จากแผนที่นครศรีธรรมราช (Map 11) ในชุดแผนที่พบใหม่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน Royal Siamese Maps เมื่อพิจารณาแผนที่ในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาเราจะการระบุถึงสถานที่ไว้ดังนี้
ป้อม – ป้อมดังกล่าวปัจจุบันยังปรากฏอยู่บนเขาแดงบริเวณใกล้ปากทะเลสาบสงขลา เป็นป้อมที่สร้างขึ้นสมัยเมืองสงขลาปกครองโดยสุลต่านสุไลมาน
ถ้าปอง ยังไม่ทราบว่าคือที่ไหน
เมืองสงขลา จากตำแหน่งที่เขียนน่าจะคือเมืองสงขลาที่แหลมสน เพราะฝั่งตรงกันข้ามเขียนว่า ค่ายบ่อยาง ซึ่งการย้ายเมืองสงขลาจากแหลมสนมาฝั่งบ่อยางเกิดขึ้นในสมัย ร. 3 แสดงให้เห็นว่าแผนที่ดังกล่าวเขียนขึ้นก่อนการย้ายเมืองสงขลาในสมัย ร.3
ฝั่งตรงข้าม คือฝั่งอำเภอเมืองสงขลาในปัจจุบัน บริเวณปากทะเลสาบสงขลา ระบุสถานที่ไว้คือ ปากสงขลา ค่ายท่าทราย ค่ายบ่อยาง จากค่ายบ่อยางใช้เวลา 2 วัน เดินทางถึงเมืองจะนะ จากเมืองจะนะในเวลา วันหนึ่ง ถึงเทพา
จากแผนที่เราจะพบว่าเส้นทางจากค่ายบ่อยาง ใช้เวลาเดินทาง 1 วัน ( วันหนึ่ง) ถึง บ้านรัง ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นแม่น้ำลำคลองเชื่อมต่อกับ ทะเลน้ำจืด ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ผู้เขียนเชื่อว่าแม่น้ำสายนี้คือ คลองอู่ตะเภา ส่วน บ้านรัง น่าจะคือบ้านนารังนก ตำบลแม่ทอง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภา หรืออาจจะคือบ้านหัวหรัง หรือ ท่าหรัง ที่อยู่ในตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบ้านหัวหรังไม่ได้อยู่ริมคลองอู่ตะเภา)
จากบ้านรังใช้เวลาเดินทาง 2 วัน (๒วัน) ถึง บ้านพะโตง ปัจจุบัน พะตงเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และคลองอู่ตะเภายังไหลผ่านอยู่ จากบ้านพะโตง ถึงด้าน ประตูไทร จากด่านประตูไทร ถึงค่าย ตะพานสูง ใช้เวลาเดินทาง 5 คืน ถึงเมืองไทร
.แผนที่ฉบับนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย – มาเลย์ จากเมืองสงขลาไปยังเมืองไทรบุรี บางหมู่บ้านปลายน้ำคลองอู่ตะเภามีเรื่องเล่าของชุมชนว่ามีบรรพบุรุษมาจากเมืองไทร มีญาติย้ายไปยู่เมืองไทร เดินทางไปเก็บข้าวที่บ้านญาติฝั่งเมืองไทร เมื่อครั้งอดีตบรรบุรุษเหล่านั้นคงใช้เส้นทางคลองอู่ตะเภานี้ในการไปมาหาสู่กัน