นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ หลังจากผู้เขียนได้พบเหตุการณ์ทุบทำลายมรดกทางวัฒนธรรม เครื่องหมายที่ปักบนหลุมฝังศพ (เรียกในพื้นที่ว่า แลสัน / ตาหนา) ภายในสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ (สุลต่านสงขลา) ผู้เขียนนำเสนอข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุสานแห่งนี้ อาทิเช่น
๑. บทความเรื่อง “จารึกกูโบร์โต๊ะหุม : ในบันทึกของชนชั้นนำสยาม”
๒. อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ เผยแพร่อยู่ในเว็บไซออนไลน์ของเพจคิดอย่าง[1]
ทั้งสองบทความนี้หลัก ๆ นำเสนอว่าด้วยเรื่องของจารึกสำคัญคือที่เกี่ยวข้องกับสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ กับแลสันชิ้นที่มีอักษรชวาโบราณซึ่งถูกทุบทำลายขณะนี้ได้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลาเพื่อรอบูรณะจากนักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรต่อไป
จารึกที่พบบนแลสัน/ตาหนาภายในสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ นอกจากที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นพบว่ายังมีชิ้นอื่น ๆ อีกหลายชิ้น ผู้เขียนได้ทำการสำรวจบันทึกภาพไว้ทุกครั้งเมื่อมายังสถานที่แห่งนี้ และได้สำรวจเพิ่มเติมในวันที่ ๖ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔ โดยมีคุณปัญญา พูลศิลป์นำสำรวจ หลังที่เราเจอกันช่วงตอนเย็นของวันที่ ๖ กุมภาพันธุ์ ซึ่งคุณปัญญาได้ลงมาในพื้นที่หลังจากผู้เขียนนำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว การสำรวจครั้งนี้ผู้เขียนได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพราะบางชิ้นไม่เคยสำรวจพบมาก่อน ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะได้ค้นพบเพิ่มเติม โดยมีคุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุลร่วมสำรวจด้วยเพราะเป็นผู้พบเหตุการณ์พร้อมกับผู้เขียน
เนื่องจากว่าสุสานแห่งนี้ถูกใช้งานเรื่อยมานับแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบันทำให้ยากต่อการสืบค้นว่าหลุมใดบางที่มีอายุร่วมสมัยตั้งแต่ยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แต่การใช้วัสดุที่นำมาทำเป็นแลสันนั้น พบว่าในพื้นที่นั้นดั้งเดิมจะใช้ ไม้ และหิน นำมาทำ ช่วงหลังจึงมีการใช้ปูนซีเมนต์มาทำ อีกทั้งแลสันที่มีจารึกจะพบแต่ในแลสันที่ทำจากหินสีแดงซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ของเขาแถบนี้ ไม่ไกลจากตัวสุสานเช่นที่หัวเขาแดง หัวเขาใหญ่
จารึกที่พบบนแลสัน/ตาหนา ในสุสานแห่งนี้พบว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะได้สะท้อนให้เห็นถึงภาษาที่หลากหลายที่ถูกนำมาใช้จารึกไม่ว่าจะภาษาชวา อักษรโบราณ ภาษาอาหรับ ภาษามลายูอักษรยาวีและภาษาไทย แต่ละภาษานั้นล้วนมีความเกี่ยวข้องอยู่ในวิถีชีวิตของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาและคนสงขลาพลัดถิ่นนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งข้อความที่จารึกทำให้เราได้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้คำเพื่อบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้ที่นอนทอดร่างอยู่ในหลุมฝังศพว่าเมื่อยังมีชีวิตคนในสังคมรับรู้และใช้คำเพื่อบอกสถานะของท่านเหล่านั้น และยังทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้คำที่ร่วมรากกับมลายูกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมของอาหรับที่ได้รับอิทธิพลผ่านศาสนาอิสลามอีกด้วยในประเด็นของการใช้คำว่า บินกับบินตี
ภาษา อักขระที่ใช้จารึกบนแลสัน/ตาหนา มีดังนี้
๑.๑ จารึกภาษาอาหรับ เนื่องจากภาษาอาหรับคือภาษาในคัมภีร์อัลกุรอ่าน มุสลิมทุกคนจะต้องอ่านได้เพื่อนำมาใช้ในการกราบไหว้พระเจ้า สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าใจในหลักศาสนาอิสลามจนเกิดเป็นรูปแบบการเรียนอัลกุรอ่านในช่วงกลางคืนซึ่งจะเรียนกันตั้งแต่ประมาณ ๖ ขวบจนถึง ๑๒ ขวบโดยมีโต๊ะครูสอนตามบ้านเรือนในหมู่บ้านต่าง ๆ จารึกเป็นข้อความจากฮาดิษ ชื่อของบุคคล ฯลฯ
ตัวอย่าง จารึกแลสัน/ตาหนา จากหลุมศพนิรนามภายในสุสานสุลต่านสุลัยมาน
สันนิษฐานว่านำข้อความมาจาก หะดิษเลขที่ ๑๖๑๗ รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ เป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ ในวัฒนธรรมมุสลิมจะอ่านบทนี้ในขณะที่กำลังนำศพลงหลุม [2]
…ชำรุด…
(بسم الله وعلي )ملة رسو ل (الله)
صلى الله عليه وسلم
…ชำรุด…
(บิสมิ้ลลาฮิ) ว่าอ้าลามิ้ลล่าตี้ ร่อซูลิ้ล (ลาฮฺ)
ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม
…ชำรุด…
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และบนศาสนาของท่านรอสูลุลลอฮฺ
ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม [3]
หรือบรรทัดสุดท้ายจะแปลเป็นไทยว่า ขอให้อัลลอฮ์โปรดอำนวยความจำเริญ และศานติแด่ท่าน (ศาสนทูต) ก็ได้ แต่ปกติจะอ่านโดยทับศัพท์ไปเลย
๑.๒ จารึกภาษาชวาอักษรชวา ปัจจุบันพบที่แลสันภายในสุสานหลวงสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เพียงชิ้นเดียว แลสันแผ่นนี้ถูกทุบทำลายโดยผู้ไม่ประสงค์ดี ขณะนี้ถูกเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลาเพื่อรอการบูรณะ เป็นข้อความภาษาชวาโบราณ แต่ก็ยังเป็นคำที่คนแขกในพื้นที่ก็ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้หากมีการศึกษาในเชิงลึกมาขึ้นเราอาจจะพบจารึกอักษรชวาเพิ่มเติมอีกก็เป็นได้
ตัวอย่าง
๑. อาจารย์ นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ประจำหลักหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ได้กรุณานำภาพถ่ายจารึกดังกล่าวประสานไปสอบถาม สมาชิกสมาคมศึกษาเอกสารโบราณ นูซันตาราแห่งอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลว่าเป็น อักขระชวา (aksara Jawa)[4]สันนิษฐานว่าจารเป็นคำว่า “ngalamat” ซึ่งพบบ่อยในหนังสือฮีกายัตโบราณของชวา คำ “ngalamat” ในภาษาชวาโบราณแปลว่า “tandha bakal ananing lêlakon” แปลเป็นภาษาอินโดเนเซียปัจจุบันว่า “tanda akan datangnya sebuah kejadian” หมายถึง “สัญญาณที่จะมีสิ่งเกิดขึ้นในอนาคต…”[5] Abu Gibrel Jacob ชาวมาเลเซียในรัฐกลันตันซึ่งสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี และมีความรู้ด้านภาษามลายูเป็นอย่างดี ตั้งข้อสังเกตต่อมาว่า “ngalamat” น่าจะมาจากคำ “alamat” ได้หรือไม่ เนื่องจากอาลามัต “alamat” นอกจากจะแปลว่าสัญญาณแล้ว ยังใช้ในความหมายว่า “Tanda” – “ตันดา” แปลว่า “เครื่องหมาย(บนหลุมศพ)” ได้อีกด้วย[6] คำ “Tanda” นี้ปัจจุบันคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาจะใช้เในความหมายของเครื่องหมายที่ปักบนหลุมศพโดยออกเสียงว่า “ตาหนา”[7]
๒. จากการแชร์ไปสอบถามในกลุ่ม “เอกสารโบราณ ANCIENT DOCUMENT”[8] ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Khun Hutangkura (ดร.ตรงใจ หุตางกูร) ได้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นอักษรชวาโบราณ [16] โดยอักษรสองตัวสุดท้าย คือ “ม” และ “ต” หากสันนิษฐานโดยรวมอาจเขียนว่า “เ-ญ-ม-ต-||” – “(เญ-มัต?)…”[9]
๑.๓ จารึกภาษามลายู อักษรยาวี อักษรยาวีคืออักษรภาษาอาหรับที่นำมาใช้ในภาษามลายูและมีการเพิ่มตัวอักษรให้ตรงกับเสียงของคนมลายูจำนวนหกตัวทำให้อักษรยาวีในภาษามลายูนั้นแตกต่างจากอักษรอาหรับที่ใช้ในภาษาอาหรับ จารึก เป็นคำเรียกเครื่องหมายบนหลุมศพ
ตัวอย่างจารึกภาษามลายูอักษรยาวี
اينله تنا
عبدحيم
บรรทัดที่ ๑ อ่านได้ว่า อีนีละ ตาหนา มีความหมายว่า นี่คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์
บรรทัดที่ ๒ อ่านได้ว่า อับดุลเราะฮีม ชื่อของบุคคลที่นอนทอดร่างอยู่ในหลุมแห่งนี้
คำว่า ตาหนา ที่ถูกจารึกด้วยอักษรยาวีนั้น เป็นการจารึกที่ตรงกับเสียงของการใช้คำนี้ตามสำเนียงของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งใช้เหมือนกับมุสลิมแหลงไทยถิ่นใต้ในจังหวัดสตูลและทางฝั่งทะเลอันดามัน ตรงกับคำในภาษามลายูกลางคือ ตันดา ส่วนมลายูปตานีใช้ว่า ตานอ
๑.๔ จารึกภาษาไทย อักษรไทย คนแขกใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ในชีวิตประจำวัน เข้าเรียนโรงเรียนของรัฐที่สอนภาษาไทย จึงทำให้มีการนำมาจารึกไว้บนแลสันด้วยเช่นเดียวกันอาจจะเกิดขึ้นหลังสุดจากทั้งสี่ภาษาที่ใช้จารึก จารึกเป็นชื่อของบุคคล
ตังอย่าง จารึกภาษาไทย
คำว่า หมัด ที่ปรากฏอยู่บนจารึก คือชื่อผู้ชาย เป็นชื่อที่กร่อนมาจากชื่อของศาสดามูฮัมหมัด ศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลาม คนแขกในลุ่มทะเลสาบนิยมนำมาตั้งเป็นชื่อเรียกกันอย่างกว้างขว้างจนกลายเป็นคำที่ใช้แทนการอยู่ร่วมกันของคนในลุ่มทะเลสาบคือ หมัดเส้งชู หมัดแทนคนแขก เส้งหมายถึงคนจีน ชูหมายถึงคนไทย
วัฒนธรรมคำบอกสถานะของบุคคลที่ปรากฏอยู่เป็นจารึกบน แลสัน/ตาหนา
เนื่องจากการนับถือศาสนาอิสลามนั้นคือวิถีชีวิตกล่าวคือหลักการทางศาสนาจะต้องถูกนำมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต การประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ว่าจะชนชาติไหนที่มีความพร้อมทางการเงินจะต้องมีการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักกะฮ์กับมาดีนะฮ์ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอิอารเบีย ผู้ที่ได้ผ่านการประกอบพิธีฮัจญ์แล้วเมื่อกลับมาคนในสังคมจะมีการเติมคำนำหน้าชื่อให้เพื่อเป็นการให้เกียรติ เทียบได้กับสังคมคนพุทธในลุ่มทะเลสาบที่จะเรียกผู้ที่ผ่านการบวชเณร เมื่อสึกออกมาจะใช้คำดังกล่าวนำหน้าชื่อในการเรียก
วัฒนธรรมการใช้คำนำหน้าสำหรับผู้ที่ผ่านการประกอบพิธีฮัจญ์ของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาพบว่าการใช้มีข้อสังเกตว่าแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบคือการใช้อย่างเป็นทางการนั้น จะใช้คำว่า ฮัจญีหรือหะยี นำหน้าผู้ชาย ใช้ฮัจญะ หรือ หัจยะ นำหน้าผู้หญิง
ส่วนการใช้อย่างไม่เป็นทางการใช้ตามภาษาพูดจะใช้คำว่า โต๊ะญี,โต๊ะยี หรือ ญี ,ยี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อีกทั้งจะมีการใช้โดยการนำระบบคำเรียกเครือญาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น คนแขกเรียก ปู่ตาตายายว่า แก่ ถ้าแก่ของตนเป็นการประกอบพิธีการทำฮัจญ์แล้วจะเรียกว่า แก่ยี ปะแก่ยี มะแก่ยี บังยี พี่ชาย ก๊ะยีหรือพี่ยี ฯลฯ ทั้งนี้พบว่าคนในแถบชายทะเลกับคนแขกตอนในแถบเขาบรรทัดอาจออกเสียงต่างกันไป กล่าวคือคนชายทะเลออกเสียงว่า ญี หรือยี ส่วนคนตอนในออกเสียงว่า หญี หรือหยี
ตัวอย่างจารึกแลสันที่ใช้คำว่า ฮัจญี ซึ่งใช้นำหน้าผู้ชาย
บรรทัดที่ ๑ حج
บรรทัดที่ ๒ عامر
บรรทัดที่ ๑ อ่านได้ว่า ฮัจญี
บรรทัดที่ ๒ อ่านได้ว่า อาหมาด (ชื่อของผู้ชายเป็นชื่อภาษาอาหรับ)
ตัวอย่างจารึกแลสันที่ใช้คำว่า ฮัจญะ ซึ่งใช้นำหน้าผู้หญิง
จารึกภาษาไทย อ่านได่ว่า ฮัจย๊ะหับเส๊าะ หะยีเหย็บ ( หับเส๊าะเป็นชื่อของผู้ที่นอนทอดร่างอยู่ในหลุมส่วนข้อความ หะยีเหย็บ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคือชื่อของปะ(พ่อของ) ฮัจย๊ะ หับเส๊าะ)
บิน บินตี วัฒนธรรมอาหรับ-มลายูในวิถีชีวิตคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา
เนื่องจากในวัฒนธรรมไทยมีการใช้นามสกุลซึ่งเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ในวิถีชีวิตของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลานั้นจะมีวัฒนธรรมการใช้ชื่อของปะ (บิดา) ต่อท้าย กล่าวคือสำหรับผู้ชายจะใช้ว่า บิน ตามด้วยชื่อของบิดา เช่น มูฮัมหมัดบินอะหมัด มีความหมายว่า มูฮัมหมัดบุตรของอะหมัด ส่วนผู้หญิงจะใช้ บินตีตามด้วยชื่อของบิดา เช่น ซารีม๊ะบินตีมูซา มีความหมายว่า ซารีม๊ะบุตรีของมูซา การใช้บิน บินตีนี้เป็นวัฒนธรรมที่คนมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ นำมาใช้กันในชีวิตประจำวันหรือที่คนมลายูมักจะอธิบายว่าคือวัฒนธรรมมลายูอย่างหนึ่ง
การใช้ บิน บินตี นี้ในปัจจุบันคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลายังคงใช้อยู่ในวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ด้วยวัฒนธรรมที่มีมาก่อนการประกาศใช้นามสกุลเมื่อมีการให้ใช้นามสกุลพบว่า หมู่บ้านต่าง ๆ ในลุ่มทะเลสาบจึงนำชื่อของปะ(บิดา)ของตนมาตั้งเป็นชื่อนามสกุลโดยมักจะขึ้นต้นว่า บินหรือบิล ในหมู่บ้านของผู้เขียนนามสกุลคนทั้งหมู่บ้านจะขึ้นต้นว่า บิน หรือบิลกันทั้งหมดคนต่างวัฒนธรรมมักจะไม่เข้าใจเลยเข้าใจไปว่า บิน ที่หมายถึงคำกิริยาในภาษาไทยไปโดยปริยาย
ตัวอย่างการใช้คำว่า บิน
บรรทัดที่ ๑ محمد
บรรทัดที่ ๒ بن ايراهيم
บรรทัดที่ ๑ อ่านว่า มูฮัมหมัด (ชื่อของผู้ชาย)
บรรทัดที่ ๒ อ่านว่า บิน อิบราฮีม (บุตรอิบราฮีม หรืออิบราฮีมเป็นชื่อปะ(บิดา)ของมูฮัมหมัด)
มูฮัมหมัดบุตรอิบราฮีม ทั้งสองชื่อคือชื่อตามภาษาอาหรับ
บรรทัดที่ ๑ محمد
บรรทัดที่ ๒ بن
บรรทัดที่ ๓ صليح
บรรทัดแรก มูฮัมหมัด (ชื่อของผู้ชาย)
บรรทัดที่ ๒ บิน มีความหมายว่า บุตร
บรรทัดที่ ๓ ซอและห์ (ชื่อของผู้ชาย ปะของมูฮัมหมัด)
มูฮัมหมัดบุตรของซอและห์ ทั้งสองชื่อเป็นชื่อภาษาอาหรับ
สรุป
แลสัน/ตาหนา ที่มีจารึกที่พบภายในสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เป็นที่น่าสังเกตว่า ชิ้นที่มีจารึกนั้นล้วนทำจากหินแทบทั้งสิ้นซึ่งเป็นหินที่เชื่อได้ว่านำมาจากในพื้นที่ คือจากหัวเขาแดง หัวเขาใหญ่ ใกล้ ๆ นั้นเอง ถึงแม้ว่าจารึกเหล่านี้จะไม่ได้มีการระบุวันเดือนปีที่ทำไว้ แต่เราพอจะพิจารณาจากการใช้วัสดุเพื่อกำหนดช่วงเวลาได้คราว ๆ ว่า แลสันเหล่านี้อาจมีอายุร่วมสมัยกับยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาร์ก็เป็นได้เพราะเราจะพบว่าในพื้นที่มีพัฒนาการการใช้แลสันที่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุเรื่อยมา ดั่งเดิมใช้ไม้และหิน ต่อมาใช้ปูนซีเมนต์ ในอนาคตหากมีการศึกษาเพิ่มเติมขยายไปยังกูโบร์อื่น ๆ ในพื้นที่ของตำบลหัวเขาซึ่งใกล้เคียงกับสุสานแห่งนี้เราอาจจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจารึกบนแลสันที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าหากหน่วยงานที่รับผิดชอบโบราณสถานแห่งนี้โดยตรงจะมีงบหรือคนแขกในลุ่มทะเลสาบหรือคนสงขลาพลัดถิ่นผู้ที่มีบรรพชนไปจากเมืองสงขลาแห่งนี้เห็นความสำคัญก็น่าจะทำจำลองแลสันที่มีจารึกเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อจัดแสดงให้เป็นข้อมูลเผยแพร่ในวงวิชาการจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง โดยของจริงนั้นก็ให้อยู่ในพื้นที่ของสุสานโดยไม่เข้าไปถอดออกเพื่อนำออกไปจากสุสาน
ภาพแลสันที่มีจารึกอื่น ๆ
کاريم อ่านได้ว่า การีม ชื่อของผู้ชายเป็นชื่อตามภาษาอาหรับ ข้อความภาษาไทย คือ กร
فا طمه อ่านได้ว่า ฟาตีมะ ชื่อของผู้หญิง เป็นชื่อภาษาอาหรับ
صا لح อ่านว่า ซาและห์ ชื่อของผู้ชายเป็นชื่อตามภาษาอาหรับ
สอฝีนะ ชื่อของผู้หญิง
ข้อความไม่ชัดเจน
ผู้เขียนกับจารึกในสุสานสุลต่าน
อ้างอิง
[1]สามารถเข้าไปอ่านทั้งสองบทความได้ที่ https://bit.ly/3tBLjps กับ https://bit.ly/3eq4OuG
[2]ดุอาอ์ขณะหย่อนศพ (มัยยิต) ลงหลุม โดย แสวงหาสัจจะธรรมจากอิสลาม
[3]อ่านแปลโดย อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2564
[4]ความเห็นของ นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน – Nik Rakib Nik Hassan II เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564
[5]ความเห็นของ นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน – Nik Rakib Nik Hassan II เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564
[6]ความเห็นของ Abu Gibrel Jacob เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564
[7] แลสัน และตาหนา : สัญลักษณ์เหนือหลุมฝังศพคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา – สามารถ สาเร็ม
[8]ข้อสอบถามของ Samart Sarem ใน เอกสารโบราณ ANCIENT DOCUMENT
[9]ความเห็นของ Khun Hutangkura เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564