“ต้นโหนด” คำที่ใช้เรียกต้นตาลโตนดของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในทางภาษาตาลคือภาษาบาลี ส่วนโหนด (โตนด) เป็นคำเขมร แม้ว่าพืชชนิดนี้ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดในท้องถิ่นบ้านเรา แต่สำหรับพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ของจังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ ๔ อำเภอได้แก่ สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์และระโนด มีต้นโหนดขึ้นอย่างหนาแน่น มีหลักฐานว่าพื้นที่แห่งนี้มีต้นโหนดตั้งเเต่สมัยอยุธยาดังปรากฎในแผนที่เขตปกครองสงฆ์สทิงพระสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือมักเรียกกันในชื่อเล่นว่ากัลปนาวัดพะโคะ ผู้คนท้องถิ่นจึงประกอบอาชีพที่ขึ้นโหนดสืบทอดมรดกภูมิปัญญามาหลายชั่วคน
ทุกส่วนของพืชชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ลำต้นเอามาทำกลองสำหรับใช้ตีบอกเวลาประจำศาสนสถานของมุสลิมทั้ง สุเหร่าหรือมัสยิด และบาลาย หรือ ตัดเป็นไม้สร้างบ้าน ทางตาลเอามาทำรั้วได้ ใบสานเป็นภาชนะเช่น ฝาชี ทำของเล่นต่าง ๆ หรือเอามามุงหลังคาหรือกั้นฝาเรือนที่อยู่อาศัยได้ เปลือกลูกนำมาเผาเป็นถ่านทำเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย กราบลำต้นนำมาทุบได้เส้นใยทำไม้กวาด
ผลสุกใช้ทำขนมที่เรียกว่า “หนุมลูกโหนด” หรือ ที่คนไทยภาคกลางรู้จักในชื่อ “ขนมตาล” ขนมสีเหลืองเนื่องจากมีส่วนผสมหลักคือเนื้อลูกโหนดสุกผสมน้ำตาลนำไปนึ่งให้สุก รสชาตินุ่มฟูหอมกลิ่นลูกโหนด ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระจึงพบเห็นขนมชนิดนี้ทำกินในครอบครัว ทำขายในชุมชนตามตลาดนัดให้ได้พบเห็นอยู่โดยทั่วไป ภาพคุณป้ากับขนมลูกโหนดสีเหลืองเต็มถาดรอท่าลูกค้ามาอุดหนุน ถ่ายที่ตลาดนัด ส.ว. เปิดขายทุกเช้าวันเสาร์ พิกัด : https://shorturl.asia/pKHrZ
เผยแพร่ครั้งแรก – https://shorturl.asia/hg8iK