“พี่” คำเรียก “พี่สาว” ของมุสลิมที่สืบรากเหง้าจากยุคนครรัฐสุลต่านสงขลาสมัยอยุธยา

    บทความเรื่อง “คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ของผู้เขียน พิมพ์รวมเล่มในวารสารเมืองโบราณ “สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน” ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม  – ธันวาคม ๒๕๖๑ เนื้อหาของบทความชิ้นนี้ได้นำเสนอว่าด้วยเรื่องระบบคำเรียกเครือญาติของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สงขลา  – พัทลุง) โดยใช้วิธีการสำรวข้อมูลภาคสนามในกลุ่มตัวอย่างหมู่บ้านแบ่งตามนิเวศถิ่นอาศัยคือ มุสลิมในนิเวศแถบชายทะเล (โหบ๋เล) มุสลิมในนิเวศตอนกลาง(โหบ๋ทุ่ง)นิเวศแถบแผ่นดินตอนในเชิงเขาบรรทัด(โหบ๋ควน)และมุสลิมบนคาบสมุทรสทิงพระ  ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่พบว่า คำที่ใช้เรียกพี่สาวนั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “พี่” ในขณะที่หมู่บ้านตอนในแถบเขาบรรทัดใช้คำว่า “ก้ะ” 

    คำว่า “พี่” นั้นเป็นคำไทยแท้ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “…(๑) น. ผู้ร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันและเกิดก่อน, ผู้ที่มีศักดิ์เสมอพี่ (๒) น. คำนำหน้าชื่อคนที่มีอายุคราวพี่หรือมีศักดิ์เสมอพี่ เช่น พี่แดง พี่ส้ม…”

    ส่วนคำว่า “ก้ะ” นั้นคือคำมลายู มลายูกลางใช้ว่า กะก้ะ (Kakak) คุณ “Abu Gibrel Jacob” ชาวมลายูกลันตันผู้รู้ภาษามลายูเป็นอย่างดีและเป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาไทยด้วย ให้ข้อมูลว่า

    “กาก้ะ ที่หมายถึงพี่สาวมลายูตอนเหนือคือ กือดะห์ ปีนีง เปอรลิส และบางส่วนของเปรัก

ใช้เพี้ยนเป็น “เก้าะ”…ส่วนมลายูตะวันออก ตรังกานู กลันตัน และสามจังหวัดชายแดนใต้ …มลายูทั่วๆไปกร่อนเหลือแค่ก้ะ…”

    และจากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนที่ได้ลงไปสำรวจหมู่บ้านมลายูเคอเดาะห์พลัดถิ่นที่บ้านหัวทะเล ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มุสลิมกลุ่มนี้ถูกเทครัวจากแผ่นดินแม่ (รัฐเคอเดาะห์ รัฐเปอลิศและจังหวัดสตูล) มายังเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์  พบว่าคำเรียกพี่สาวเมื่อพูดมลายู(จากัปมลายู) จะใช้คำว่า เก้าะ เช่นเดียวกัน และเมื่อพูดไทยถิ่นใต้กลับใช้คำว่า “ก้ะ” ทั้งนี้มุสลิมมลายูเคอเดาะห์กลุ่มนี้ที่กลืนกลายทางภาษาจากมลายูไทยถิ่นใต้จะใช้คำว่า ก้ะ กัน ส่วนมุสลิมทางฝั่งอันดามันบางพื้นที่จะใช้คำว่า “จ๊ะ” หมายถึง พี่สาว

    ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่ามุสลิมในตำบลสะกอมของอำเภอจะนะ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มุสลิมกลุ่มนี้พูดภาษาไทยถิ่นใต้มีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ใช้คำภาษาไทยผสมคำมลายูมีระบบคำเรียกเครือญาติแบบจารีตมลายูปตานีเกือบทั้งหมด มีเพียงคำเรียกเทียด กับ ทวด ที่มีเป็นคำเดียวกับที่มุสลิมสงขลาใช้คือว่า “โต๊ะหยุด” และ “โต๊ะหยัง” เรียกพี่สาว ว่า “นิ”

   จากการสัมภาษณ์ คุณ “Abu Gibrel Jacob” ให้ข้อมูลว่า “…คนมลายูมีการใช้คำเรียกตามลำดับการเกิด เช่น ลูกคนแรกเรียก “ลง” คนที่สองเรียก “ง๊ะ” คนร้องสุดท้องเรียก “จิ” คนสุดท้องเรียก “ซู” …พี่สาวจึงมีคำเรียกว่า กะ กะลง กะเงาะห์ กะเจ้ะ กะจิ กะนิ กะซู…ครอบครัวของตนเรียกพี่สาวคนที่ห้าว่า “ก๊ะนิ” ในขณะที่ครอบครัวภรรยาเรียกพี่สาวคนที่สี่ว่า “ก๊ะนิ”…” ดังนั้นคำว่า นิ ที่คนสะกอมใช้กันมีที่มาจากคำมลายูจากเดิมที่ใช้คำว่า “ก๊ะนิ” กร่อนเหลือแค่คำว่า “นิ” เพียงอย่างเดียวนั่นเอง

   จึงสรุปเบื้องต้นได้ว่าการเรียกพี่สาวโดยใช้คำว่า พี่ นั้นเป็นลักษณะเฉพาะของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในขณะที่มลายูอื่น ๆ ทั้งปตานี สตูล และนครศรีธรรมราชใช้คำว่า “ก้ะ” หรือ “เก้าะ” หรือ “กาเก้าะ” หรือ “จ๊ะ” กัน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าการใช้คำว่า พี่ หมายถึงพี่สาวเป็นลักษณะเฉพาะของมุสลิมกลุ่มนี้และไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้

    ดังที่ทราบกันดีว่าสมัยอยุธยานั้นสงขลามีนครรัฐสุลต่าน ซึ่งถูกกองทัพอยุธยารบชนะเมื่อพ.ศ.๒๒๒๓ ตามหลักฐานบันทึกของฝรั่งเศษ ชนชั้นนำของราชสำนักถูกเทครัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ขณะนั้นนครรัฐสุลต่านสงขลาถูกปกครองโดยสุลต่านมุตตาฟา (มัรฮุมปะแก่) บุตรของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ (โต๊ะหุม) ในพงศาวดารเมืองไชยาระบุว่าถูกเทครัวไปยังทุ่งโฉลกปัจจุบันอยู่ในอำเภอพุนพิน ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าจากกษัตริย์อยุธยาให้เป็นเจ้าเมืองไชยาลูกหลานสืบทอดการเป็นเจ้าเมืองไชยาจนถึงสมัยธนบุรี ดังปรากฏบ้านสงขลาที่เมืองไชยาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

   ซึ่งผู้เขียนได้ลงไปเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยมีคุณครูสะอาด ร่าหมานอดีตข้าราชการครู ลูกหลานมุสลิมสงขลาพลัดถิ่น ผู้รู้ทางทางด้านประวัติศาสตร์เป็นอย่างดีอีกทั้งยังเป็นผู้ที่เก็บรักษาพงศาวดารเมืองไชยาที่ตกทอดกันมาในบ้านสงขลาเป็นผู้นำสำรวจและให้ข้อมูลต่าง ๆ #คำเรียกพี่สาวของมุสลิมสงขลาพลัดถิ่นผู้คนที่สืบรากเหง้าจากนครรัฐสุลต่านสงขลาสมัยอยุธยาที่นี่ยังคงใช้คำว่า “#พี่” เช่นเดียวกัน[๑]

   ดังนั้น คำว่า พี่ ที่ชาวมุสลิมรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาใช้กัน จึงเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่บอกรากเหง้าความเป็นมาได้เป็นอย่างดีว่า เป็นคำเรียกเฉพาะที่บอกให้รู้ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับชาวสงขลาพลัดถิ่นที่เมืองไชยา ซึ่งถูกนำออกไปนอกพื้นเมื่อสามร้อยปีกว่าปีก่อน ห่างจากถิ่นฐานแผ่นดินเดิมด้วยระยะทางมากกว่าสามร้อยกิโลเมตร แต่กลับยังใช้คำเดียวกันและแตกต่างจากมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เราควรรักษากันไว้ในฐานะที่เติบโตมาในบริบทของกลุ่มคนมุสลิมในวัฒนธรรมนี้

   ปัจจุบันผู้เขียนพบว่าในสังคมคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่เป็นกลุ่มคนนอกวัฒนธรรมุสลิมทั้งที่เป็นคนธรรมดาและสื่อท้องถิ่น อาจด้วยความไม่รู้ เมื่อนำเสนอเรื่องราวของคนมุสลิมสงขลามักนำคำว่า ก๊ะ มาใช้เรียกพวกเรา ทั้ง ๆ ที่คำนี้ไม่ใช่คำที่เจ้าของวัฒนธรรมใช้แต่อย่างใด ด้วยความเข้มข้นของระบบคำเรียกเครือญาติในบริบทของความเป็นคนมุสลิมที่สามารถบอกได้ว่า คำที่ใช้นั้นเป็นคนมุสลิมกลุ่มไหน เป็นมุสลิมที่อาศัยถิ่นใด

   ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความชิ้นนี้จะนำมาซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้อง นำมาสู่การใช้ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของเจ้าของวัฒนธรรม ในฐานะที่คำเรียกนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกรากเหง้าว่ามุสลิมสงขลา มุสลิมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลานั้นมีความเป็นมาอย่างไร ท่ามกลางความหลากหลายของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ บนคาบสุมทรไทย  – มลายูแห่งนี้

เชิงอรรถ

[๑]มุสลิมลุ่มทะเลสาบสงขลาเรียกพี่ชายว่าบัง ซึ่งเป็นคำมลายู ตรงกลับมลายูกลางคืออบัง (Abang) ส่วนมลายูปตานี  – กลันตันใช้ว่า “แบหรืออาแบ”

#อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง

“อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ”

https://kyproject19.wixsite.com/…/%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0.

“แก่” “ปะแก่” “มะแก่” คำร่วมราก ; จารีตคำเรียกเครือญาติของคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

https://shorturl.asia/noBid

“คนแขกลุ่มน้ำทะเลสสงขลา” ในวารสารเมืองโบราณ สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่าน https://shorturl.asia/x8BpF 

.

ขอขอบคุณ

อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ

คุณ“Abu Gibrel Jacob”

คุณครูสะอาด ร่าหมาน

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น