“เลียงหัต” และ “กอตะ” : คำศัพท์เกี่ยวเนื่องกับความตายของคนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ภาพซ้าย) ลูกหลุมทางด้านซ้ายคนมุสลิมบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เรียกว่า เลียงหัต หรือ “เลี่ยมหัต” คุณยุทธยา จิตต์โต๊ะหลำ มุสลิมบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาให้ข้อมูลว่า “เลียงหัต” คนบ้านหัวเขาเรียกว่า “รุ้ง” ภาพขวา) คือ “กอตะ” ฝาครอบร่างมาหยัดของมุสลิมบ้านบน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ด้านล่างไม่ได้ปิดแผ่นไม้

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗ ที่ผ่านผู้เขียนได้สูญเสียญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของ “มะแก่” (ยาย) ในวัย ๖๗ ปี ผู้เขียนเรียกท่านว่า “โต๊ะสู” จึงได้เขียนเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับความตายของคนมุสลิมบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (บ้านเกิดของท่าน) หรือมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกี่ยวกับคำศัพท์ มาให้อ่านกันครับ หากบทความนี้จะยังคุณความดีประการใด ขอเนี๊ยต (อุทิศ) ให้เป็นผลบุญกับ “โต๊ะสู”

เมื่อคนมุสลิมเสียชีวิตเราจะเรียกว่า “มาหยัด” เป็นคำที่มีรากมาจากภาษาอาหรับคือ “มัยยิต” ศาสนาอิสลามกำหนดให้ดำเนินการกับร่างของ “มาหยัด” ๔ ขั้นตอนด้วยกันคือ อาบน้ำศพ ห่อศพด้วยผ้าขาว (ผู้ชายสามชั้น ผู้หญิงห้าชั้น) สะมาหยัง(ละหมาด)ให้ศพและนำไปฝังที่สุสานเรียกว่า “กูโบร์” หรือ “กุโบร์” คำนี้มีรากมาจากภาษาอาหรับคือ “กุบูร” ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง

ขั้นตอนการอาบน้ำกับห่อผ้าขาวนั้นกลุ่มคนที่ทำจะเป็นเพศเดียวกับมาหยัด ส่วนการสะมาหยังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชาย และการขุดหลุมฝังศพผู้ชายเป็นผู้ดำเนินการเช่นกัน ขุดหลุมเป็นรูปทรงสีเหลี่ยมพื้นผ้า ด้านกว้างอยู่ทางทิศเหนือกับทิศใต้ ส่วนด้านยาวอยู่ทางทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก ความยาวของหลุมนั้นต้องยาวกว่าขนาดความสูงของมาหยัด

เมื่อขุดลงไปแล้วจะมีการเจาะลูกหลุมเข้าไปทางทิศตะวันตกของหลุม สืบเนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามนั้น ร่างของมาหยัดจะต้องนอนตะแคงขวา ศรีษะหันไปทางทิศเหนือ ปลายเท้าอยู่ทางทิศใต้ ผินหน้าไปยัง “กะบะฮ์” อาคารทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ตั้งอยู่ที่นครมักกะฮ์ประเทศซาอุดิอารเบีย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย แล้วนำแผ่นกระดานที่ทำจากแผ่นไม้สามแผ่นมาประกอบต่อกัน มีลักษณะเหมือนประตู ปิดที่ช่องรอยต่อระหว่างลูกหลุมกับหลุมสี่เหลี่ยม

“ลูกหลุม” ดังกล่าวมุสลิมบ้านควนเรียกว่า “ เลียงหัต” หรือ “เหลี่ยมหัต” จากการสัมภาษณ์คุณอะบู อิสรอฟีล อัลฟะฏอนีย์ ผู้รู้ทางภาษามลายูและอาหรับให้ข้อมูลว่า คำนี้เป็นการเรียกตามภาษามลายูกลางกับคำภาษาอาหรับรวมกัน ซึ่งในภาษามลายูกลางก็เรียกรวมแบบนี้เช่นกัน “Liang Lahat” (Liang เลียง แปลว่า หลุม และ Lahat ภาษาอาหรับ แปลว่า หลุม) และ คุณอัคตัรมีซี อาฮามะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาษามลายูถิ่นปตานี(แกแจะนายู) จะเรียกว่า “ลีแย ลาหัต”

จากการสำรวจภาคสนามของผู้เขียนพบว่า การขุดหลุมฝังศพแบบบ้านควนจะทำได้ในกรณีที่ดินมีลักษณะเป็ยดินเหนียว และหมู่บ้านที่กูโบร์มีลักษณะเป็นดินรวน อาจเป็นดินทราย จะมีการขุดหลุมอีกแบบ มีข้อมูลดังนี้

ขุดหลุมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบบ้านควน แต่แทนที่จะเจาะลูกหลุมด้านข้าง จะใช้การขุดลูกหลุมตรงกลางแทน ให้มาหยัดนอนแบบเดียวกับข้อมูลการฝังของบ้านควนดังที่กล่าวไปแล้ว การขุดแบบนี้ต้องมีการทำฝาครอบ เรียกว่า “กอตะ” ในทางภาษานั้น “กอตะ”  เป็นคำเรียกที่มีรากมาจากภาษามลายูกลางคือKotakมีความหมายว่า “กล่อง” คุณอัคตัรมีซี อาหามะ ให้ข้อมูลว่า ภาษามลายูปตานี(แกแจะนายู) เรียกว่า “กอเตาะ”

“กอตะ” ของมุสลิมบ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ใช้เมื่อมีการขุดหลุมแบบเจาะหลุมตรงกลาง ส่วนแผ่นไม้ในภาพใช้กับกรณีที่มีการขุดลูกหลุมแบบเจาะไปทางด้านข้างหลุมฝั่งทิศตะวันตก

“กอตะ” ที่ใช้ครอบร่างมาหยัดนี้จะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ๑.นำแผ่นไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสสองแผ่นทำเป็นด้านกว้าง ประกอบกับแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าสองแผ่นทำเป็นด้านยาว ได้กล่องไม้สีเหลี่ยมผืนผ้า โดยข้างล่างจะไม่มีการตอกแผ่นไม้ทับไว้ ๒.ทำฝาครอบเป็นทรงจั่วสามเหลี่ยมเหมือนหลังคาบ้าน หรือเป็นแผ่นไม้สีเหลี่ยมผืนผ้าธรรมดาก็ได้ สองส่วนนี้ทำแยกกันไม่ตอกให้ติดกันแต่อย่างใด เมื่อจัดการมาหยัดในนอนในลูกหลุมเสร็จนำกล่องไม้ตามข้อหนึ่งมาครอบลง แล้วนำส่วนฝาครอบมาปิดข้างบน การที่ทำแยกกันเพราะต้องการให้มันใจว่าเมื่อครอบลงแล้ว จะไม่โดนร่างมาหยัด เพราะหากโดนจะทำให้ร่างมาหยัดอาจนอนคว่ำหน้าได้ เพราะต้องให้นอนตะแคงขวางดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วฝังดินกลบหลุมไม่มิดชิด

และบางหมู่บ้านจะไม่ขุดลูกหลุมตรงกลางก็มีเช่นกัน โดยทำ “กอตะ” ให้มีลักษณะแบบเดียวกับ “หีบศพ” หรือ “โลงศพ” ฝาครอบทำแบบเดียวกับ “กอตะ” ข้างต้น ร่างของมาหยัดจะนอนตะแคงขวาผินหน้าไปทางกะบะฮ์เช่นเดียวกันใน “กอตะ” นำฝามาปิดแล้วทำการฝังกลบ การใช้ “กอตะ” แบบนี้ร่างของมาหยัดจะไม่ได้นอนบนพื้นดินโดยตรงแบบสองวิธีแรก แต่ทั้งสามรูปแบบจะเห็นได้ว่าดินที่กลบลงไปนั้น ไม่ได้ทับร่างของมาหยัดทุกกรณี

อย่างไรก็ดี “กอตะ” นอกจากใช้เรียก “ฝาครอบ” หรือ “หีบศพ” แล้ว ยังใช้เรียก “กล่อง” ไม้มีลักษณะเป็นทรงสีเหลี่ยมผืนผ้า มีลิ้นชัด เป็นอุปกรณ์ที่ชาวประมงใช้สำหรับใส่ ใบจาก ยาเส้นและหมากพลู รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ เมื่อยามออกทะเลหาปลา ใช้เป็นหมอนหนุนนอนบนเรือ หรือหากเรือเกิดล่มใช้เกาะเป็นทุ่นลอยคอในทะเลได้ เพราะทำจากไม้ที่มีน้ำหนักเบาลอยน้ำ หรืออาจใช้ใส่สิ่งของไว้ที่บ้านก็ได้เช่นกัน

“กอตะ” ของคุณตาโฮ่(กงโฮ่)ที่บ้านจีนม.๖ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คุณตาบอกว่าน่าจะอายุเกินร้อยปีได้ ปัจจุบันคุณตาอายุ๘๕ปี ลงข้อมูลครั้งเเรกใน https://www.facebook.com/photo?fbid=2495488617212754&set=gm.414054762633586&idorvanity=250904708948593

คำศัพท์เกี่ยวเนื่องกับความตายของคนมุสลิมบ้านควน หรือ คนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ดังที่ยกมานำเสนอนี้ ถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเรื่องภาษา ที่สะท้อนอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเราได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตนแต่ร่วมรากกับมลายูกลุ่มอื่น ๆ เป็นการเรียกที่ใช้ทั้งคำมลายูผสมคำอาหรับ บ้านของท่านผู้อ่านเรียกว่าอะไรกันบ้างครับ ชวนมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กันครับ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นการช่วยบันทึกคำเรียกเหล่านี้ไว้ได้อีกทางหนึ่งครับ

ขอขอบคุณ

คุณอะบู อิสรอฟีล อัลฟะฏอนีย์

คุณอัคตัรมีซี อาหามะ

คุณจันทรัสม์​ จันทรทิพรักษ์

คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น