แลสันบาตูอาเจะ : มรณะศิลาแห่งซิงฆอราคู่เดียวที่พบในลุ่มทะเลสาบสงขลา ( ? )

    ๒ เมษายน วันอนุรักษ์มรดกไทย ขอนำเสนอเรื่องราวของเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ปักบนหลุมสุสฝังศพสกุลช่างบาตูอาเจะคู่เดียวที่พบในลุ่มทะเลสาบสงขลา และอาจเป็นคู่เดียวที่พบในพื้นที่ของภาคใต้ตอนบน คือแลสันบาตูอาเจะภายในสุสานหลวงสุลต่านสุลัยมานชาห์ (โต๊ะหุม) เจ้าผู้ครองเมืองซิงฆอรา ( สงขลา ) สมัยอยุธยา[1]

    เหตุการณ์ทุบทำลาย ไม้แลสัน ( หัวแม่สัน , ตาหนา ) เครื่องหมายปักบนหลุมฝังศพภายในสุสานหลวงสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เจ้าผู้ครองเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงร่วมสมัยกับพระเจ้าปราสาททองของอยุธยาเกิดขึ้น ๔ ครั้งนับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๓ จนถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔ เกิดติดต่อกัน ๓ ครั้งภายในเดือนเดียว[2]

    หลังจากนั้นผู้เขียนได้จัดตั้งกลุ่มภาคประชาสังคมชื่อว่า Save Singora Heritage – รักษ์มรดกซิงกอรา เพื่อช่วยกันร่างหนังสือเปิดผนึกถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดให้มีการลงชื่อในสังคมออนไลน์เพื่อแนบท้ายหนังสือดังกล่าวมีผู้ร่วมลงชื่อ ๒๓๐ ท่านภายในระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมง วันที่ ๙ เดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ ทางกลุ่มจึงนำหนังสือเปิดผนึกไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ หน่วยงานคือ กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่๑๑ สงขลา และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

    โดยแสดงความห่วงใยและทวงถามถึงมาตรการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการป้องกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้โดยมีการเสนอแนะข้อเรียกร้องดังนี้ ทั้งนี้คณะผู้จัดทําหนังสือขอน้อมเสนอความเห็นเพื่อโปรด พิจารณาดังนี้

    ๑. เห็นควรประสานงานไปยังสถานีตํารวจภูธรสิงหนคร เพื่อดําเนินการนําตู้แดงมาติดตั้งไว้ที่ตัวศาลาของสุสานสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาลงบันทึกเวลาเป็นระยะๆ

    ๒. เห็นควรติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถส่ง Link ภาพมายังสถานีตํารวจ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กรณีเกิดปัญหาจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที

    เห็นควรที่กรมศิลปากรจะออกมาให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรถึงแนวทางดําเนินการพิทักษ์รักษาแหล่งโบราณสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) หรือสุสานสุลต่านสุลัยมานในอนาคต เพื่อให้สังคมได้รับทราบโดยทั่วกัน

    ทั้งนี้เป็นไปเพื่อมิให้มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันมีเกียรติทรงค่านี้ได้รับการกระทบกระเทือนอีก โดยหากจะมีการประชุมหารือวางแนวทางจัดการใด ๆ ทางคณะผู้จัดทําหนังสือยินดีอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมให้ความเห็น และช่วยเหลือการดําเนินการให้สําเร็จลุล่วงได้ตามกําลังที่มีจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับทราบความคืบหน้าโดยทันท่วงที

    อย่างไรก็ดีในวันเดียวกันทางสถานีตำรวจภูธรสิงหนครได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจทางการของหน่วยงานโดยมีข้อมูลระบุว่า

    “…ติดตั้งตู้แดงเพื่อป้องกันเหตุ สุสานสุลตานสุลัยมานซาห์ ร.ต.อ.พันเลิศ กลักทองกร ร้อยเวร20 และสายตรวจรถยนต์ ออกติดตั้งตู้แดง ( RedBox QR Code ผ่านแอพพลิเคชั่น police 4.0 ) ณ สุสานสุลตานสุลัยมานซาห์ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร เพื่อป้องกันเหตุการลักลอบทำลายทรัพย์สิน…”[3]

    และในวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ทางสำนักศิลปากรที่๑๑ สงขลาได้มีการจัดประชุมโดยมีการเชิญผู้นำศาสนาในพื้นที่ ตำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถึงผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ซึ่งการประชุมจะเริ่มในเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ที่โรงเรียนบ้านเขาแดง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (อ่านรายละเอียดผลการประชุมได้ที่ : https://bit.ly/2PR1Mai /ภาคผนวกท้ายบทความ )

ไม้เเลสัน บาตูอาเจะคืออะไร

    เหตุการณ์ทุบทำลาย ถอยรถเหยียบมรดกทางวัฒนธรรมเครื่องหมายปักบนหลุมฝังศพภายในสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์พบว่าชิ้นที่ถูกทำลายมีทั้งเก่าและใหม่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ริมถนนแทบทั้งสิ้นมีหลักสำคัญ ๆ อาทิ แลสันที่มีจารึกอักษรภาษาอาหรับ อักษรชวาโบราณ เป็นหลักที่มีจารึกยาวที่สุดเท่าที่พบในสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์[4] และยังมีอีกหลักที่สำคัญมากเป็นหินปักหลุมฝังศพสกุลช่างบาตูอาเจะ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสกุลช่างที่สวยงามที่สุดในโลกมลายู (นูซันตารา) อีกทั้งเท่าที่สำรวจ โดยผู้เขียน ณ ขณะนี้พบว่าในลุ่มทะเลสาบสงขลาพบเพียงที่นี่ที่เดียวอีกด้วย

    ไม้แลสันหรือแลสันเป็นคำเรียกเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ปักหลุมฝังศพที่ใช้ในลุ่มทะเลสาบสงขลาทั้งยังใช้กันในกลุ่มคนสงขลาพลัดถิ่น ( ชาวซิงฆอรา ) ที่บ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นชาวสงขลาที่ถูกเทครัวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สันนิษฐานว่า ไม้แลสันหรือแลสัน น่าจะเป็นคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพที่พัฒนาขึ้นในลุ่มทะเลสาบสงขลา ( มลายูสงขลา ) เนื่องจากไม่พบคำนี้ในมลายูกลุ่มอื่น อาทิมลายูปตานีใช้ว่า แนแซหรือนีแซ หรือตาหนาในกลุ่มมลายูสตูล – มลายูเกดะห์ และน่าจะมีรากมาจากคำว่า นีซาน ( Nisan ) ในภาษามลายูกลางนั่นเอง[5] ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงตั้งชื่อบทความชิ้นนี้ว่า แลสันบาตูอาเจะ : มรณะศิลาคู่เดียวที่พบในลุ่มทะเลสาบสงขลาและภาคใต้ตอนบน ( ? )

พงศาวดารเมืองไชยากล่าวถึงสุลต่านมุสตาฟา ชื่อมะระหุมเป็นเเขกมลายูมาจากบ้านหัวเขาแดงปากน้ำเมืองสงขลา ของคุณสำเนาจากคุณครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานชาวซิงฆอราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

    บาตูอาเจะ คือเครื่องหมายบนหลุมสุสานที่มีความสวยงามเชื่อกันว่าถูกพัฒนาขึ้นบนเกาะสุมาตราทางตอนเหนือในแถบพื้นที่ของเมืองอาเจะและเมืองปาไซ ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่แน่ชัด แต่น่าจะเริ่มใช้ในช่วงคริสตวรรษที่ 14 และเสื่อมความนิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบบาตูอาเจ๊ะห์ที่มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือที่กุโบร์สุลต่านมาลิก อัสซอลิห์ (Sultan Malik Al-Salih) สุลต่านที่ปกครองเมืองสมุทราปาไซระหว่าง คศ.1270-1279[6]

    ปัจจุบันมีหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธุ์ระหว่างเมืองสงขลาสมัยสุลต่านสุลัยมานชาห์กับเมืองปาไซด้วยเช่นเดียวกัน เพราะที่กูโบร์บ้านดอนขี้เหล็ก ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีกูโบร์หลุมฝังศพที่คนในชุมชนเชื่อว่าคือผู้รู้ทางศาสนาที่อพยพหนีภัยสงครามในสมัยเมืองสงขลาหัวเขาแดงรบกับอยุธยามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยเหตุที่เรียกว่าปาไซนั้นเพราะเดิมท่านเป็นคนมลายูมาจากรัฐปาไซมาอยู่ในเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงและได้หนีออกจากเมืองสงขลาหัวเขาแดงก่อนเมืองแตกเข้ามายังพื้นที่บ้านดอนขี้เหล็ก คนบ้านดอนขี้เหล็กจึงเชื่อว่าโต๊ะปาไซคือบรรพบุรุษของคนบ้านดอนขี้เหล็ก[7]

“…หลุมศพแรกๆของกุโบร์บ้านดอนขี้เหล็ก”โต๊ะปราศัย” เดิมที่เป็นคนมาลายู (เมือง/รัฐปราศัย) มาอาศัยในรัฐSingora สมัยสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ หลังจากรัฐSinggoraแตก ท่านได้อพยบมาอาศัยในชุมชนบ้านดอนขี้เหล็กเป็นสมัยแรก และท่านได้เสียชีวิตที่นี่และฝังในกุโบร์แห่งนี้…” ขอบคุณข้อมูลเเละภาพจากเพจที่นี่บ้านดอนขี้เหล็ก…” สืบค้นจาก : https://bit.ly/3tXRaIo

    อย่างไรก็ดีในฮิกายัตเมืองปตานีก็ระบุผู้รู้ทางศาสนาที่เป็นชาวปาไซเป็นผู้ที่ทำให้ราชาของปตานีเข้ารับอิสลามและปรากฎกุโบร์ของโต๊ะปาไซอยู่ในจังหวัดปัตตานีมาจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการมีผู้รู้ทางศาสนาจากเมืองปาไซเข้ามายังพื้นที่ทั้งสองคือปตานีและซิงฆอรา

แลสันบาตูอาเจะภายในสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์

หลุมฝังศพที่ใช้แลสันบาตูอาเจะหนึ่งเดียวในสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

    แลสันบาตูอาเจะที่หลุมฝังศพในสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์หลุมนี้ที่มีลักษณะพิเศษกว่าหลุมอื่น ๆ กล่าวคือ บนหลุมฝังศพมีการก่อด้วยอิฐในลักษณะของฐานสี่เหลี่ยมพื้นผ่าศอกขึ้นมีการปักหินเป็นแนวรั้วรอบแท่นหลุมศพ หินที่นำมาก่อได้จากเขาแดงในพื้นที่เป็นหินเดียวกับที่ใช้ป้อม กำแพงของสุลต่านสุลัยมานชาห์ ด้วยรูปแบบของหลุมและใช้แลสันบาตูอาเจ๊ะจึงยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าหลุมนี้ต้องเป็นบุคคลที่สำคัญมากร่วมยุกต์สุลต่านสุลัยมานชาห์ สมัยอยุธยาอย่างแน่นอนถึงแม้ว่าเรามีหลักฐานบันทึกเก่าสุดแค่สมัยรัชกาลที่ ๕

    นักวิชาการแบ่งบาตูอาเจ๊ะรูปแบบนี้จะแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ฐาน ลำตัว และหัว

    ส่วนฐาน ของแลสันคู่นี้พบว่าก่อนหน้านี้ถูกปักไว้ใต้พื้นทรายและมีการนำปูนซีเมนมาเททับไว้ด้านบนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทำให้ไม่ทราบถึงลักษณะของรูปทรงแต่จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธุ์ ที่ผู้เขียนได้ไปพบแลสันคู่นี้ถูกดึงขึ้นมาตั้งอยู่บนพื้นทรายและมีลักษณะที่ขาดออกจากส่วนของฐานจึงทำให้เข้าใจได้ว่าฐานอาจจะยังอยู่ใต้พื้นทรายก็เป็นได้

    ส่วนลำตัว มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลมแปดเหลี่ยมมีร่องเข้าไปภายในทั้งแปดมุม จากส่วนท้ายจะมีขนาดที่ค่อย ๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆมีลักษณะเหมือนกรวย

    ส่วนยอด ชั้นแรกมีลักษณะเป็นรูปดอกบัวหรือดอกไม้ชนิดอื่นแปดกลีบ ส่วนบนมีลักษณะเป็นดอกตูม

แลสันบาตูอาเจะ หรือหินแห่งความตายสกุลช่างบาตูอาเจะมีรูปทรงเหมือนกับโกศ นักวิชาการเชื่อว่าเป็นร่องรอยของคติเดิมของชาวมลายูก่อนรับอิสลาม เมื่อรับอิสลามเข้ามาจึงปรับเปลี่ยนบริบทการใช้งานให้สอดคล้องกับศาสนาอิสลามคือการปักเป็นสัญลักษณ์สำหรับหลุมฝงศพ

ส่วนยอดมีลักษณะเหมือนดอกบัว

    นอกจากนี้ยังพบว่าในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาอันเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำสยามราชวงศ์จักรีนั้นพบว่า บุคคลสำคัญของราชวงศ์จักรี ๒ พระองค์มีการบันทึกเกี่ยวกับหลุมฝังศพหลุม ได้แก่

    ๑.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตร สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ รัตนโกสินทร์ศกที่ ๑๐๘ ( พ.ศ. ๒๔๓๒ ) ดังปรากฎในเอกสารคราวประพาสเเหลมมลายูว่า

    “… เวลาบ่าย ๔ โมงเสด็จขึ้นที่ หาดหัวเขาแดง ทอดพระเนตร มรหุ่มที่ฝังศพเเขกโบราณ แล้วเสด็จมาประทับเรือพระที่นั่ง ได้ใช้จักรจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม ๑ ฯ…”[8]

    ๒.เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2431 ซึ่งทรงบรรยายไว้ ว่า

“…บ่ายสี่โมงเราได้ตามเสด็จไปขึ้นที่หาดแก้ว เสด็จไปทอดพระเนตรมรหุ่มที่ฝังศพแขกแต่โบราณ มีจารึกด้วย มีหลังคาอยู่สองศพ ศพหนึ่งเป็นเจ้า ศพหนึ่งอาจารย์ ได้ยินว่าชาวเมืองถึงไม่ได้เป็นแขกก็นับถือ เสด็จกลับมาถึงเรืออุบล เรือออกจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม…”

    ๒.สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์จากบันทึกของ ซึ่งทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7” ดังปรากฏรายละเอียดที่พระองค์บันทึกไว้ว่า

    “…ข้างศาลาใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีที่ฝั่งศพก่ออิฐถือปูนอยู่กลางเเจ้ง ว่าเป็น ศพนายทหาร…”[9]

    เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองพระองค์บันทึกไว้ตรงกันว่าหลุมฝังศพหลุมนี้คือ นายทหาร ปัจจุบันมีป้ายที่ถูกทำขึ้นใหม่ปรากฏข้อความว่า “…นางสุหรี ภรรยาของสุลต่านสุลัยมานชาร์ พ.ศ.2210…” และได้ถูกทุบทำลายไปด้วย นางสุหรีตามข้อความบนป้ายผู้ที่ทำน่าจะเข้าใจว่าคือชื่อของตัวบุคคลแต่ในความเป็นจริงคือตำแหน่ง เปอร์ไมสุหรี หมายถึงราชินี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ป้ายที่ทำขึ้นใหม่นั้นขัดแย้งกับบันทึกของชนชั้นนำสยามอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอยกหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆในประเด็นของคติ จารีตที่มีอยู่พื้นที่หรือในกลุ่มวัฒนธรรมมุสลิมซิงฆอรา มานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อสันนิษฐาน ถึงความเป็นไปได้ว่าระหว่างหลุมฝังศพนี้น่าจะเป็นหลุมของผู้ชาย ( นายทหาร ) กับ เป็นหลุมฝังศพ ผู้หญิง ( นางสุหรี ) อะไรคือความน่าจะเป็นไปได้มากกว่ากัน

ป้ายระบุข้อความ นางสุหรีภรรยาท่านสุลต่านสุลัยมานชาห์

    เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าคติการทำเครื่องหมายบนหลุมฝังศพของคนมุสลิมกลุ่มต่างๆบนคาบสมุทรไทย-มาเลย์และหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซียนั้น หากหลุมฝังศพเป็นเพศชายมักจะมีการทำเครื่องหมายบนหลุมฝังศพให้มีลักษณะเป็นทรงแท่ง ทำทรงเเบนสำหรับเพศหญิง หลาย ๆ ชุมชนในลุ่มทะเลสาบก็ยังคงยึดคตินี้มาจนถึงปัจจุบัน และพบหลักฐานยืนยันว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในพื้นที่ของเขตเมืองเก่าสงขลาหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลามุสลิมซิงฆอรายังคงมีคตินี้อยู่ ได้รับการบันทึกโดย

    “…Mr. Nelson Annadale นักมานุุษยวิทยาชาวสกอตแลนด์ ที่เดินทางมาสำรวจและศึกษาวิถีชีวิตผู้คนในทางด้านมานุษยวิทยา ตลอดจนเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์นานาชนิด ศึกษา ในบริเวณตั้งแต่เมืองเประ รัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียในปัจจุบัน และในพื้นที่ของ ปตานี (สามจังหวัดชายเเดนใต้) สงขลา -พัทลุง (ลุ่มทะเลสาบสงขลา) ในเขตประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 1901-1902 พิมพ์อยู่ในหนังสือ “…Fasciculi Malayenses anthropological and zoological results of an expedition to perak and the siamese malay states,1901 – 1902…”

โดยมีการวาดภาพไม้แลสันทรงแท่งพร้อมระบุข้อความว่าสำหรับผู้วายชนม์เพศชายและทรงแบบสำหรับผู้วายชนม์เพศหญิง

( ในเอกสารใช้ว่า old Senggora- คงหมายถึงเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงฝั่ง ตำบลหัวเขา ) ผู้เขียนสันนิษฐานว่าหินปักหลุมฝังศพชิ้นนี้น่าจะอยู่ในกุโบร์ (สุสานฝังศพ) ของชาวมลายูซิงฆอราที่ใดสักเเห่งในเขตตำบลหัวเขาหรือตำบลสทิ้งหม้อ – ท่าเสา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื่องจากทั้งสองพื้นที่นี้มีหมู่บ้านคนมลายูซิงฆอราหรือคนเเขกอยู่อย่างหนาแน่นหลายหมู่บ้าน…”[10]

    อย่างไรก็ดีพบว่าแลสันคู่นี้มีลักษณะทางศิลปเหมือนกับที่พบในพื้นที่ของปตานีและในรัฐยะโฮร์ของสหพันธรัฐมาเลเซียงอีกนำเสนออยู่ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีของ สุนิติ จุฑามาศ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พศ.๒๕๕๔ ในหัวข้อ “การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจ๊ะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี” มีการรายงานการพบบาตูอาเจ๊ะที่เหมือนกันปรากฏอยู่ในพื้นที่ของกูโบร์โต๊ะลิดะห์ฮิตัม บ้านเจอเนอรง ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีเหลือเพียงชิ้นเดียว[11]

“…ภาพถ่ายจากกุโบร์โต๊ะลิดะห์ฮิตัม บ้านเจอเนอรง ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี…”

ที่มาภาพ : สุนิติ จุฑามาศ .( ๒๕๕๔ ).“การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจ๊ะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี” . คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (หน้า ๙๘)

สุนิติ จุฑามาศอ้างถึงงานของ Daniel Perret ในบทความเรื่อง Tombes musulmanes anciennes et voies possible d’Islamisation de la region de Pattani ว่า บาตูอาเจ๊ะในกูโบร์โต๊ะลิดะห์ฮิตัมกำหนดอายุว่าอยู่ในช่วงพุทธศรรตวรรษที่ ๒๓-๒๔(คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๑๙) เปรียบเทียบลักษณะได้ใกล้เคียงบาตูอาเจ๊ะที่พบที่ Makam Tun Habib ใน KoTa Tinggi ยะโฮร์[12]

ซึ่งเป็นกุโบร์ของอัครเสนาบดี ตุน ฮาบิบ อับดุลมาญิด (Tun Habib Abdul Majid) และครอบครัวภายหลังสุลต่านมะฮ์มุดถูกปลงพระชนม์ในปีค.ศ.1699 ลูกหลานของอัครเสนาบดีตุนฮาบีบ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านยะโฮร์เเทน รูปแบบนี้ส่วนมากจะปรากฏอยู่บนหลุมศพของเพศชาย[13]

สรุป

จากข้อมูลที่ได้ยกมานำเสนอข้างต้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าหลุมฝังศพที่ใช้เครื่องหมายบนหลุมฝังศพแลสันบาตูอาเจะภายในสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์ ผู้นอนทอดร่างใต้ผืนทรายบนแผ่นดินซิงฆอรามาแล้วไม่น้อยกว่าสามศตวรรษจึงมีความเป็นไปได้ว่าคือสุภาพบุรุษ ( เพศชาย ) มากกว่าที่จะเป็นสุภาพสตรี ( เพศหญิง )

ผู้เขียนขอส่งสาส์นผ่านบทความชิ้นนี้ ไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการดูแลอนุรักษ์ รักษามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศชาติ กรมศิลปากร มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลาคือ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลาจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานจะอนุมัติงบประมาณจัดทำป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลุมฝังศพหลุมนี้ซึ่งมีหินปักหลุมฝังศพที่สำคัญมากระดับภูมิภาคที่พบที่เดียวในจังหวัดสงขลาหรือในลุ่มทะเลสาบสงขลาแห่งนี้มาติดตั้งไว้สำหรับเป็นข้อมูลให้คนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลมามายังสุสานแห่งนี้

หากบทความนี้จะยังคุณความดีประการใด ขออุทิศให้กับผู้ที่นอนอยู่ใต้พื้นทรายแผ่นดินซิงฆอราหลุมนี้ ผู้ซึ่ง (หลบบ้านเก่า) กลับไปสู่ความเมตตาของพระเจ้า ( โตวัน ) ผู้เป็นบรรพชนชาวซิงฆอราที่ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมสืบเนื่องจากอดีตจนถึงทุกวันนี้

[1]อมรา ศรีสุชาติ.ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป(๒๕๕๗).กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๑ รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด :กรุงเทพ ฯ ,หน้า ๕๖-๕๗

[2]ดูรายละเอียดทุบ ๔ ครั้งในจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๔ ของกลุ่มรักษ์มรดกซิงกอรา ( Save Singora Heritage ) ถึงอธิบดีกรมศิลปากร เรื่องขอแสดงความกังวล ขอให้พิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหา และขอแสดงความเห็นกรณีเหตุการณ์ทุบทำลายโบราณวัตถุและวัตถุภายในแหล่งโบราณสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) ใน www.faecbook.com/ post https://bit.ly/3u95cHn

[3]สถานีตำรวจภูธรสิงหนคร.(๒๕๖๔). สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/38sc6vY

[4] สามารถ สาเร็ม .อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ.(๒๕๕๔).เว็บไซต์คิดอย่าง.เอกสารออนไลน์ สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/3qV8tIi

[5]สามารถ สาเร็ม. คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพคนแขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา.วารสารเมืองโบราณ วิมายปุระ – พิมาย ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๖๔

[6] นญีบ อาห์มัด.หินสลัก มรณะศิลป์.(๒๕๖๒).บทความออนไลน์. สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/3l3CZvp [7]แกนนำเยาวชน DKL Chaiyo .รู้รักถิ่นเกิด เปิดประวัติศาสตร์อนขี้เหล็ก The History of Donkheeleck.

[8]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๘ ,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสนิท สุมาวงศ์ ป.ช.ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๙ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ กราฟิคอาร์ต,๒๕๑๘)

[9]สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ในพระนิพนธ์ “ชีวิวัฒน์เที่ยวต่างๆ ภาค ๗”แหล่งที่มา :https://archive.org/details/700002402/mode/2up

[10]NELSON ANNANDALE and HERBERT C. ROBINSON. 1904. Fasciculi Malayenses: Anthropological and Zoological Results of an Expedition to Perak and the Siamese Malay States, 1901-1902)

[11]สุนิติ จุฑามาศ .( ๒๕๕๔ ).“การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจ๊ะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี” . คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (หน้า ๙๘) . เอกสารออนไลน์ .สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/30xVVJb

[12]สุนิติ จุฑามาศ .( ๒๕๕๔ ).“การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจ๊ะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี” . คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (หน้า ๑๒๑) อ้างใน Textes reunis par par Daniel Perret,Amara Srisuchat,Sombun Thanasuk,Etunasuk,Etudes sur l’histoire du Sultanat de Patani,(Paris,Ecole francaise d’Extreme-Orient,2004),182 . เอกสารออนไลน์ .สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/30xVVJb

[13]สุนิติ จุฑามาศ .( ๒๕๕๔ ).“การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจ๊ะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี” . คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (หน้า ๑๒๑) เอกสารออนไลน์ .สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/30xVVJb

ภาคผนวกภาพ

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น