น้ำชุบพริก : ในบริบทคนพูดไทยถิ่นใต้

ไปเที่ยวตลาดเช้าชะเมาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ได้ “พริก”(สด) กลับมาถุงใหญ่ในราคาแค่ 20 บาท​ คุณน้าคนขายบอกว่าปลูกอยู่แถวอำเภอพรหมคีรี ที่บ้านผู้เขียนรวมถึงคนที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ในหลายพื้นที่ เราใช้คำว่า “พริก” เป็นคำเรียก “พริกไทย” ไม่ได้ใช้เรียก “Chilli” (พริกเทศ) เหมือนภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งเป็นพืชรสเผ็ดที่เข้ามาตอนหลัง และเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

ผมคิดต่อเล่น ๆ ถึงคำเรียก “น้ำชุบ” ของคนพูดไทยถิ่นใต้เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่เราไม่เรียก “น้ำพริก” อย่างภาษาไทยภาคกลาง อาจเป็นเพราะคำว่า “พริก” ของเรานั้นใช้เรียก “พริกไทย” ไม่ได้ใช้เรียก “พริกเทศ” Chilli ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ที่ใช้ทำน้ำพริกกัน เห็นได้ว่าคนภาคกลางใช้คำว่า “พริก” หมายถึง “พริกเทศ” Chilli จึงเป็นที่มาของการเรียก “น้ำพริก”

คนใต้เรียก “พริกไทย” ว่า “พริก” หากตากแห้งเม็ดสีดำจะเรียกว่า “พริกดำ” ก็มี ซึ่งจะเห็นได้ว่า “พริกเทศ” Chilli พืชรสเผ็ดที่เข้ามาหลังไม่ได้ฉกฉวยชื่อของพริกเป็นของมัน ในบริบทของคนใต้ ซึ่งต่างจากคนใช้ภาษาไทยภาคกลางที่ “พริก” ใช้เรียก “พริกเทศ” ส่วนเจ้าของเดิมก็เติมคำขยายว่า “พริกไทย”

ภาพขวา คนไทยภาคกลางเรียกว่า “พริก”(Chilli) ส่วนคนไทยพูดไทยถิ่นใต้นั้นเรียกกันหลายชื่อ เช่น ดีปลี ลีปปลี ยีปปลี ลีปลี บางหมู่บ้านของอำเภอไชยาจะเรียกว่า “ลูกเผ็ด” และภาพขวาดอกสีส้มชี้ขึ้นเรียกว่า ดีปลีเชียก ลีปปลีเชียก ยีปปลีเชียก ลีปลีเชียก เป็นพืชรสเผ็ดที่มาก่อน Chilli จะเห็นได้ว่า ในบริบทของคนใต้นั้นเมื่อ Chilli เข้ามากก็ได้ฉกฉวยชื่อของดีปลีไปโดยเจ้าของเดิมมีการเพิ่มคำขยายเข้าไปคือคำว่าเชียก(เชือก) นั่นเองเนื่องจากต้นมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย

จะเห็นได้ว่า chilli กับ ดีปลีเชียก นั้นมีลักษณะของกายภาพที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งเเตกต่างจากพริกไทยที่เป็นเม็ดกลม ๆ ดั้งนั้นด้วยเหตุนี้กระมังที่คนใต้เลือกที่จะเรียก chilli ด้วยคำของดีปลี (เชียก)

ข้อสันนิษฐานนี้​ เป็นเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวที่อาจจะผิดหรือถูกก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี​ อยากขอเชิญชวนทุกท่าน​ มาร่วมใช้หรือทำความรู้จักคำเรียกที่เจ้าของเมนูในแต่ละวัฒนธรรมใช้กัน เพราะจะเป็นการเรียนรู้และเข้าใจถึงอัตลักษณ์ตัวตน อาจรวมถึงถิ่นที่มาของผู้คนได้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งสะท้อนความสวยงามของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งน่าสนใจและที่สำคัญ​นั้นก็คือเราอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน… ชักจะเริ่มรำพึงไปไกล​ ขอวนกลับมาที่เรื่อง น้ำชุบพริกถ้วยนี้ต่อครับ

ตอนต้นได้กล่าวถึงการนำ”พริก”(พริกไทย)มาทำเป็น”น้ำชุบ” เราจึงเรียกเมนูนี้ว่า “น้ำชุบพริก”

ถ้าพูดถึงน้ำชุบพริก(ไทย)ในบริบทคนพูดไทยถิ่นใต้ ระวังอย่าไปเผลอเรียกผิดเป็น​ น้ำพริก-พริก เชียวนะครับ​ เพราะจะฟังดูแปลก สำหรับคนใต้ และขัดแย้งกับความหมายตามบริบทการใช้คำว่า “พริก” ของคนใต้ดังที่อธิบายไว้ด้านบน

สำหรับ “น้ำชุบพริก” ถ้วยนี้ประกอบไปด้วย พริกสด หอมแดง กระเทียม กะปิกุ้ง น้ำตาลแว่น เกลือ เนื้อปลาลังนึ่ง นำมาตำรวมกันให้ละเอียด​ บีบมะนาวลงไป รสชาติเผ็ดร้อนเบา ๆ หอมกลิ่นพริกสด​ เปรี้ยวด้วยมะนาวอมหวานเฉพาะตัวจากน้ำตาลแว่น ซึ่งตัวผมนั้นชอบนำมารับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ มีปลาลังนึ่งทอดอีกสักตัวอิ่มอร่อยอยู่ท้องไปได้หนึ่งมื้อ

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น