เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๗ ที่ผ่านมาผู้เขียนได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ปลายน้ำคลองอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา ตอนเช้าไปเดิน “ตลาดนัดแปดห้อง” หรือ “ตลาดนัดทุ่งน้ำ” ที่ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นตลาดนัดบ้าน ๆ ที่มีของขายหลากหลายทั้งขนมท้องถิ่น ปลาสด ๆ จากทะเลสาบสงขลา(เลใน)
จากการเดินสำรวจทั่วตลาดนัดผู้เขียนสะดุดตากับ “ดอกลำพู” หรือ “ลูกลำพู” มี “วะ” (ป้า) หนึ่งท่านนำมาตั้งขายใส่อยู่ในถาด ตวงขายถ้วยละสิบบาท จากการพูดคุยกันได้ข้อมูลว่า มาจากบ้านควนใต้ หมู่ ๓ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ไม่ไกลจากบ้านผู้เขียน ไปหามาจาก “ปากเล” หมายถึงบริเวณปากคลองอู่ตะเภาเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา บริเวณนี้มีต้นลำพูขึ้นอยู่หนาแน่น เมื่อถึงฤดูออกดอกชาวบ้านในพื้นที่นิยมไปหามารับประทานกันกินเป็น “ผักเหนาะ” (ผักแนม) จิ้มกับน้ำชุบ จะเก็บดอกที่ยังตูมอยู่ด้วยเหตุนี้เราจึกเรียกว่า “ลูกลำพู” ด้วยเช่นกัน ถ้ากินสดจะแกะเปลือกหุ้มสีเขียวออกกินแค่ดอกข้างในที่มีสีชมพูกับสีขาว นอกจากกินกับข้าวสวยแล้วจะกินกับขนมจีนหรือกินกับข้าวยำก็อร่อย หากนำไปต้มให้สุก(ต้มจุ้ม) สามารถกินได้ทั้งลูกไม่ต้องปอกเปลิอกสีเขียวที่หุ้มออก และยังเป็นแหล่งรายได้ให้กับคนในพื้นที่อีกด้วยตัวอย่างคือวะท่านนี้ที่หามาขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
สำหรับผู้เขียนนั้นไม่ชอบกินดอกลำพูเท่าไหร่นัก แต่ชอบเล่นมากกว่าเมื่อตอนเด็ก ๆ เพราะดอกลำพูที่เป็นดอกแย้ม ญาติผู้ใหญ่จะนำมาประดิษฐ์เป็นร่มให้เล่นกัน ผู้เขียนสาดสายตาดูพบว่าในถาดมีดอกลำพูแย้มอยู่หนึ่งดอกจึงขอซื้อ วะจึงเปิดกะละมังที่อยู่ข้างล่างให้ดูยังมีอีกสามดอกจึงขายให้กับผมทั้งหมด ในราคาเพียงสิบบาทรวมดอกตูมมาให้ด้วย ก่อนเดินจากมาได้แหลงว่า จะเอามาทำร่มของเล่น “แลกว่าหลานวะแหลงว่ามะแก่(ยาย) ทำร่มให้เล่นสักอัน ทำอยู่นานหวางอีได้” คำตอบของวะ ยืนยันว่าลูกหลานชาวปลายน้ำคลองอู่ตะเภาในพ.ศ.๒๕๖๗ ยังรู้จักของเล่นที่ประดิษฐ์จากวัตถุดิบธรรมชาติคือดอกลำพูกันอยู่
กลีบสีเขียวข้างนอกคือกลีบเลี้ยง เส้นสีชมพูข้างในคือกลีบดอก และเส้นสีขาวจำนวนมากคือเกสรตัวผู้ ที่เป็นหลอดยาว ๆตรงกลางดอกคือเกสรตัวเมีย ให้ข้อมูลโดย อาจารย์เอกลักษ์ รัตนโชติ
ดอกลำพูกับความทรงจำในวัยเด็ก
เมื่อกลับถึงบ้านจึงรื้อฟื้นความทรงจำวิธีการประดิษฐ์ร่มของเล่นที่จดจำมาตั้งสมัยตอนเด็ก ๆ ที่ได้เห็นญาติผู้ใหญ่ทำให้เล่น เพราะตั้งใจว่าจะทำให้หลานชายลูกของน้องสาวได้ลองเล่นดู แต่ก่อนอื่นขอเล่าความทรงจำของผู้เขียนเกี่ยวกับการไปหา “ดอกลำพู” หรือ “ลูกลำพู” ในวัยเยาว์ให้ได้ฟังกันก่อนครับ
หมู่บ้านของผู้เขียนตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำคลองอู่ตะเภา พื้นที่นี้มีต้นลำพูขึ้นอยู่ดังที่ได้เกริ่นไปแล้ว เมื่อถึงฤดูต้นลำพูออกดอก ญาติผู้ใหญ่นิยมไปหามารับประทานกัน พวกเราเด็ก ๆ ก็ได้ติดตามไปด้วย อุปกรณ์ที่ต้องมีคือไม้ไผ่ยาว ๆ ผูกไม้ขนาดสั้นที่ส่วนปลายให้มีลักษณ์เหมือนเงี่ยงทำมุมสามเหลี่ยมกับไม้ไผ่ สำหรับไว้เกี่ยวดอกลำพูลงมา เรียกว่า “ไม้ขอย” หรือ “ไม้ฉอย” เป็นอุปกรณ์ที่ต้องมี สำหรับคนที่ขึ้นต้นไม้ไม่เป็น ส่วนใครที่ขึ้นต้นไม้เป็นไม่จำเป็นต้องใช้ เมื่อไปถึงต้นลำพู ความสนุกก็จะเกิดขึ้น เพราะแต่ละคนก็จะแย่งกันหาดอกลำพู ผู้ใหญ่หาดอกตูมเพราะจุดประสงค์คือนำมากิน สำหรับเด็กแบบพวกเรานั้นไม่ได้ต้องการหามากินแต่จะเก็บมาทำของเล่นจึงมุ่งเป้าหมายไปที่ดอกลำพูที่เป็นดอกแย้มแล้วเท่านั้น
บนต้นยังมีดอกที่ไม่ค่อยถูกสนใจจากทุกคนคือดอกที่บานแล้วเรียกว่า “ลูกลำพู” มีลักษณะเป็นลูกกลมส่วนบนมีหกกลีบ มองดูคล้ายร่มกางอยู่หรือมองคล้ายดวงอาทิตย์ ข้างล่างมีลักษณะเหมือนหางห้อยลงมา อาจารย์เอกลักษณ์ รัตนโชติให้ข้อมูลว่าส่วนนี้คือเกสรตัวเมีย ที่หมู่บ้านผู้เขียนจึงมีคำถามปริศนาที่นำลักษณะของลูกลำพูใช้ถามเด็ก ๆ ซึ่งจะถามว่า
“ไอไหร หกหู เจาะรู หนาบาง นั่งห้อยหาง กางร่มเล่น” ซึ่งคำตอบก็คือลูกลำพูหรือดอกที่บานแล้วนั่นเอง ลูกสุกสามารถกินได้ นิยมเอามาจิ้มเกลือ
วิธีทำ ร่มของเล่นจากดอกลำพู
อุปกรณ์ คือ มีดบาง ไม้สำหรับทำเป็นคันร่ม
๑.เด็ดกลีบสีเขียวที่หุ้มดอกอยู่ออกให้หมด
๒. ตัดดอกลำพูแยกออกเป็นสองส่วน
๓. นำส่วนของดอกมาตัดแต่งขอบให้บาง
๔.แล้วทำการปลิ้นนอกออกใน ได้ดอกลำพูที่มีลักษณะเหมือนร่ม ขั้นตอนนี้ถือว่าต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะถ้าปลิ้นไม่ดีจะทำให้ดอกลำพูขาดออกต้องใช้ดอกใหม่
๕.นำส่วนฐานมาตัดแต่งให้มีขนาดที่สามารถนำส่วนของดอกลำพูที่ทำไว้ตามข้อ๔ มาใส่แล้วไม่หลุด
๖. นำดอกลำพูใส่ในส่วนฐานที่ทำตามข้อ ๕ ได้ดอกลำพูที่มีลักษณะเหมือนร่ม
๗.นำไม้มาเสียบทำเป็นด้ามจับ เพียงแค่นี้ได้ของเล่นเหมือนร่มให้ลูกหลานได้เล่นกันแล้ว
วิธีการเล่น
นำร่มดอกลำพูไว้ตรงกลางระหว่างฝ่ามือที่ประกบเข้าหากัน แล้วใช้ฝ่ามือทั้งสองถูสลับกันไปมา ไม้ที่เป็นด้ามซึ่งอยู่ตรงกลางก็จะหมุนตามไปด้วย ทำให้ดอกลำพูที่เหมือนร่มหุบอยู่กางออกและหุบเข้าหุบออกตามการขยับฝามือของคนเล่น ตาของเราก็จะจับจ้องดูดอกลำพู เกิดเป็นความสนุกและเพลินเพลินเป็นความสุขเมื่อครั้งวัยเยาว์ เล่นไปเล่นมาดอกลำพูหลุดขาดก็ยังนำมากินได้ ไม่ได้ทิ้งไปให้เสียเปล่า เหมือนของเล่นสมัยใหม่ที่พังแล้วกลายเป็นขยะ
สรุป
การทำของเล่นในสมัยก่อนจะเห็นได้ว่านิยมใช้วัสดุใกล้ตัว หาง่าย ไม่ต้องซื้อหาเป็นของเล่นที่ได้จากธรรมชาติ นำมาทำของเล่นให้ลูกหลานเล่นกัน ในกรณีนี้คือ “ดอกลำพู” ต้นไม้ท้องถิ่นที่หาได้ในพื้นที่ ของคนปลายน้ำคลองอู่ตะเภาอันเป็นคลองในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่คนรุ่นใหม่น่าจะรู้จักเรียนรู้อนุรักษ์และสืบทอดกันต่อไป
ทั้งนี้ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสทำให้หลานตัวเองได้เล่นตามความตั้งใจเพราะต้องเดินทางกลับไปทำงานเสียก่อน ร่มลำพูที่ตั้งใจทำเป็นของเล่นจึงนำมาใส่เเจกันตั้งประดับโต๊ะทำงานแทน ดอกลำพูส่งกลิ่นหอมอบอวลตลอดทั้งวัน ช่วยให้ผ่อนคลายเหมือนกับว่ากำลังนั่งทำงานอยู่ใต้ต้นลำพู “แล้วท่านใดหอนเล่นกันมังครับ เชิญชวนมาเขียนบอกเล่าสู่กันฟังครับ” (หอนแปลว่าเคยสำเนียงคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สงขลาหอนนครหมา)