตะวันตก เมืองนครศรีธรรมราช (27 ฉาก)

    วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะมาถึงเป็นวันมาฆบูชา และจะเป็นวันสำคัญที่สุดของ #การสมโภชน์พระบรมธาตุเมืองนคร ในโอกาสเสร็จสิ้นการบูรณะใหญ่ที่กินเวลามายาวนานหลายปี ผู้เขียนจึงจะขอใช้บรรยากาศของการสมโภชน์พระบรมธาตุเมืองนครนี้ นำเสนอตำนานพระบรมธาตุที่ถูกแสดงไว้เป็นภาพจิตรกรรม #ในศาลาการเปรียญของวัดวังตะวันตก (27 ฉาก) โดยตัดทอนมาจากงานศึกษาบางส่วนที่จัดทำให้กับวัดวังตะวันตก และได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ

    “คัมภีร์พระนิพพานโสตร – ตำนานแห่งพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และนานาของดีที่วัดวังตะวันตกกลางเมืองนคร” (1) – หนังสือระลึกการทอดกฐินวัดวังตะวันตก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 #มาให้ลองตามมาชมดูกันครับ ในโอกาสนี้ขอขอบคุณความอนุเคราะห์ และสนับสนุนจาก พระครูเหมเจติยาภิบาล (โสพิทร์ อินทโสภิโต) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ในการถอดความ และลำดับเหตุการณ์ในจิตรกรรมวัดวังตะวันตก / มูลนิธิบวรนคร นาคร-บวรรัตน์ นครศรีธรรมราช /โครงการวัดบันดาลใจ / บริษัทพฤกษา (มหาชน) / สถาบันอาศรมศิลป์ / หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ / ธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด และ กลุ่มการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร / สุธีรัตนามูลนิธิ (1) ท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้สามารถติดต่อได้ที่กุฎิเจ้าอาวาสวัดวังตะวันตกครับ ทราบว่ายังมีเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง

จิตรกรรมตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร 27 ฉาก ในศาลาประโชติศาสนกิจ วัดวังตะวันตก

    จิตรกรรมตำนานพระบรมธาตุนี้ ได้ใช้คัมภีร์พระนิพพานโสตร อันเป็นเวอร์ชันหนึ่งของตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร มาเป็นแม่บทในการดำเนินเรื่อง

    “พระนิพพานโสตร” เป็นตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร ที่แต่งเป็นกาพย์ มีรายละเอียดพิสดารกว่าตำนานฉบับร้อยแก้วมาก พบต้นฉบับที่เป็นหนังสือบุด (สมุดไทย) แพร่หลายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ทั่วภาคใต้หลายสิบเล่ม มากกว่าตำนานฉบับร้อยแก้วเกี่ยวกับพระบรมธาตุที่ปัจจุบันพบเพียงประมาณ 4 เล่มเท่านั้น

พระนิพพานโสตรสำคัญอย่างไร”

    หากจะตั้งคำถามว่า “คนปักษ์ใต้” รู้ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครจากอะไร ถ้าความนิยมของนักวิชาการสมัยใหม่ก็มักจะมุ่งความสนใจไปที่ตำนานพระบรมธาตุ และตำนานเมืองนครศรีธรรมราชฉบับร้อยแก้ว เพราะเนื้อหาสั้นกระชับ และเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่ามาก ทว่าตำนานฉบับร้อยแก้วนี้มีความขาดห้วงของเรื่องราวอยู่มาก เนื้อความหลาย ๆ ตอนในส่วนที่เป็นปรัมปรานั้นไม่ค่อยปะติดปะต่อกัน ราวกับมีลักษณะที่จะตัดทอนประเด็นที่ผู้แต่งตำนานร้อยแก้วเห็นว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลออกไป หากจะทำความเข้าใจความคิดอ่าน และปรัมปราคติที่คนปักษ์ใต้มีต่อพระธาตุเมืองนครอย่างถ่องแท้แล้ว ตำนานฉบับร้อยแก้วนั้นยังไม่ค่อยตอบโจทย์นัก ทั้งหลาย ๆ เรื่องที่บอกเล่ากันก็ไม่ปรากฏอยู่ในตำนานสำนวนเหล่านี้

    แต่ทว่ารายละเอียดส่วนที่เป็นปรัมปราคติทั้งหลายที่ชาวปักษ์ใต้คุ้นเคย กลับปรากฏรวมอยู่ในพระนิพพานโสตรทั้งสิ้น “ทั้งเรื่องเงินตรานโม” เรื่องภาพยนตร์ เรื่องกาทั้ง ๔ เรื่องพลิติ พลิมุ่ย เอาอัฐิบุตรปั้นรูปพระทรงม้า เรื่องการฝังซ่อนสมบัติของผู้ที่มาไม่ทันการสร้างพระธาตุ “ราวกับว่าความเชื่อ” ความคิดอ่านทั้งหมดที่แวดล้อมพระบรมธาตุนั้น ถูกบรรจุอยู่ในพระนิพพานโสตรทั้งสิ้น หรือในทางกลับกันอาจเป็นพระนิพพานโสตรนี้เองที่เป็นต้นเค้าของปรัมปราคติ และความเชื่อทั้งหลายที่บอกกล่าวเล่าสู่กันในชาวนครมาแต่โบราณ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการสืบทอดเรื่องราวในสมัยโบราณที่มีลักษณะเป็นมุขปาฐะผ่านวาระสำคัญต่าง ๆ หรือผ่านวัฒนธรรมการสวดด้านที่สูญหายไปจากเมืองนคร และเพิ่งเริ่มฟื้นฟูกันใหม่ไม่นานมานี้

    การบอกเล่าด้วยกลอนนั้นรื่นหู จดจำได้ง่าย ทั้งอาจตัดลดตกแทรกประเด็นปลีกย่อยเข้าไประหว่างโครงเรื่องหลักเพื่อความบันเทิงในแต่ละวาระ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็นโดยกวีผู้เป็นนายของภาษา ในประเด็นนี้ประกอบกับการพบฉบับคัดลอกของพระนิพพานโสตรกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เป็นหลักฐานอันมั่นเหมาะอันหนึ่งที่ยืนยันความนิยม และอิทธิพลของพระนิพพานโสตรที่มีต่อสังคมปักษ์ใต้สมัยโบราณซึ่งได้เสื่อมคลายลง และไม่คุ้นเคยกันแล้วในปัจจุบัน แต่หากท่านผู้อ่านที่พอคุ้นเคยกับปรัมปราคติเกี่ยวกับพระบรมธาตุอยู่บ้าง หากได้พิจารณาเรื่องประกอบจิตรกรรมถัดลงไปด้านล่างนี้ ก็อาจพบกับหลาย ๆ เรื่องที่เคยผ่านการรับรู้ พบคำตอบของตำนานอันไม่รู้ที่มา ราวกับว่าบรรพชนของเรากำลังกระซิบอยู่ข้างหูจากอดีตอันแสนไกล

หลักการทำคำอธิบายเรื่อง”

    ผู้เขียนเลือกใช้ พระนิพพานโสตร ฉบับศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สำนวนที่ ๔ ซึ่งเป็นสำนวนที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดเป็นคู่มือในการลำดับเรื่อง เนื่องจากมีเวลาในการจัดทำต้นฉบับไม่มากนัก ชื่อบุคคล สถานที่ เมือง จะยังคงใช้ตามที่พระนิพพานโสตร ฉบับศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สำนวนที่ ๔ ไปก่อนเพื่อไม่ให้สับสน ทั้งนี้บุคคล ๆ เดียวกันในตำนานฉบับอื่น ๆ หรือสำนวนอื่น ๆ อาจจะมีชื่ออื่น เช่นพราหมณ์อัศสุรี จะมีชื่อในตำนานพระบรมธาตุฉบับร้อยแก้ว ว่านายพรหมสุริยะ เป็นต้น ผู้อ่านพึงทราบว่าเป็นธรรมดาของตำนานที่จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย

    อนึ่งผู้อ่านจะพบความไม่สม่ำเสมอของการบรรยายเรื่องอยู่บ้าง กล่าวคือในบางฉากจะมีเนื้อหาอัดแน่นยาวหลายบรรทัด ในบางฉากกลับมีเนื้อหาน้อย เป็นบรรยากาศเสียมากกว่าเรื่อง ทั้งนี้เนื่องจากจิตรกรวางลำดับเรื่องในภาพรวม ให้มีผ่อน มีพัก เช่นเดียวกับการตัดต่อภาพยนตร์ ฉากที่เป็นฉากเดินทางอาจมีเนื้อหาน้อย แต่มีรายละเอียดปลีกเข้ามาประกอบมาก เพื่อแสดงการทอดของการเดินทางที่กินเวลายาวออกไป

ใส่ความเห็น